สูงถึง 30% หน่วยงานรัฐ ถูกร้องเรียน ‘ปิด’ ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง
ทีดีอาร์ไอ เปิดผลสำรวจ พบ รัฐวิสาหกิจ 13 จาก 59 แห่ง หรือ 22% จัดอยู่ในระดับที่แย่-แย่มากในการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซต์ ขณะที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่น 70% อุบเงียบ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ
วันที่ 10 มีนาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) จัดสัมมนาเรื่อง ดัชนีชี้วัดสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ณ ห้องซาลอน B ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเตล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพ
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างว่า ในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)ออกประกาศ สขร.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ให้หน่วยงานของรัฐ จัดทำสรุปผลการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างทุกๆ เดือน และต้องมีรายละเอียดของงานที่จัดซื้อจัดจ้าง วงเงินงบประมาณ วิธีซื้อหรือจ้าง รายชื่อผู้เสนอราคาและราคาที่เสนอ ผู้ได้รับการตัดเลือกและราคา และเหตุผลที่ได้รับการคัดเลือก (โดยสรุป) ขณะที่วันที่ 7 เมษายน 2553 มีมติครม. ให้หน่วยงานรัฐที่มีเว็บไซต์นำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และผลการพิจารณาลงเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์
แต่จากผลการสำรวจของสขร. ปี 2555 มีเรื่องร้องเรียนมาถึง สขร.ว่า หน่วยงานของรัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างมากสุดถึง 30% ที่เหลือเป็นเรื่องการดำเนินการทางวินัย การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ การประเมินผลงาน การสอบแข่งขัน ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจของ สขร. ยังพบว่า หน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง รวมถึงรัฐวิสาหกิจ “ทำได้ดี” ในการเปิดเผยข้อมูลสอบราคา – ประกวดราคาในเว็บไซต์
นอกจากนี้ ในส่วนของการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และมติครม. 2555 นั้น พบว่า หน่วยงานของรัฐส่วนกลาง 288 แห่ง แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ 57 แห่งนั้น มี 43 แห่งที่ส่งรายงานต่อ สขร. ส่วนอีก 14 แห่ง ไม่ส่งรายการให้สขร.เลย
ที่น่าสนใจ หน่วยงานรัฐในส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไม่คิดว่า ตนเองต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และไม่คิดว่า ตนเองจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่มีบทลงโทษ และเกินขอบเขตอำนาจ สขร.จะไปชี้เป็นชี้ตาย
นายธิปไตร กล่าวถึงผลสำรวจเว็บไซต์รัฐวิสาหกิจ ของทีดีอาร์ไอ เมื่อเดือนเมษายน 2556 เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง โดยสำรวจรัฐวิสาหกิจ “แม่” 57 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ “ลูก” 2 แห่ง เกณฑ์ที่ใช้ประเมินเว็บไซต์ จะดูจากการนำเสนอหน้าโฮมเพจ คุณภาพของข้อมูล และการเก็บและการค้นหาข้อมูลเก่า
ตัวอย่างของการสำรวจ พบว่า
- การนำเสนอหน้าโฮมเพจ พบว่า เว็บไซต์การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีการนำเสนอหน้าโฮมเพจได้ดี ขณะที่เว็บไซต์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ไม่มีข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างแสดงให้เห็นเลย
- .คุณภาพของข้อมูล เว็บไซต์บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีการจัดหมวดหมู่ ทำได้ดี แตกต่างจากเว็บไซต์ บมจ.อสมท ไม่มีการจัดหมวดข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ
- การเก็บและการหาข้อมูลเก่า พบว่า เว็บไซต์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการสรุปการจัดซื้อจัดจ้าง ตามที่ สขร.ระบุไว้ มีการรวบรวมการจัดซื้อจัดจ้างไว้เป็นรายเดือน อีกทั้งมีผลย้อนหลัง 1 ปี
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวสรุปผลสำรวจด้วยว่า หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานยังถูกร้องเรียนเรื่องไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง หรือเปิดเผยช้าอยู่ ขณะที่รัฐวิสาหกิจ 13 จาก 59 แห่ง หรือ 22% จัดอยู่ในระดับที่แย่ – แย่มาก ในการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซต์
“มีหน่วยงานส่วนท้องถิ่นถึง 70% ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์”นายธิปไตร กล่าว และว่า เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในอนาคต ซึ่งเมื่องบประมาณไปกองอยู่ที่ท้องถิ่น ก็อาจจะกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์สำคัญของนักการเมืองได้