"ถวิลมา-ภราดรไป"...คำถามถึงนโยบายดับไฟใต้และพูดคุยสันติภาพ
หลายเสียงที่อาจจะเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล หรือเป็นคนกลางๆ แต่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด อาจจะตั้งคำถามว่าคำพิพากษาศาลปกครองที่ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี และให้มีผลย้อนหลังไปถึงปี 2554 นั้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปรัฐบาลก็ย้ายใครไม่ได้เลยกระนั้นหรือ?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องเข้าใจลำดับความเป็นมาของคดีเสียก่อน...
นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จากนั้นจึงมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ
คำสั่งและประกาศดังกล่าวทำขึ้นเพื่อรับโอน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่โอนย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แทน ซึ่งนายถวิลเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง
ต่อมาวันที่ 31 พ.ค.2556 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 635/2555 ให้ยกเลิกคำสั่งย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และให้ย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.โดยเร็ว เพราะศาลเห็นว่าการโยกย้ายนายถวิลไม่ชอบด้วยจริยธรรม แต่คดียังไม่จบ เนื่องจากนายกรัฐมนตรียื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
กระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มี.ค.2557 ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาว่า ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ใช้อำนาจดุลยพินิจในการย้ายโอนนายถวิลโดยไม่มีเหตุผลรองรับ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ และเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ (30 ก.ย.54) และควรดำเนินการให้นายถวิล กลับสู่ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ภายใน 45 วัน
นี่คือที่มาที่ไปของคดี และคำพิพากษาอย่างคร่าวๆ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า การสั่งย้ายนายถวิล แล้วให้ พล.ต.อ.วิเชียร เข้าดำรงตำแหน่งแทนนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เพื่อเหตุผลหรือประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินตามอ้าง เพราะตลอด 2 ปี 6 เดือนที่นายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ไม่เคยได้รับมอบหมายให้ทำงานใดๆ
ทว่าการสั่งย้ายดังกล่าวก็เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ในขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ในปีสุดท้ายของอายุราชการ โดย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นพี่ชายของ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
สรุปก็คือ รัฐบาลสั่งย้ายนายถวิล เพื่อทำให้เก้าอี้เลขาธิการ สมช.ว่างลง จะได้สไลด์ พล.ต.อ.วิเชียร จากตำแหน่ง ผบ.ตร.มานั่งเก้าอี้นี้ ซึ่งเจ้าตัวยินยอม (เพราะตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ฝ่ายการเมืองไม่สามารถสั่งย้าย ผบ.ตร.ได้ นอกจากเจ้าตัวยินยอม) เมื่อ พล.ต.อ.วิเชียร รับตำแหน่งใหม่แล้ว ตำแหน่ง ผบ.ตร.ก็ว่างลงสำหรับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์
ฉะนั้นคำตอบของคำถามในตอนต้นก็คือ ฝ่ายการเมืองยังสามารถโยกย้ายข้าราชการได้ตามปกติเท่าที่ตนเองมีอำนาจ แต่ต้องมีเหตุผลรองรับ หาใช้กระทำการเหมือน "นิติกรรมอำพราง" เพื่อประโยชน์ของญาติพี่น้องพวกพ้องกันเช่นนี้
จากความเป็นมาเป็นไปดังที่เล่ามา ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีแค่ นายถวิล คนเดียวเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.คนปัจจุบัน ก็กลายเป็นเหยื่อไปด้วย เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงหรืออยู่ในวังวนของการสถาปนา ผบ.ตร.ที่เป็นญาติใกล้ชิดของอดีตนายกฯ ด้วยการย้ายเปิดทางข้าราชการระดับสูงถึง 2 คน 2 ตำแหน่ง
แต่วันนี้ พล.ท.ภราดร ต้องนับถอยหลังบนเก้าอี้เลขาธิการ สมช. เพื่อคืนความเป็นธรรมให้นายถวิลตามคำสั่งศาล
ผลกระทบที่จะเกิดกับงานนั้นมีหลายมิติ ได้แก่
O การทำงานกับฝ่ายการเมือง ในเรื่องการเมืองและความมั่นคงของรัฐบาล (ซึ่งเกี่ยวโยงกับความมั่นคงของรัฐด้วย) เพราะต้องยอมรับว่า พล.ท.ภราดร ทำงานสอดรับกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี หากเปรียบกับการร้องเพลง ก็ต้องบอกว่าเป็นการร้องประสานในคีย์เดียวกัน (ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลย่อมได้ประโยชน์ แต่ความมั่นคงของรัฐจะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
แต่สำหรับนายถวิล ต้องถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามของรัฐบาล ตั้งแต่สมัยทำหน้าที่สำคัญในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และปัจจุบันยังขึ้นเวที กปปส.ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วย
หากนายถวิลกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.จริง การทำงานกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (หากยังอยู่ถึงวันนั้น) คงลักลั่นพิกล
O การทำงานเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่าพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ให้บทบาท สมช.ในการเป็น "เจ้าภาพ" กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ทั้งด้านการพัฒนาและความมั่นคงผ่านทางนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกรอบนโยบาย 3 ปี หมายถึงต้องมีการทบทวนและยกร่างใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทุกๆ 3 ปี
สำหรับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับปัจจุบันที่กำลังใช้อยู่ เป็นนโยบายฉบับปี 2555-2557 นั่นหมายถึงว่านโยบายจะหมดอายุภายในปีนี้ จึงต้องมีการยกร่างนโยบายฉบับใหม่ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเห็นชอบ และเสนอให้รัฐสภาทราบ เพื่อให้ทุกหน่วยนำไปปฏิบัติ
สมช.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้ แต่ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาไม่มีอะไรคืบหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ส่งรายงานหรือสรุปประเมินสถานการณ์มาให้ เพื่อสังเคราะห์และกำหนดนโยบายที่จะใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการชุมนุมการเมือง และสถานะของรัฐบาลรักษาการ ทำให้การทำงานของส่วนราชการหยุดชะงัก
จากการพูดคุยนอกรอบกับนายถวิล เจ้าตัวรับทราบถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่ แต่ในเมื่อยังไม่ได้หวนคืนเก้าอี้เลขาธิการ สมช.อย่างเป็นทางการ จึงยังขยับอะไรไม่ได้
O กระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างจากรัฐ ถือเป็นงานสำคัญของ สมช.ในปี 2556 เพราะ พล.ท.ภราดร ในฐานะเลขาธิการ สมช. ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556 โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และการพบปะพูดคุย 3 ครั้งต่อเนื่องมา พล.ท.ภราดร ก็อยู่ในฐานะ "หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย"
ปัญหาก็คือ เมื่อนายถวิลได้เก้าอี้เลขาธิการ สมช.คืน การทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย จะเป็นของนายถวิลด้วยหรือไม่ เพราะนายถวิลเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยแบบเปิด ซึ่งมีจุดอ่อนหลายประการ ทั้งยังเป็นการพูดคุยในแบบเร่งรีบ รวบรัด เหมือนสนองความต้องการของใครบางคน ในมุมมองของนายถวิล
อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับ พล.ท.ภราดร ได้รับคำยืนยันว่าการทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุย เพราะได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นการเฉพาะตัว ไม่ใช่ด้วยตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ฉะนั้นถึงแม้จะต้องพ้นจากตำแหน่งไป แต่หากรัฐบาลยังมองว่าทำประโยชน์ได้ ก็ยังสามารถทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยต่อไปได้เหมือนที่ผ่านมา
กระนั้น ต้องหมายเหตุเอาไว้ด้วยว่า นี่คือความเห็นของ พล.ท.ภราดร คนเดียว ส่วนข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยที่ไปลงนามไว้ จะตีความตามนี้หรือไม่ และนายถวิลจะเห็นตรงกันด้วยหรือเปล่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป
ทั้งหมดนี้คือเรื่องยุ่งๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ "ถวิลมา-ภราดรไป" ส่วนจะบานปลายกลายเป็นปัญหาหนักขึ้นหรือไม่...ต้องรอดู!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) นายถวิล เปลี่ยนศรี (ขวา) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร