ย้อนเส้นทางการเมืองตระกูล“ศรีวิกรม์” "พ่อ-พี่-ทยา" เมื่อเลือดข้นน้อยกว่าน้ำ!
“…กลุ่ม 10 มกรา ได้ยื่นข้อเสนอให้ปรับปรุงตำแหน่งรัฐมนตรีในส่วนของพรรคต่อนายพิชัย โดยขอตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคจำนวน 6 ตำแหน่งเพื่อจัดให้กับสมาชิกในกลุ่ม โดยรัฐมนตรีที่ถูกกลุ่ม 10 มกรา ระบุให้ออกจากการเป็นรัฐมนตรีนั้น ปรากฏชื่อของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ รวมอยู่ด้วย …”
เล่นเอา "ช็อค" ไปตามกัน ๆ
เมื่อ นางทยา ทีปสุวรรณ ภรรยานายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ออกมาประกาศ “เว้นวรรคทางการเมือง” เพื่อแสดงความรับผิดชอบเหตุการณ์ที่ถูกคุกคามบ้านพัก “คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์” แม่ของตัวเอง และโรงเรียนศรีวิกรม์
หลังจาก นางทยา และนายณัฏฐพล เป่านกหวีดใส่ “คุณหญิงอ้อ – พจมาน ณ ป้อมเพชร” อดีตภรรยาของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ร้อนถึง “คุณหญิงศศิมา” ต้องโทรศัพท์มาขอโทษ “คุณหญิงอ้อ” ก่อนที่บ้านพักจะโดน “มือมืด” ยิงถล่มด้วยปืน M16 – AKA ในที่สุด
ไม่ว่าเส้นทางการเมืองของ นางทยา นับจากนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป
แต่หากย้อนไปดูเส้นทางการเมือง ของคนในตระกูล “ศรีวิกรม์” ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการเมืองไทยอย่างลึกซึ้งมาโดยตลอด
จะพบว่ามีความหลากหลายทางอุดมการณ์ และจุดยื่นทางการเมืองที่น่าสนใจอย่างมาก
ในขณะที่ นางทยา เดินตามรอยนายณัฏฐพล สามี ประกาศจุดยืนเข้าร่วมสนับสนุนแนวคิดการต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับกลุ่ม กปปส. ชนิดที่เรียกว่า ถึงไหนถึงกัน
แต่นายพิมล ศรีวิกรม์ พี่ชาย เป็นหนึ่งในสมัครพรรคเพื่อไทย (พท.) คู่แข่งตัวฉกาจของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ ในช่วงปี 2530 สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” พ่อของ “ทยา” ซึ่งเคยเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรค ปชป. และหนึ่งในผู้นำกลุ่ม “10 มกรา” อันอื้อฉาวและโด่งดัง
เคยต่อรองให้ “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ปลด “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) มาแล้ว !
ทั้งนี้ ตำนานการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง “เฉลิมพันธ์” ผู้นำกลุ่ม “10 มกรา” ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามที่ติดอยู่ในประวัติศาสตร์พรรค ปชป. มาตลอดเกือบ 30 ปี
เริ่มต้นมาจากช่วงหลังเสร็จศึกเลือกตั้งทั่วไป 27 กรกฎาคม 2529 ที่ ปชป. ได้ที่นั่งทั้งหมด 100 ที่นั่ง จาก 347 ที่นั่ง เกิดการ “แตกหัก” กันระหว่างแกนนำ 2 ขั้วในพรรค ขั้วแรกนำโดย “พิชัย รัตตกุล” หัวหน้าพรรคฯ และมี “ชวน หลีกภัย”, “บัญญัติ บรรทัดฐาน”, “ประจวบ ไชยสาส์น” และ “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” สนับสนุน
อีกขั้วคือกลุ่มของ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” กก.บริหารพรรค กับ “วีระ มุสิกพงศ์ (ชื่อในขณะนั้น)” เลขาธิการพรรค เป็นแกนนำ และมีผู้สนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง เช่น “จาตุรนต์ ฉายแสง”
โดยต้นเหตุของความขัดแย้งในครั้งนั้น แบ่งได้ประมาณ 5 ประเด็นหลัก ๆ กล่าวคือ
1.ความขัดแย้งในการคัดเลือกตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ในเขตกรุงเทพฯ ที่นายพิชัย เป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
2.นายพิชัย ไม่ได้นำรายชื่อผู้ที่เหมาะสมโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 25 คนตามมติในที่ประชุมของ ปชป. ไปมอบให้ พล.อ.เปรม เพื่อให้ชี้ขาดว่าใครควรเป็นรัฐมนตรี แต่กลับเสนอให้ พล.อ.เปรม เพียง 15 คนเท่านั้น พร้อมทั้งกำหนดตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไว้ด้วย ทำให้แกนนำกลุ่ม 10 มกรา หลายคนต้องเสียประโยชน์
3.ผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถแสดงบัญชีรายจ่ายให้เกิดความโปร่งใสในการจัดการเรื่องเงินให้สมาชิกพรรคทราบได้ ภายหลังได้รับเงินจากผู้สนับสนุน ปชป. ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2529
4.ไม่พอใจในผลเจรจากับพรรคการเมืองอื่นในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจาก ปชป. ในฐานะแกนนำไม่ได้รับการจัดสรรกระทรวงที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจและบริหาร
และ 5.นายพิชัย ได้เสนอให้นายพิจิตต รัตตกุล บุตรชาย ส.ส.กรุงเทพฯ ขึ้นเป็นรมว.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) ทั้งที่อาวุโสทางการเมืองของนายพิจิตต มีน้อยกว่าคนอื่นในพรรค ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบ และนำเอาระบบสืบตำแหน่งในครอบครัวมาใช้ ซึ่งไม่ควรมีในพรรค
และจาก 5 สาเหตุดังกล่าว นำมาซึ่งการเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 ขั้วภายในพรรค และจากความขัดแย้งครั้งนั้น ส่งผลให้การทำหน้าของ ปชป. ในรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และการแสดงออกทางการเมืองต่อสาธารณชนไม่เป็นเอกภาพนับแต่นั้น มีการแสดงออกของสมาชิกพรรคในทางที่ขัดแย้งกับมติหรือนโยบายพรรค
และที่เป็นผลกระทบรุนแรงในทางการเมืองต่อ ปชป. คือ การที่กลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ สามารถกดดันให้สมาชิกพรรค งดออกเสียงในการสนับสนุน ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รมว.พาณิชย์ เป็นเหตุให้ ร.ต.อ.สุรัตน์ ต้องลาออกเพราะได้รับคะแนนสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจน้อยกว่ารัฐมนตรีผู้อื่น
ต่อมาในการประชุมใหญ่สามัญของพรรคเพื่อทำการเลือกหัวหน้าพรรค ในวันที่ 10 มกราคม 2530 ซึ่งกลุ่มของนายพิชัย ได้เสนอนายพิชัยอีกครั้ง ขณะที่กลุ่ม 10 มกรา เสนอนายเฉลิมพันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น อย่างไรก็ดี นายเฉลิมชัย พ่ายแพ้นายพิชัย ในการเลือกตั้งครั้งนั้น และนายวีระ ก็แพ้ พล.ต.สนั่น จนหลุดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคอีก
ส่งผลให้นายเฉลิมพันธ์ และนายวีระ พร้อมด้วยสมาชิกพรรคประมาณ 40 คน กับสมาชิกพรรคอีกส่วนหนึ่งประกาศตั้งกลุ่ม “10 มกรา” เพื่อทำหน้าที่ในการกลั่นกรองการทำงานของผู้บริหารพรรค และเป็นกลุ่มการเมืองอิสระภายในพรรครัฐบาล นำเสนอแนวทางการเมืองเพื่อให้ตนเองมีอำนาจต่อรองในพรรค
ทั้งนี้ กลุ่ม 10 มกรา ได้ยื่นข้อเสนอให้ปรับปรุงตำแหน่งรัฐมนตรีในส่วนของพรรคต่อนายพิชัย โดยขอตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคจำนวน 6 ตำแหน่งเพื่อจัดให้กับสมาชิกในกลุ่ม โดยรัฐมนตรีที่ถูกกลุ่ม 10 มกรา ระบุให้ออกจากการเป็นรัฐมนตรีนั้น ปรากฏชื่อของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ดีข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบสนองต่อรัฐบาลแต่อย่างใด
และแล้วก็มาถึงจุดแตกหัก ในวันที่รัฐบาลนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลุ่ม 10 มกรา ได้ร่วมกันต่อต้านร่างดังกล่าว เป็นเหตุให้ร่างฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ พล.อ.เปรม ต้องตัดสินใจประกาศยุบสภาฯ ส่งผลให้กลุ่ม 10 มกรา ต้องออกจาก ปชป. ไปก่อตั้งเป็นพรรคประชาชน
ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์บางห้วงบางตอนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่แม้ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” จะเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่กลางปี 2554 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือน “เสี้ยนหนาม” ที่คอยแทงใจ “พรรคประชาธิปัตย์” ตลอดมา
ก่อนที่ “ทยา ทีปสุวรรณ” ลูกสาวคนสุดท้อง จะมา “เป่านกหวีด” และยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมรบกับ “กำนันสุเทพ” แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ในปัจจุบัน
(เรียบเรียงข้อมูลจาก : http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/0947/11CHAPTER_4.pdf)