อึ้ง!เยาวชนความคิดติดลบ กู้กยศ.กว่า 50% ถึงเวลาไม่คืน-มองใครจ่ายตรงเวลา 'โง่'
“ดร.สมพงษ์ จิตระดับ” ชี้เด็ก เยาวชนความคิดติดลบ ยอมรับการคอร์รัปชั่นทุจริตมากขึ้น มองใครจ่ายเงินยืม กยศ.ตรงเวลาโง่ แนะผู้นำท้องถิ่น ชุมชน หันมองเด็กนอกกรอบ เด็กกลุ่มเสี่ยงพ้นวิกฤติ พร้อมเปิดพื้นที่ดี ให้โอกาสฟังเสียงเด็ก
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน “เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2557" ที่ห้องประชุม EH 105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน” ว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนพบปัญหาเด็กและเยาวชนปัจจุบันค่อนข้างวิกฤติในเรื่องพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงเรื่องเพศ ยาเสพติด ความรุนแรงและติดเกมส์ และเรื่องทัศนคติค่านิยมในทางที่ผิดในด้านความคิดเห็น การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องรับได้ เช่น นักเรียน นักศึกษาที่กู้เงิน กยศ.กว่า 50% เมื่อถึงเวลาไม่ยอมคืนเงิน โดยมีความคิดเห็นว่า ใครที่คืนเงินตรงเวลาแสดงว่าโง่ เด็กหญิงยอมรับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานมากขึ้น และบางชุมชนเด็กบอกว่า โตขึ้นอยากเป็นโจร ซึ่งเป็นความคิดที่ติดลบ
ส่วนเรื่องที่เป็นด้านดีคือ 1.เด็กมีส่วนร่วมทางการเมือง 2.มีความเป็นสากล กล้าแสดงออก 3.มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่น มีแนวความคิดที่เป็นวิถีชีวิตของตัวเองมากขึ้น ฉะนั้น คนเป็นพ่อแม่ต้องออกแบบลูกว่าจะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีหรือเด็กเก่ง เช่นเดียวกันผู้นำท้องถิ่นต้องมานั่งคุยแบบเปิดใจว่าจะเปิดพื้นที่ดีหรือพื้นที่เสี่ยง เพราะถ้าต้องการให้เด็กเป็นคนดีก็ต้องปลูกฝังและออกแบบให้ดีตั้งแต่เด็ก มีกิจกรรมดีๆ ในชุมชน โดยภายในระยะเวลา 5 ปี จะแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างไร
“ผู้นำท้องถิ่นต้องเฉลียวใจ เกิด “ปิ๊งแว้บ” เมื่อพบเด็กที่อยู่ราวสะพาน ข้างวัด เด็กก้าวร้าว ไม่ไปโรงเรียน ซึ่งผู้นำท้องถิ่นต้องยอมรับว่าพื้นที่มีเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กนอกกรอบ อย่ามองข้ามแล้วมัวแต่อนุรักษ์แต่สิ่งที่ดีงามในท้องถิ่นเท่านั้น ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ฟังเสียงเด็กให้มากขึ้น เปิดใจ เปิดพื้นที่ หาปัญหาที่ใกล้ตัวเพื่อพัฒนาไปสู่กิจกรรมก็จะทำให้เด็กได้รับการยอมรับ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีเด็กก็จะเป็นตัวขับเคลื่อน แต่เมื่อไรที่เด็กถูกต่อต้านจะกลายเป็นตัวสร้างปัญหาทันที ชุมชนก็จะอยู่อย่างลำบาก” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า อยากให้ทางโรงเรียนและชุมชน จัดการเรียนการสอน 2 รูปแบบ1.โรงเรียนในระบบหลักสูตรท้องถิ่น 60:40 คือ ครูต้องบูรณาการการเรียนการสอนและจัดทำเป็นโครงงานเพื่อเชื่อมโยงและลงมือปฏิบัติ 2.โรงเรียนชุมชน โดยการทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน มีครูภูมิปัญญา เนื่องจากปัจจุบันวัยรุ่นปฏิเสธภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการจัดค่ายให้เด็กอยู่ร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้เด็กได้แสดงออก จึงอยากให้มหาวิทยาลัยเป็นแม่ข่ายเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงช่วยชุมชนทำวิจัย ถอดบทเรียนนำองค์ความรู้มาสร้างหลักสูตร แบบเรียน ตำรา ชุดความรู้ในพื้นที่ แต่ถ้าไม่รีบถอดบทเรียนที่เป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นจะหายไปอย่างแน่นอน และขอยืนยันถ้าเด็กเรียนเฉพาะในห้องเรียนความรู้จะไม่ขยับอย่างแน่นอน
สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งนั้น รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ต้องบูรณาการพลัง 3 ส่วน 1.เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง 2.มีผู้นำชุมชน มีภูมิปัญญาท้องถิ่น 3.มีเด็กและเยาวชน ถ้าทำได้ทั้ง 3 ส่วนก็จะเกิดการบูรณาการได้นวัตกรรมในพื้นที่ เกิดการเรียนรู้ต่อยอด มั่นคง มีสุขภาวะ เกิดความยั่งยืน แต่ถ้าไม่ใส่ใจ เด็กๆ จะใช้เวลาว่างไปกับสิ่งที่ใกล้ตัว เพื่อน ความเสี่ยง โดยอย่าทำสงครามด้วยการแยกกิจกรรมแยกห้องเรียนออกจากกันจะไม่เป็นผลดี จึงอยากให้หากิจกรรมเพื่อเรียกร้องจุดสนใจให้กับเด็ก