กรมข้าวชูโมเดลจัดระบบทำนาปีละไม่เกิน 2 ครั้ง รับมือภัยแล้ง
กรมการข้าวแนะชาวนา 12 จังหวัดเขตชลประทานปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หลังประสบภัยแล้งซ้ำซาก ส่งเสริมปลูกพืชหลังนา-พืชปุ๋ยสดแทน คาดช่วยลดการใช้น้ำ นำเข้าปุ๋ยสารเคมี
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้งในปีนี้ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังได้ทั้งหมด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จึงขอความร่วมมือให้ชาวนางดการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 และมอบนโยบายให้หน่วยงานภายในกระทรวงฯ ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา
กรมการข้าวจึงมีนโยบายในการช่วยเหลือชาวนาโดยบูรณาการร่วมกับ 6 หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดทำโครงการจัดระบบการปลูกข้าวปี 2557 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ปลูกพืชหลังนาและพืชปุ๋ยสดแทนการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 – ธันวาคม 2557 ในพื้นที่เขตชลประทาน 12 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย และฉะเชิงเทรา
โดยมี ระบบการปลูกข้าว 4 ระบบ คือ
(1) ระบบที่ 1 นาครั้งที่ 2 – นาครั้งที่ 1 – พืชหลังนา/พืชปุ๋ยสด/เว้นปลูก
(2) ระบบที่ 2 นาครั้งที่ 2 – นาครั้งที่ 1 – เว้นปลูก
(3) ระบบที่ 3 นาครั้งที่ 2 – พืชหลังนา/พืชปุ๋ยสด/เว้นปลูก – นาครั้งที่ 1
(4) ระบบที่ 4 นาครั้งที่ 2 – นาครั้งที่ 1 (ข้าวน้ำลึก/ข้าวขึ้นน้ำ)
ด้านนางปาริชาติ ศรีวิพัฒน์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว ว่า ได้มีการจัดเวทีชุมชนเพื่อสำรวจความต้องการของชาวนาที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ มีจำนวน21,546 คน คิดเป็นพื้นที่จัดระบบปลูกข้าว จำนวน 509,651 ไร่ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณต้นเดือนมีนาคม 2557
ซึ่งกรมการข้าวได้จัดหาเมล็ดพันธุ์พืชหลังนาสนับสนุนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการไปปลูกแทนการปลูกข้าวนาปรัง ได้แก่ ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ โสนแอฟริกัน และปอเทือง โดยเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพร้อมที่จะจัดส่งให้เกษตรกรในเดือนมีนาคมนี้ จำนวน 371.38 ตัน พื้นที่การปลูก จำนวน 74,276 ไร่
นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดอบรมชาวนาหลักสูตร “ระบบการปลูกข้าวที่มีข้าวเป็นพืชหลัก” ให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ และมีแผนการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ โดยจะเริ่มลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลประมาณเดือนเมษายน 2557 เป็นต้นไป
รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อว่า จากการดำเนินโครงการจัดระบบการปลูกข้าว ปี 2557 นี้ ผลผลิตข้าวโดยรวมเพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวเพียง 2 รอบต่อปี ช่วยให้จัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ระบบนิเวศในนาข้าวดีขึ้นและปรับตัวเข้าสู่สมดุล เนื่องจากลดการใช้สารเคมีลง และดินมีความอุดมสมบูรณ์จากการปรับปรุงดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือพืชปุ๋ยสดสลับกับการปลูกข้าว ความเสี่ยงของการระบาดของโรคและแมลงก็ลดลง เนื่องจากมีการตัดวงจรการระบาดโดยการปลูกพืชหลังนาสลับกับการปลูกข้าว และเมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวพืชหลังนาแทนการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 จะมีรายได้ประมาณไร่ละ 3,600 บาท
“ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ คือ ลดปริมาณการใช้น้ำชลประทานไร่ละ 600 ลูกบาศก์เมตร รวมลดการใช้น้ำได้ 306 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมี เพิ่มผลผลิตพืชไร่บางชนิดทดแทนการนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวทิ้งท้าย