ชำแหละ! ปมคดี "อภิสิทธิ์" ยื้อเวลา ไม่ยอมยกโทษ “พัชรวาท"
เผยปมคดี “พัชรวาท” ยื่นฟ้องนายกฯ ไม่ยกโทษคำสั่งปลดพ้น ผบ.ตร. พบเหตุล่าช้า “อภิสิทธิ์” หวั่นข้อกม. ค้าน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดสลายการชุมนุม ดึงกฤษฎีกาตีความ หลังพบเงื่อนงำ ก.ตร.แก้ไขมติ "งดออกเสียง" ยกโทษให้พัชรวาท
ภายหลังศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ( ก.ตร ) ที่มติเสียงข้างมากเห็นว่า นายกฯ ควรยกเลิกคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พ้นจากราชการ ในคดีที่ พล.ต.อ.พัชรวาทยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ( อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ) กรณีละเลยต่อหน้าที่ ไม่ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งที่ปลดตนพ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. สืบเนื่องจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีสั่งสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทั้งที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ( ก.ตร. ) มีมติให้ยกโทษนั้น
“สำนักข่าวอิศรา” www.isranews.org นำเสนอรายละเอียดที่น่าสนใจของคดีนี้ จากเอกสารสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 2040/2553 หมายเลขแดงที่ 99/ 2554 พบรายละเอียดและปมเหตุสำคัญที่ทำให้การเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาท ขณะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากความเห็นต่างของคู่กรณี ในประเด็นขอบเขตอำนาจของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท สลายการชุมนุม, รวมถึงประเด็นข้อสังเกตต่อมติ ก.ตร. ที่ปลัดสำนักนายกฯ เห็นว่ามีตำรวจ 2 นาย แก้ไขการลงมติในภายหลัง นำไปสู่การยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
ใจความตอนหนึ่งจากสำเนาคำพิพากษาระบุว่า ผู้ถูกฟ้องคดี คือนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-ขณะนั้น) ให้การต่อศาลว่าสาเหตุที่มีคำสั่งสำนักนายกฯ ลงโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาทออกจากราชการเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2552 เนื่องจาก ป.ป.ช. มีหนังสือ ปช. 0014/7148 ลงวันที่ 18 กันยายน 2552 ถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ ขอให้พิจารณาโทษทางวินัยของ พล.ต.อ.พัชรวาท เนื่องจาก ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ. พัชรวาท ผบ.ตร.ขณะนั้น กับพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นเหตุให้ประชาชนที่กำลังชุมนุม ถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้รับไว้พิจารณา โดยไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วมีมติว่าการกระทำของพัชรวาทเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
การพิจารณาคดีในศาลครั้งต่อมา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ( นายอภิสิทธิ์ ) ยืนยันคำให้การว่า สาเหตุที่ไม่สามารถพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมของ พล.ต.อ.พัชรวาทได้ เนื่องจาก ความเห็นของ ป.ป.ช. แตกต่างจากความเห็นของ ก.ตร. ที่เห็นควรให้ยกเลิกคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท เพราะ ป.ป.ช. เห็นว่า ป.ป.ช.มีอำนาจวินิจฉัยชี้มูลความผิดฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 19 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา รวมถึง ก.ตร. ย่อมต้องผูกพันตามผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546 ( วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาใดที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ และผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษไล่ออก) อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานในคดีหมายเลขดำ ที่ อม. 6/2542 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2552 ว่า ป.ป.ช. มีอำนาจที่จะวินิจฉัย ชี้มูลความผิด ฐานประมาทเลินเล่อ ในหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 84 วรรค 2
ดังนั้น กรณีความผิดทางวินัย ของ พล.ต.อ.พัชรวาท นายกฯ จึงเห็นควรให้ดำเนินการไปตามกฎหมายต่อไป
ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท ให้การเห็นต่าง ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจ เนื่องจาก การที่ ป.ป.ช. อ้างว่าต้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2546 นั้น คำวินิจฉัยดังกล่าว แตกต่างจากคดีนี้ เนื่องจาก คดีดังกล่าว เป็นการชี้มูลความผิดว่าทุจริตต่อหน้าที่ แต่คดีนี้ ป.ป.ช. วินิจฉัยชี้มูลความผิด ทางวินัยข้าราชการ ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหาย แก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งอยู่นอกขอบเขตอำนาจของ ป.ป.ช. เนื่องจาก ป.ป.ช. อยู่ในสถานะองค์กรไต่สวน จึงมีลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจไต่สวนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ขอบเขตอำนาจของ ป.ป.ช. จึงมีฐานะเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเท่านั้น แต่การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชา และไม่ผูกพันองค์กรตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายอื่นแต่อย่างใด
จากนั้น ในเวลาต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 2 พ.ค. 2555 สอดเข้ามาในคดีนี้ แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ป.ป.ช. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในการเสนอคำร้องสอด แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้องสอดของ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ ยังมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีพิพาทและความเห็นต่างของคู่กรณีคือ พล.ต.อ.พัชรวาท และ นายกฯ ( อภิสิทธิ์ ) ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
-ภายหลังคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2552 พล.ต.อ.พัชรวาท มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่ง ต่อ ก.ตร. ลงวันที่ 5 พ.ย. 2552 ซึ่งเมื่อ ก.ตร.ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของ พล.ต.อ. พัชรวาทแล้ว มีมติว่าอุทธรณ์ฟังขึ้น คือรับฟังไม่ได้ ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท กระทำผิดวินัยร้ายแรง และให้สั่งยกโทษแก่ พล.ต.อ.พัชรวาท และได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ตามหนังสือ ก.ตร. ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553
-23 ก.พ. 2553 พัชรวาท มีหนังสือ ร้องขอนายกฯ ให้ยกเลิกคำสั่งปลดตนจากราชการ
-26 ก.พ. 2553 สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ มีบันทึกลับถึงนายกฯ เกี่ยวกับ ข้อสังเกตของมติ ก.ตร. ในประเด็นเกี่ยวกับ การลงคะแนนเสียงข้างมากของ ก.ตร.
-10 มี.ค. 2553 นายกฯ จึงมีคำสั่งให้หารือข้อกฎหมาย ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
-30 เม.ย.2553 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือลับ ถึง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า ในการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 17/2552 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2552 มีกรรมการข้าราชการตำรวจอยู่ในที่ประชุม ก.ตร. 16 คน ให้ความเห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง จึงถือเป็นเสียงข้างมาก เห็นควรให้ยกเลิกคำสั่งปลดตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท อุทธรณ์ แต่แล้ว ในการประชุมคณะกรรมการตำรวจครั้งต่อมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 มีกรรมการข้าราชการตำรวจ 2 คน ขอแก้ไขมติ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนของตนจากเดิมที่เห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น “งดออกเสียง” และขอให้บันทึกไว้ในการตรวจรับรองรายงานการประชุม
แต่ท้ายที่สุด การแก้ไขการลงคะแนน ไม่อาจกระทำได้ ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นและมีการประกาศผลแล้ว กรณีดังกล่าวจึงเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตในรายงานการประชุมเท่านั้น
-12 ก.ค.2553 พล.ต.อ.พัชรวาท ยื่นหนังสือทวงถาม นายกฯ เป็นฉบับที่ 7 ( นับแต่วันที่ 23 ก.พ. 2553 ) ในวันเดียวกัน มีหนังสือจากสำนักนายกฯ ชี้แจงว่ามิได้เพิกเฉยต่อคำขอ แต่มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน จึงได้หารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่มเติม ซึ่งกรณีนี้ ระบุในสำเนาคำพิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีคือ พล.ต.อ.พัชรวาทเห็นว่า นายกฯ พยายามประวิงเวลา อันเป็นการจงใจละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
-18 ส.ค.2553 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีบันทึกถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีใจความสรุปว่า เมื่อ ก.ตร. ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และมีมติแล้ว นายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร ตามมาตรา 72 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จึงมีหน้าที่ต้องรับทราบและยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องลงโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาทออกจากตำแหน่ง โดยนายกฯ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร. โดยไม่อาจใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นได้
-25 พ.ย. 2553 นายกฯ สั่งการให้สำนักนายกฯ ทำหนังสือ ด่วนที่สุด หารือ ไปยัง ป.ป.ช. ถึงประเด็นดังกล่าว
-17 ต.ค.2554 สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือ ด่วนที่สุด ถึง ปลัดสำนักนายกว่า ป.ป.ช. มีอำนาจวินิจฉัยชี้มูลความผิด ดังนั้น ในกรณีความผิดทางวินัยนี้ นายกฯ จึงชอบที่จะพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
-5 ก.ย. 2554 พล.ต.อ.พัชรวาท ยื่นหนังสือต่อนายกฯ อีกครั้ง ขอให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษ
-19 ม.ค.2555 สำนักนายกฯ มีหนังสือแจ้ง พล.ต.อ.พัชรวาทว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของรองนายกรัฐมนตรี ( ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง-ขณะนั้น)
เหล่านี้ คือปมเหตุแห่งความยืดเยื้อที่ทำให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ตัดสินใจยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง โดยเป็นการฟ้องตำแหน่ง ที่แม้เหตุจะเกิดขึ้นในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คำพิพากษาผูกพันต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันด้วยเช่นกัน
ด้านผู้ถูกฟ้องคดี คือ นายกฯ ( อภิสิทธิ์-ขณะนั้น ) ให้การว่าเหตุแห่งความล่าช้าเนื่องจากไม่แน่ใจในข้อกฎหมายว่าหากไม่ปฏิบัติตามคำชี้มูลของ ป.ป.ช. จะสามารถทำได้หรือไม่ อีกทั้งต้องยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับมติ ก.ตร. และบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ในที่สุด ศาลปกครองกลางพิเคราะห์ว่านับแต่วันที่ นายกฯ ได้รับแจ้ง มติ ก.ตร. ครั้งแรก คือเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงวันที่ได้รับแจ้งผลการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งหลังสุด คือวันที่ 18 พ.ย. 2553 นับได้ว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรกับการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายแล้ว แต่กลับยังคงปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกฯ ได้มีคำสั่งให้สอบถาม ป.ป.ช. เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 19 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องสอบถามประเด็นนี้อีก เนื่องจาก ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญาแก่พล.ต.อ.พัชรวาทมาแล้ว และนายกฯ อาจคาดหมายผลการตอบข้อหารือของ ป.ป.ช.ได้อยู่แล้ว การดำเนินการใดๆ ในส่วนต่อมาดังกล่าว จึงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรี เป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช่าเกินสมควร
กระทั่ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลจึงมีคำพิพากษา “ให้ผู้ถูกฟ้องคดี ( นายกรัฐมนตรี ) ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับแจ้งมติ ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด”
จึงเป็นอันสิ้นสุดข้อพิพาทในประเด็นการเรียกร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นเพียงคดีปกครอง ในประเด็นข้อเรียกร้องคำสั่งทางวินัยเท่านั้น ส่วนคดีอาญาเนื่องจากเหตุแห่งการสั่งสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ยังเป็นที่ต้องติดตามต่อไป ว่าเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมและอัยการยื่นฟ้องหรือไม่ อย่างไร
ภาพประกอบจาก www.news.mthai.com