อนาคตเจรจาดับไฟใต้..."อกนิษฐ์" ฝาก 5 คำถามถึง "ซัมซามิน"
ช่วงนี้ข่าวการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่ริเริ่มกระบวนการกันมาตั้งแต่ 28 ก.พ.56 ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในวาระครบรอบ 1 ปี
อย่างไรก็ดี สาเหตุหลักของการที่มีข่าวทางสื่อบางแขนงอย่างคึกคัก และมีการพูดถึงเรื่องพูดคุยสันติภาพกันบ้างในยามนี้ หาใช่ความสนอกสนใจที่เกิดขึ้นเองของสังคมไทยเป็นด้านหลัก แต่กลับกลายเป็นการสร้างกระแสโดย ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยมากกว่า
เพราะผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยเชื่อว่าโต๊ะพูดคุยล้มไปแล้ว หลังจากที่นัดพบปะกันมาอย่างเป็นทางการ 3 ครั้ง แต่แทบไม่มีอะไรคืบหน้า ข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนปีที่แล้ว (ก.ค.-ส.ค.56) ก็สรุปได้ว่าล้มเหลว
ยิ่งระยะหลังรัฐบาลไทยเผชิญปัญหาการเมืองภายในจนต้องยุบสภา ประกอบกับฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ออกแถลงการณ์ว่าไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยแล้ว แถมยังปลด นายฮัสซัน ตอยิบ ออกจากหัวหน้าคณะพูดคุยด้วย ยิ่งทำให้หลายฝ่ายสิ้นสงสัยว่าการพูดคุยเจรจาคงไปต่อไม่ได้จริงๆ
แต่แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ "ดาโต๊ะซัมซามิน" เดินสายแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ทั้งสื่อไทยและสื่อมาเลเซียอย่างถี่ยิบ นับรวมอย่างเป็นทางการถึง 4 ครั้ง ในห้วงเวลาเพียง 9 วัน กล่าวคือ
19 ก.พ. ให้สัมภาษณ์สื่อจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐกลันตัน มาเลเซีย
24 ก.พ. ให้สัมภาษณ์สื่อมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
26 ก.พ. ขึ้นเวทีเสวนาที่ จ.เชียงใหม่
28 ก.พ. ขึ้นเวทีปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ทุกเวที ดาโต๊ะซัมซามิน สื่อสารในเนื้อหาใกล้เคียงกัน สรุปได้ดังนี้
1.มาเลเซียยังพร้อมเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อไป
2.โต๊ะพูดคุยยังไม่ล้มตามที่เป็นข่าว แต่หยุดชะงักไปเพราะปัญหาการเมืองภายในของไทย ซึ่งเมื่อไทยแก้ปัญหาการเมืองภายในได้และมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว มาเลเซียก็พร้อมจัดกระบวนการพูดคุยรอบใหม่
3.ขบวนการบีอาร์เอ็นยังคงอยู่ร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ อีกทั้งมาเลเซียได้เชื้อเชิญกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยเพิ่มเติม
4.อธิบายว่าสาเหตุที่มาเลเซียต้องแสดงท่าทีแข็งขันในเรื่องนี้ เพราะต้องการให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยสงบสุข เนื่องจากได้รับผลกระทบในฐานะเพื่อนบ้านชายแดนติดกัน และยังเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
ทั้งนี้ บนเวทีเสวนาที่ จ.เชียงใหม่ เรื่อง "ความขัดแย้ง ความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพปาตานี" มีประเด็นที่ ดาโต๊ะซัมซามิน พูดเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเด็นที่สรุปมาตามข่าวที่นำเสนอทางสื่อมวลชน คือ การแสดงท่าทีผลักดันให้เกิดการพูดคุยประสานงานกับบีอาร์เอ็น ในช่วงที่รัฐบาลของไทยยังอยู่ในสถานะ "รัฐบาลรักษาการ"
"เบื้องต้นจะมีการดำเนินการจัดการเจรจาและทำข้อตกลงการหยุดยิงในบางพื้นที่ หรือข้อตกลงหยุดยิงถาวร ลดความเป็นปรปักษ์ของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลรักษาการ กับตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ในการร่วมมือกันที่จะนำไปสู่ความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"
ส่วนเวทีที่ ม.อ.ปัตตานี ดาโต๊ะซัมซามิน ปาฐกถาพิเศษใน "สันติสนทนาและกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี: หนึ่งปีที่ผ่านมาและอีกหลายปีต่อจากนี้" เขาได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างของคณะพูดคุยสันติภาพคณะใหม่ที่ชัดเจนขึ้น
"ผมมีความยินดีที่จะบอกว่าผู้นำบีอาร์เอ็นได้รับการยอมรับ (ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยต่อไป) และมอบที่นั่งให้กลุ่มอื่นและผู้แทนกลุ่มอื่นเข้ามาด้วย ขณะที่ขบวนการพูโลทั้งสามกลุ่มได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อจะเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพนี้ และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามปาตานี หรือขบวนการบีไอพีพี ก็มีความประสงค์เข้าร่วมด้วย และจัดตั้งองค์ปาฐกเพื่อปาตานีจริงๆ"
และยังบอกว่า เหตุรุนแรงในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ที่มีการกระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ การกำจัดความรุนแรงและการหยุดยิงสามารถบรรลุผลได้จริงหากทุกฝ่ายช่วยกัน ซึ่งการพูดคุยพยายามผลักดันให้เกิดการหยุดยิงในปี ค.ศ.2015 และต้องมีแผนที่สันติภาพ (โรดแมพ) ประกอบด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกัน
ส่วนเรื่องขอบเขตการปกครองตนเองนั้น ดาโต๊ะซัมซามิน ทิ้งเชื้อไว้ว่า "ขึ้นอยู่กับคนปาตานีและรัฐบาลไทยจะตัดสินใจว่าสิ่งไหนดีที่สุด เพราะการปกครองตนเองมีหลายรูปแบบในโลกนี้"
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ประเมินว่า ท่าทีของดาโต๊ะซัมซามิน เหมือนมีความพยายามให้รัฐบาลรักษาการทำข้อตกลงบางอย่างเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพเพื่อให้ดำรงสถานะของโต๊ะพูดคุยเอาไว้ ซึ่งอาจเป็นเพราะมาเลเซียไม่แน่ใจว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย และรัฐบาลชุดใหม่ไม่ใช่รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย จะยังคงเดินหน้ากระบวนการพูดคุยโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกต่อไปหรือไม่
ขณะที่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก ซึ่งเชี่ยวชาญด้านปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย และยังเคยมีบทบาทพูดคุยเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มในอดีต กล่าวว่า ไม่ทราบว่า ดาโต๊ะซัมซามิน มีจุดประสงค์อะไรที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ แต่อยากฝากคำถามไปถึง ดาโต๊ะซัมซามิน และมาเลเซีย 5 ข้อ ซึ่งเป็นประเด็นที่ ดาโต๊ะซัมซามินไม่เคยตอบ และไม่ยอมพูดถึงเลยตลอดการให้สัมภาษณ์และปาฐกถา
1.ทำไมไม่พูดถึงข่าวที่ว่า นายฮัสซัน ถูกบังคับให้เป็นตัวแทนลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถึงขนาดมีข่าวว่าสูทสีน้ำเงินที่ใส่ในวันลงนามก็เป็นสูทที่ทางการมาเลเซียเตรียมไว้ให้ ไม่ใช่สูทของนายฮัสซันเอง แสดงว่าบีอาร์เอ็นไม่ได้ยอมรับกระบวนการนี้ตั้งแต่ต้น
2.ใช่หรือไม่ที่ข้อเรียกร้อง 5 ข้อและคำอธิบาย 38 หน้าเป็นการจัดทำขึ้นโดยทีมงานที่ขับเคลื่อนบนโต๊ะพูดคุยรายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น เมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็นำไปให้ ดาโต๊ะซัมซามิน ตรวจทาน โดยที่บีอาร์เอ็นไม่ได้มีส่วนร่วม ข้อเรียกร้องนี้จึงเป็นข้อเรียกร้องที่มาเลเซียได้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่บีอาร์เอ็นไม่ยอมรับ
3.ถ้าบีอาร์เอ็นร่วมด้วยจริง เหตุใดนายฮัสซันจึงถูกปลด และยังไม่ปรากฏว่าเสนอบุคคลใดมาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่ ขณะที่ปัจจุบันนายฮัสซันหายหน้าไป
4.ก่อนเปิดแถลงข่าวในวาระ 1 ปีพูดคุยสันติภาพ มีการพบปะกันระหว่างทีมงานของดาโต๊ะซัมซามิน กับตัวแทนขบวนการเคลื่อนไหวปลดปล่อยปาตานีหลายขบวนการ ที่เมืองยอร์ค จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็นไปร่วมด้วย โดยตัวแทนขบวนการที่ไปร่วมพูดคุยและลงนามเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ส่วนใหญ่เป็นสายเก่าที่จบการศึกษาที่อินโดนีเซีย มีกลุ่มพูโลเก่าบางปีกไปร่วม แต่แกนนำกลุ่มพูโลใหม่ที่แตกออกมา โดยเฉพาะกลุ่มของ นายซัมซูดิง คาน ยังไม่ชัดว่าเข้าร่วมกระบวนการพูดคุย และยังมีปัญหาขัดแย้งกับ นายกัสตูรี มะห์โกตา แกนนำพูโลใหม่อีกกลุ่มหนึ่งด้วย
5.ทำไมคนที่เกี่ยวข้องกับการแถลงวาระ 1 ปีพูดคุยสันติภาพจึงเป็นชุดเดิมๆ ไม่มีแกนนำบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะผู้ที่ใช้นามแฝงว่า อาบูฮาฟิซ อัล ฮากิม ที่มีการนำคลิปวีดีโอคำแถลงของเขามาเปิดในงานที่ ม.อ.ปัตตานี โดยเขาเรียกตัวเองเป็นผู้แทนจากโต๊ะพูดคุยนั้น จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น แต่เป็นสมาชิกบีไอพีพี ซึ่งร่วมกระบวนการพูดคุยในทางลับกับฝ่ายความมั่นคงไทยหลายหน่วย
ที่สำคัญทั้งข้อเรียกร้อง บุคคลที่เกี่ยวข้อง และสัดส่วนที่นั่งของฝ่ายขบวนการ รวมทั้งการจัดตัวแทนประชาคมปาตานีเข้าพูดคุยกับรัฐบาลไทย ตรงตามเงื่อนไขในเอกสารคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อทั้งสิ้น คล้ายเป็นโรดแมพที่ดาโต๊ะซัมซามิน และผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มที่สนับสนุนการพูดคุยเตรียมการกันไว้ก่อนแล้ว โดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐตัวจริงที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่ หรือมีอิทธิพลในหมู่ผู้ก่อเหตุรุนแรง
คำถามของ พล.อ.อกนิษฐ์ นับว่าตรงและแรง ทั้งยังสวนทางกับคำกล่าวอ้างถึงภาพสวยๆ ของกระบวนการสันติภาพที่กำลังเดินหน้า...อย่างสิ้นเชิง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ดาโต๊ะซัมซามิน ขณะขึ้นเวทีที่ ม.อ.ปัตตานี (ภาพโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)
2 พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)