"สุรพงษ์" ยัน คนกลางเจรจายุติขัดแย้งไทย ต้องคนนอกอย่าง "บันคีมูน"
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยืนยันคนกลางเจรจายุติความรุนแรงในประเทศไทยต้องเป็นนายบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นเท่านั้น เพราะเป็นคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสีย ขณะที่หลายฝ่ายยังเห็นต่าง โดยมองว่าคนไทยยังสามารถแก้ปัญหาเองได้
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส. เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเสนอให้ ผบ.ทบ เป็นคนกลางในการเจรจายุติความขัดแย้งในประเทศไทยว่า ตนในฐานะที่เป็นรักษาการ รมว.ต่างประเทศ คิดว่าคนกลางที่จะมาประสานให้เกิดการเจรจาได้ ควรจะเป็น นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เนื่องจากคนในประเทศไทยวันนี้ขาดความไว้เนื้อใจกัน ไม่ว่าจะหยิบยกใครมา ก็ไม่สามารถเป็นคนกลางที่แท้จริงได้ ดังนั้นหากเป็นคนที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเลยน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จะรับฟังหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายบัน คี มุน มีการตอบรับหรือไม่ในการมาประเทศไทย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่ามีการโทรหาเลขาธิการยูเอ็นเพื่อพูดคุยหารือกันแล้ว ซึ่งวันนี้(27ก.พ.57) ก็ได้ทำหนังสือถึงอย่างเป็นทางการ ส่วนเรื่องของเวลา ให้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของนายบัน คี มุน โดยสิ่งที่ตั้งใจคือ อยากให้พบกันหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน องค์กรอิสระ ศาลยุติธรรม รวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อเกิดความเข้าใจตรงกัน เพราะสิ่งที่เกิดในหลายๆ ประเทศนั้นเป็นความสูญเสีย มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว ยังไม่มีการรายงานให้รักษาการนายกรัฐมนตรีรับทราบ แต่ตนในฐานะที่เป็นประธานที่ปรึกษา ศรส. รักษาการรองนายกฯ และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สามารถติดต่อกับนายบัน คี มุน ได้ และนายบัน คี มุน ได้แถลงการณ์ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีความเป็นห่วงประเทศไทย และเสนอพร้อมช่วยเหลือสนับสนุน หากไทยต้องการ
ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีทำหนังสือเชิญเลขาธิการยูเอ็น เป็นคนกลางประสานความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกปปส.ว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของยูเอ็นเองด้วย แต่ความจริงคนกลางไม่จำเป็นต้องเป็นต่างชาติเป็นคนไทยก็ได้ที่มีบารมีสามารถลงมาเจรจาได้ ไม่ใช่จะหาคนไทยเป็นคนกลางไม่ได้แล้ว แต่ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติมาเป็นคนกลางคำตอบทีได้ คือ ต้องมีการเลือกตั้งอยู่ดี โดยส่วนตัวมองว่ายูเอ็นมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทุกประเทศในโลก แต่ขึ้นอยู่กับว่าดีกรีเป็นอย่างไร
ส่วนนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. กล่าวว่า การเจรจากับรัฐบาล ซึ่งนายสุเทพ ได้ให้คำตอบแล้วว่าไม่ปฏิเสธ แต่ขอทำเปิดเผย เป็นการเจรจาตัวต่อตัวกับรักาษการนายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดให้สื่อมวลชนเข้ามาเก็บภาพรวมถึงรายละเอียดการเจรจา เพราะก่อนหน้านี้การเจรจาต่อหน้าผู้บัญชาการเหล่าทัพ รักษาการนายกฯ ระบุไม่มีอำนาจตัดสินใจ ส่วนกรณีที่นายสุรพงษ์ ระบุว่าจะเชิญเลขาฯยูเอ็นเข้ามา ซึ่งในเรื่องนี้นายสุรพงษ์ไม่เข้าใจการทำงาน และกำลังหลงประเด็น การเมืองในประเทศอย่าดึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวจะดีกว่า
ขณะที่ นางแคทเธอรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยนางแอชตัน แสดงความกังวลดังกล่าวผ่านทางโฆษกประจำตัวและระบุถึงการเสียชีวิตของเด็กที่อายุน้อย ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่ง แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า นางแอชตัน ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของเด็กที่เสียชีวิต และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายพยายามดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกในวันข้างหน้า นอกจากนี้ นางแอชตัน ยังเรียกร้องให้มีการเจรจาอย่างเร่งด่วน เพื่อหาทางออกทางการเมืองในระยะยาว ซึ่งเป็นทางออกที่ตั้งอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย