เสียงชาวบ้าน...1ปีเจรจา 10ปีปัญหาใต้ 4เดือนความวุ่นวายการเมืองไทย
ปี 2557 นี้เป็นปีที่มีหลายๆ วาระมาบรรจบกัน และล้วนส่งผลซึ่งกันและกันต่อทิศทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความรุนแรงรายวันที่ดำเนินมาครบ 10 ปีเต็มเมื่อวันที่ 4 ม.ค. การพูดคุยสันติภาพที่ริเริ่มกระบวนการมาครบ 1 ปีในวันที่ 28 ก.พ. และความชุลมุนวุ่นวายของการเมืองในส่วนกลางที่มีการชุมนุมยืดเยื้อมาครบ 4 เดือน ณ สิ้นเดือน ก.พ. ทำให้ฝ่ายการเมืองที่ต่อสู้ฟาดฟันกันไม่หันมาเหลียวแลปัญหาชายแดนใต้เลย ยกเว้นนำไปโจมตีสาดโคลนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
น่าสนใจว่าชาวบ้านรากหญ้าในสามจังหวัดมีมุมมองและรู้สึกต่อปรากฏการณ์วาระต่างๆ เหล่านี้อย่างไร...
พูดคุยสันติภาพ : แค่พีอาร์
เริ่มจากวาระ 1 ปีของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ริเริ่มลงนามกันระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น ในฐานะตัวแทนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ เมื่อ 28 ก.พ.56 จนถึงวันนี้ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน อาชิม ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย เดินสายยืนยันทั้งในมาเลเซียและไทยว่ากระบวนการพูดคุยยังเดินหน้าต่อ...
แล้วชาวบ้านที่ชายแดนใต้ล่ะคิดอย่างนั้นหรือเปล่า?
ครูสาวที่สอนหนังสือในโรงเรียนแห่งหนึ่งของ จ.นราธิวาส กล่าวว่า 1ปีของการพูดคุยที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลว ไม่มีอะไรคืบหน้า รัฐปล่อยข่าวฝ่ายเดียวเพื่อหน้าตาของประเทศ ขณะที่สถานการณ์จริงแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ
"หากจะดำเนินการพูดคุยต่อไปก็อยากให้ต่างฝ่ายนึกถึงผลที่จะตามมาของประชาชนว่าได้ประโยชน์อะไรบ้าง ไม่ใช่ทำไปเพื่อรักษาหน้า ต้องนึกถึงประชาชนเป็นสำคัญ และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาคนในพื้นที่มีความหวาดระแวงไม่เชื่อใจกัน รัฐควรวางมาตรการการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมกว่านี้ ขณะที่ฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเองก็ต้องยึดมั่นในกระบวนการพูดคุย พบกันคนละครึ่งทาง และรับสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องต่อรอง"
ครูสาวรายนี้ยังเรียกร้องว่า การจะแก้ปัญหาได้ต้องหา "ตัวจริง" ให้เจอเสียก่อน ตราบใดที่ไม่เจอตัวจริง การเจรจาย่อมไม่ถือว่าเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังไม่อยากให้รัฐมองในเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบมากเกินไป เพราะตราบใดที่รัฐไม่ยอมอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบบ้าง ก็ไม่มีทางสงบศึกได้
หวังผล "ล่อเสือออกจากถ้ำ"
ด้านแนวร่วมขบวนการปลดปล่อยปาตานีที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า 1ปีของการพูดคุยสันติภาพเป็นการ "ล่อเสือออกจากถ้ำ" จากนั้นก็เก็บที่ละตัวๆ ตามใบสั่งอย่างที่เห็นอยู่ตอนนี้ที่มีเหตุการณ์กราดยิงเป็นว่าเล่น สุดท้ายรัฐจ่ายเงินเยียวยาก็จบ ส่วนการพูดคุยต่างฝ่ายต่างไม่ได้ทำอะไรมากกว่าการรักษาหน้าของตัวเอง ไม่มีการรักษากติกา พุ่งเป้าแค่ผลประโยชน์ของกลุ่ม ไม่ได้เห็นถึงผลประโยชน์ของประชาชนชาวปาตานี
"เราเชื่อว่าวงพูดคุยล้มตั้งแต่นัดแรกแล้ว แต่เพื่อผลทางการเมืองต่างฝายต่างจึงต้องประคองกันตลอดมา จนทำให้นัดสุดท้าย (13 มิ.ย.56) พูดคุยล้มไม่เป็นท่า"
อย่างไรก็ดี แนวร่วมฯรายนี้บอกว่า เห็นด้วยถ้าจะมีการพูดคุยกันต่อไป เพราะปัญหาเกิดมานาน จะสามารถยุติได้เพราะพูดคุยกันครั้งสองครั้งคงไม่ใช่ ฝ่ายบีอาร์เอ็นเองก็มีหลายกลุ่ม ไหนจะพูโลอีก กลุ่มอื่นๆ อีก แตกกันมั่วไปหมด ปัญหาในพื้นที่ก็แตกกิ่งก้านสาขาจนแทบไม่รู้อะไรเป็นอะไร จะให้คุยรู้เรื่องในวันสองวันคงเป็นไปไม่ได้
"ข้อดีของการพูดคุยตลอด 1 ที่ผ่านมาก็มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นบ้างเหมือนกัน เช่น วันนี้ชาวบ้านกล้าบอกว่าต้องการอะไร แต่ความปลอดภัยหลังจากพูดถึงความต้องการแล้วยังไม่มี ชาวบ้านจึงยังต้องอยู่อย่างหวาดระแวง สำหรับการพูดคุยรอบใหม่ถ้าจะมีต่อไป ก็อยากให้ทุกฝ่ายทบทวนปัญหาที่ผ่านมา รัฐต้องไม่จัดฉากสร้างข่าวเพื่อให้คนข้างนอกเข้าใจว่าคนสามจังหวัดอยู่กันได้อย่างสงบสุขมาก เพราะจริงๆ ชาวบ้านยังอยู่กันอย่างหวาดกลัว หวาดผวา คนที่ทำกิจกรรมในท้องถิ่นหลายคนเจอเรื่องร้ายๆ เช่น กราดยิงบ้าน แต่รัฐกลับมุ่งประโคมข่าวเพียงแค่สร้างหน้าตาว่ารัฐบาลแก้ปัญหาสำเร็จ"
เขายังกล่าวทิ้งท้ายในฐานะเป็นแนวร่วมขบวนการว่า ตัวแทนที่เข้าไปพูดคุยต้องเป็นตัวจริงจากทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าไม่ใช่ตัวจริง ผลที่ตามมาย่อมไม่สำเร็จ ผลที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องก็ไม่เกิดขึ้น
หยุดพฤติกรรม "ผักชีโรยหน้า"
ชาวบ้านอีกรายใน จ.ปัตตานี กล่าวว่า 1ปีของการพูดคุยถือว่าล้มๆ คลานๆ แต่ก็ลุกขึ้นมาได้ ตอนนี้อยู่ในช่วงที่กำลังจะลุกจากคลานเพื่อให้มีการพูดคุยกันอีกรอบ จึงอยากให้รัฐบาลตั้งหลักมองไปที่ประชาชน และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างรัฐบาลกับทหาร อย่าทำแค่ผักชีโรยหน้า แต่ต้องทำงานโดยใช้ความจริงใจ และยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับคนปัตตานี ทำไมถึงต้องลุกขึ้นมาจับปืน
ที่สำคัญก่อนจะมีการพูดคุยครั้งต่อไป รัฐควรขอโทษประชาชนที่ทำให้การพูดคุยขาดความต่อเนื่อง เหมือนพอเกิดความวุ่นวายทางการเมืองก็ไม่สนใจปัญหาภาคใต้เลย ทำให้ปัญหายิ่งเพิ่ม และไม่ควรมุ่งแต่สร้างข่าวเท่านั้น ขอให้รัฐลงพื้นที่หรือส่งตัวแทนไปพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านตรงจุดนี้ และตัวแทนที่จะเข้าไปพูดคุยควรเป็นกลุ่มคนที่ชาวบ้านยอมรับ ไม่ใช่ได้รับการยอมรับเฉพาะกับผู้นำเท่านั้น เพราะผู้นำบางคนที่เดินตามหลังข้าราชการระดับสูง ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านแล้ว
กทม.ยังอันตรายแล้วจะให้หนีไปไหน
ความขัดแย้งทางการเมืองในส่วนกลางระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แม้ดูจะห่างไกลจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในความรู้สึกของคนพื้นที่เห็นว่าส่งผลโดยตรงต่อพวกเขา โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันและหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนสถานการณ์ในกรุงเทพฯแทบไม่ต่างจากชายแดนใต้
นายอัลยาส ยูโซ๊ะ อายุ 37 ปี ชาวบ้านจาก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตอนนี้มั่วไปหมดทั้งกรุงเทพฯและชายแดนใต้ ประชาชนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่มขาดความปลอดภัย ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีความขัดแย้ง
"เมื่อก่อนเรามองว่าอยู่ปัตตานี ยะลา หรือนราธิวาสไม่ค่อยมีความปลอดภัย เราก็หนีไปกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้จะหนีไปไหน เพราะกรุงเทพฯก็ไม่ปลอดภัย สิ่งที่ทำได้คือพยายามทำใจและอยู่นิ่งๆ หาเลี้ยงครอบครัวไป อะไรจะเกิดกับตัวเองก็ถือว่าถึงคราว ไม่สามารถหลีกหนีไปไหนได้ เพราะทุกๆ ที่ก็เหมือนกัน คือคนทุกกลุ่มทุกวัยต่างตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่เด็ก แม้แต่ผู้หญิง"
อัลยาส บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้เพราะนักการเมืองโกงกิน มองแต่ประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวก ไม่เคยทำเพื่อประชาชน และแนวคิดการโกงก็ขยายไปยังประชาชนทุกกลุ่ม ฉะนั้นก็อยากขอให้ทุกคน โดยเฉพาะคนที่จะมาเล่นการเมือง ให้มี "จิตสำนึก" มากกว่าปัจจุบัน ควรให้มีการสอนเรื่องจิตสำนึกตั้งแต่เด็กๆ ในห้องเรียน โตขึ้นจะได้มีจิตสำนึกกันมากกว่านี้ ไม่ใช่เห็นว่าการโกงกินเป็นเรื่องปกติ
"พอการเมืองทะเลาะกันก็ไม่สนใจว่าใครจะทำอะไร ใครจะเป็นอย่างไร อย่างปัญหาภาคใต้ตอนนี้เหมือนหยุดพัก ไม่มีใครหันมาสนใจเลย รัฐบาลก็คงอ้างว่าตนเองเป็นแค่รักษาการ ทั้งที่จริงๆ การเป็นรัฐบาลก็ยังแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่ไม่ทำ ปัญหาภาคใต้จึงกลายเป็นแค่เกม"
มีแต่พวกเก็งกำไรจากไฟใต้
นายดอเลาะ ลาเตะ อายุ 56 ปี ชาวบ้านจาก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาที่ภาคใต้หรือที่กรุงเทพฯก็เหมือนกัน และเชื่อว่าต้องมาจากกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน เพราะทำความรุนแรงได้แม้กระทั่งกับเด็ก กับชาวบ้านที่ไม่มีทางสู้
ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนที่สร้างความวุ่นวาย สร้างความสูญเสีย สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ได้หยุดและคิดทำอะไรดีๆ เพื่อประชาชนเพื่อให้ประเทศเจริญขึ้นบ้าง เมื่อก่อนคนบ้านเราชอบดูถูกคนจากประเทศรอบบ้านที่มาทำงานใช้แรงงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเราตอนนี้เหมือนถอยหลัง ต่อไปอาจเจริญช้ากว่าเพื่อนบ้าน ฉะนั้นถ้าทุกคนอยากให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ก็ควรคิดทำในสิ่งที่ดีๆ ทั้งที่ภาคใต้และที่กรุงเทพฯ
"ที่บ้านเราไม่มีใครหันมาแก้ปัญหาจริงๆ จังๆ มีแต่พวกเก็งกำไรเท่านั้น"
ใช้ความรุนแรงปัญหาไม่จบ
นางแมะซง เจะกอบะ อายุ 43 ปี ชาวบ้านจาก อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า ไม่มีใครสนใจประชาชนแล้ว เพราะมุ่งแต่ปัญหาการเมือง ปัญหาที่ กทม.แรงขึ้นทุกวัน มีคนตายเจ็บทุกวัน เหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกอย่าง เกิดความวุ่นวายมั่วไปหมด ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ปัญหาไหนเกิดจากกลุ่มไหน ใครเป็นคนทำเดายากมาก ถ้าเมื่อก่อนยังพอแยกแยะได้บ้าง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย
"โดยเฉพาะที่ภาคใต้ เหตุรุนแรงเกิดขึ้นกับเด็กและคนแก่มั่วไปหมด เด็กติดยาเสพติดอย่างหนักขึ้นทุกวัน นักการเมืองโกงกินไม่ทำงาน เอาแต่สร้างความขัดแย้ง ไม่คิดช่วยชาวบ้าน ผู้นำทะเลาะกันวุ่นวายเพราะงบประมาณที่ลงมา ชาวบ้านก็ทะเลาะกันไปด้วย คิดว่ายังไม่สายถ้าทุกคนจะหันมาสามัคคีช่วยเหลือกัน มองผลประโยชน์ที่จะได้เพื่อประชาชน เพราะความตาย ความเดือดร้อนไม่มีทางทำให้ชนะ และไม่มีทางที่จะทำให้คนมีความสุขได้"
10ปีไฟใต้ชาวบ้านต้องช่วยตัวเอง
กับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมาถึง 10 ปีเต็ม น.ส.คอรีเยาะ หะหลี ชาวบ้านควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า 10ปีของความไม่สงบจนถึงวันนี้ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านเริ่มชินกับสถานการณ์ พอมีเสียงระเบิด เสียงปืนทุกคนก็ไม่ตกใจ ทำตัวปกติ เพราะมันเกินจะเยียวยา ตราบใดที่ทุกคนไม่ยอมถอยคนละก้าว ไม่ยอมมองอนาคตร่วมกันว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไร
"10ปีไฟใต้ ชาวบ้านได้บทเรียนมาก โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทำให้พวกเขามีความเข็มแข็งขึ้น บทเรียนที่เขาได้จากประสบการณ์ที่เขาเจอมาสอนให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างเข็มแข็ง หลายคนมีความเป็นผู้นำมากขึ้น"
ในสายตาของ คอรีเยาะ ซึ่งต้องสูญเสียบิดาไปในเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อ 28 เม.ย.48 เธอบอกว่า บางครั้งก็อดน้อยใจไม่ได้เพราะรัฐยังไม่เต็มที่กับปัญหาสามจังหวัด สิ่งสำคัญคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกจนถึงยังนี้ ส่วนใหญ่ยังสรุปไม่ได้ว่าใครเป็นคนทำ ซึ่งไม่ใช่รัฐบาล แต่รวมถึงองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ด้วย
"สิ่งที่ทุกคนต้องทำในปีนี้เพื่อให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางความรุนแรงนี้ได้ คือทุกคนต้องช่วยตัวเอง ทุกคนต้องปรับตัว ทุกคนต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำตัวเอง ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเอง เราจะมาคาดหวังอะไรกับใครไม่ได้แล้ว"
คอรีเยาะ ยอมรับด้วยว่า เคยคาดหวังกับการพูดคุยเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหา แต่ปรากฏว่า 1 ปีที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้า เพราะแต่ละฝ่ายยังไม่ยอมพูดความจริง
อย่าปล่อยให้ชินกับความรุนแรง
นายสมมาศ มะมุพิ กำนัน ต.ยะต๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา มองในมุมที่ต่างออกไปว่า เหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังมาตลอด 10 ปี แต่ว่าสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้มีความรู้สึกว่าดีขึ้น เหตุรุนแรงเกิดน้อยลง แม้จะยังมีอยู่ ยังไม่หมด แต่ก็ลดลง ฉะนั้นอยากให้คนในพื้นที่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
"สิ่งที่ถือว่าดีขึ้น คือเราได้รับโอกาสจากหน่วยงานหลักอย่าง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่ให้โอกาสกับบุคลากรและองค์กรท้องถิ่นมาก อย่างเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) สนับสนุนให้มีอำนาจ มีบทบาทในการทำงานในพื้นที่เพื่อความสันติสุขอย่างแท้จริง"
ในฐานะผู้นำในพื้นที่ เขาเห็นว่าตลอด 10 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบ ชาวบ้านแบ่งออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือส่วนหนึ่งมีความรู้สึกไม่ดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับอีกส่วนหนึ่งรู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้ สามารถทำงานได้อยู่ จุดนี้ทำให้เกิดความเคยชิน ทุกฝ่ายจึงต้องเร่งแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้สึกว่าชินกับคาวมรุนแรง
ใช้ความจริงใจ...ไฟใต้มอด
ด้าน นายมะยูกี (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไปอาศัยอยู่ในมาเลเซียนานนับสิบปี ตั้งความหวังว่า ปี 57 นี้จะกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่บ้านใน จ.นราธิวาส อีกครั้ง
"เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ช่วงแรกๆ ผมรู้สึกตกใจ เลยไม่กล้าอยู่บ้าน แม่บอกว่าต้องหนี เพราะอยู่ก็จะถูกเจ้าหน้าที่จับไปขัง แต่หลังๆ รู้สึกว่าหลายๆ อย่างเริ่มดีขึ้น ชาวบ้านยังอยู่กันได้ ครอบครัวยังอยู่ได้ 10 ปีที่ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกแล้วมองเข้ามาในพื้นที่ เห็นอะไรหลายอย่าง มีอะไรลึกๆ อยู่ที่เป็นเชื้อเติมไฟ แต่ถ้าถามว่าจะแก้ไขได้หรือไม่ ขอบอกว่าแก้ได้ไม่อยาก รัฐไม่ต้องทุ่มเงินอะไรมากมาย แค่มีความจริงใจ ใช้ใจในการแก้ปัญหา คืนความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน เชื่อว่าเวลาจะทำให้พื้นที่นี้สงบลงได้"
"ที่ผ่านมารัฐยังถือว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหา เพราะสิ่งที่รัฐทำคือโยนงบประมาณลงมา โยนคนที่หมดอำนาจจากที่อื่นมาล้างน้ำในพื้นที่ แล้วก็โกยผลประโยชน์กันไปเรื่อยๆ ความเดือดร้อนของชาวบ้านตาดำๆ ในพื้นที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย"
มะยูกี กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่อยากกลับบ้าน เพราะไปอยู่ข้างนอกแล้วก็ไม่ได้มีความสุข อยู่บ้านของเราเองเป็นสิ่งดีที่สุด จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้หมดไป
ทั้งหมดคือเสียงจริงจากประชาชนชายแดนใต้ที่ดูจะผิดหวังกับการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความรุนแรงยืดเยื้อ การพูดคุยเจรจา และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง!