ตั๋วพีเอ็น'ล้ม' รัฐวิสาหกิจผวาม็อบต้าน
คลังยกเลิกประมูลตั๋วพีเอ็น 2หมื่นล้านบาท รัฐวิสาหกิจเดียวเข้าร่วม เหตุกลัวแรงต้านม็อบ-สหภาพแรงงาน ส่งผลให้การประมูลไม่เกิดการแข่งขัน
รัฐบาลยังคงพยายามในการหาเงินมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาตามโครงการจำนำข้าวปีการผลิต 2556/2557 หลังจากมีความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย ว่ารัฐบาลรักษาการจะสามารถกู้เงินจำนวนมากมาใช้ในโครงการดังกล่าวได้หรือไม่ โดยแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งการเปิดประมูลเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ และการให้ธนาคารออมสินซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐ ปล่อยกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. เพื่อนำไปใช้ในโครงการจำนำข้าว เนื่องจากถูกกดดันจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แห่ถอนเงิน รวมถึงพนักงานของสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน
ล่าสุด วานนี้ กระทรวงการคลัง โดย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เปิดประมูลตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ ต้องยกเลิกการประมูลดังกล่าว เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจเข้าประมูล
"การประมูลพีเอ็นวานนี้ต้องยกเลิกไป เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพียงรายเดียวที่มายื่นประมูลพีเอ็น ซึ่ง สบน. เห็นว่า การประมูลครั้งนี้ไม่มีการแข่งขัน จึงเสนอให้ยกเลิก ส่วนจะเปิดประมูลครั้งใหม่ในสัปดาห์หรือไม่ ต้องไปพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้รับสัญญาณว่าสถาบันการเงินและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ไม่สนใจที่จะเข้ามาปล่อยกู้ให้กับรัฐบาล เพราะเกรงเรื่องความเสี่ยงด้านข้อกฎหมาย" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในระหว่างนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จำเป็นต้องใช้สภาพคล่องจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ทยอยชำระคืนให้ ธ.ก.ส.ทุกเดือน โดยล่าสุดวานนี้ (27 ก.พ.) มียอดชำระคืนจากกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 11,400 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส ได้ทยอยจ่ายให้แก่ชาวนาตามใบประทวนปี 2556/57
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการการประปานครหลวง (กปน.) ได้อนุมัติวงเงินลงทุนตั๋วพีเอ็นไว้ 1 พันล้านบาท เช่นเดียวกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ก็มีกระแสข่าวออกมาด้วยเช่นกันว่า บอร์ดได้เตรียมวงเงินให้กระทรวงการคลังกู้ 4 หมื่นล้านบาท รวมถึงบริษัททีโอทีด้วยแม้ว่าสหภาพแรงงานจะออกมาต่อต้านอย่างหนัก
ทั้งนี้ สบน. ได้ออกหนังสือถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเชิญให้เข้าร่วมประมูลตั๋วสัญญาใช้เงิน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท อายุ 8 เดือน ซึ่งมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย ขณะที่รัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยโดยให้ผู้เสนอประมูลยื่นข้อเสนอพร้อมด้วยสำเนา 1 ชุด ปิดผนึกถึงผู้จัดการ ธ.ก.ส. และส่งซองประมูลได้โดยตรงที่ สบน.ภายในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 27 ก.พ. 2557
สำหรับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุคงเหลือประมาณ 9 เดือน ในวันนี้ มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.35%
อย่างไรก็ตาม ตามแผนงานที่กำหนดไว้ กระทรวงการคลังจะจัดหาเงินให้ แก่ ธ.ก.ส. เพื่อนำมาใช้ในโครงการจำนำข้าว ภายในวันที่ 4 มี.ค. นี้
จีนยืนยันจะซื้อข้าว 1 ล้านตัน
ขณะที่แหล่งข่าวจากสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ยืนยันว่า รัฐบาลจีนยินดีจะซื้อข้าว 1 ล้านตันจากรัฐบาลไทย เป็นการขายตรงระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งจะเป็นไปตามการเซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่เซ็นกันช่วงที่ผู้นำจีนเดินทางมายังประเทศไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมา
“เราต้องการซื้อข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาไทย และเป็นการซื้อตามเอ็มโอยูที่นายกรัฐมนตรีจีนกับนายกรัฐมนตรีของไทยเซ็นสัญญากันไว้ว่า จีนจะซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน เป็นเวลา 5 ปี” แหล่งข่าวกล่าว
เมื่อถามถึงวันและเวลาที่จะลงนามซื้อขายกัน เขาตอบว่า น่าจะอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของฝ่ายรัฐบาลไทย ซึ่งคิดว่า รัฐบาลรักษาการไทยน่าจะไม่มีปัญหาด้านกฎหมายในการเซ็นสัญญาขายข้าวให้รัฐบาลจีน ส่วนราคาที่จะซื้อขายกันนั้น ยังไม่ทราบในรายละเอียด
ขณะที่ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งว่า จีนสนใจจะซื้อข้าวไทยปีละ 1 ล้านตัน เป็นเวลา 5 ปี ที่เคยตกลงกันไว้ ซึ่งนายสุรศักดิ์ คาดว่า อีก 2-3 วัน จะแถลงรายละเอียดเรื่องนี้อีก ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปการซื้อขาย
ธ.ก.ส.ตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนา
ด้าน นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากการที่ชาวนานำผลผลิตไปเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 กับรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับเงินทำให้ได้รับความเดือดร้อน กรณีดังกล่าวได้มีประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองเป็นหนี้บุญคุณชาวนา อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ โดยขอให้มีช่องทางส่งเงิน รวมถึงสร้างความมั่นใจในการบริหารจัดการเงินดังกล่าวว่า ไปถึงมือชาวนาผู้เดือดร้อนจริงๆ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเอื้ออาทร และเป็นความงดงามที่คนในสังคมไทยมีต่อกัน
ดังนั้น เพื่อให้ภาพเหล่านี้เกิดเป็นรูปธรรมในสังคม ธ.ก.ส.จึงได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนา โดยจะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคล ที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาในครั้งนี้ นำเงินมาสมทบไว้กับกองทุนช่วยเหลือชาวนา เพื่อที่จะให้กองทุนนำเงินดังกล่าวไปจ่ายให้ชาวนาต่อไป
การเข้าร่วมสมทบเงินกองทุนนี้ สามารถดำเนินการได้โดย 1.การบริจาคโดยโอนเข้าบัญชี "กองทุนช่วยเหลือชาวนา (เงินบริจาค)" ได้ตามจำนวนที่ผู้บริจาคประสงค์ 2. การสมทบเงิน "กองทุนช่วยเหลือชาวนา (แบบไม่มีผลตอบแทน)" โดยไม่จำกัดจำนวนเงินที่สมทบ แต่ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000 บาท และ 3.การสมทบเงิน "กองทุนช่วยเหลือชาวนา (แบบมีผลตอบแทน)" ซึ่งไม่จำกัดจำนวน แต่สมทบไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทเช่นกัน โดยกองทุนจะให้ผลตอบแทน 0.63% ต่อปี ซึ่งเงินที่สมทบตาม 2 และ 3 ธ.ก.ส.จะออกหลักฐานการรับเงินเรียกว่า "ใบสมทบกองทุน" ให้กับผู้สมทบเงินเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับเงินคืนตามเงื่อนไขเมื่อสิ้นสุดโครงการ
เขากล่าวว่า กองทุนดังกล่าวจะเริ่มเปิดรับเงินบริจาคและเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.-30 มิ.ย.นี้ และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธ.ค. นี้ ในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และเมื่อได้รับเงินกองทุนจะจัดสรรเงินดังกล่าวให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรตามมูลค่าข้าวเปลือกในใบประทวน โดยเรียงตามลำดับที่ขึ้นทะเบียนใบประทวนไว้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวจะแยกออกจากระบบปกติของธนาคาร
นายลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. จะนำงบประชาสัมพันธ์ของ ธ.ก.ส.จำนวน 10 ล้านบาท สมทบเข้าบัญชีกองทุนบริจาคที่ 1 และ จะนำเงินจากกองทุนต่างๆ ของ ธ.ก.ส. จำนวน 100 ล้านบาท สมทบในบัญชีกองทุนที่ 2
สำรับอัตราดอกเบี้ยจำนวน 0.63%ที่จ่ายแก่ผู้บริจาคเข้าบัญชีกองทุนที่ 3 ทาง ธ.ก.ส.จะได้ขอกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติใช้จากงบประมาณต่อไป
เขากล่าวอีกว่า ธ.ก.ส.ได้รับข่าวดีจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า ยอดเงินระบายข้าวที่จะจัดส่งมาให้นั้นดีขึ้น โดยยอดเดือนม.ค. 2557 อยู่ที่ 10,600 ล้านบาท ส่วนเดือนก.พ.อยู่ที่ 8,600 ล้านบาท