เสียงเงียบจากชายแดนใต้...เมื่อผู้หญิงถูกทำร้ายจากความรุนแรง
ในขณะที่สังคมไทยกำลังตื่นตะลึงกับสถานการณ์ความรุนแรงอันสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง จนทำให้มีผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อ ต้องสูญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบปัญหาความรุนแรงและความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า คือมากกว่า 10 ปีแล้ว มีบทเรียนที่น่าสนใจและน่าหยิบมาพิจารณาหลายประการ
ในรายงานสถานการณ์เด็กและผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2556 ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) และกลุ่มด้วยใจ ระบุตัวเลขความสูญเสียของผู้หญิงจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งเป็นพื้นที่ปรากฏปัญหาความมั่นคงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.47 จนถึงวันที่ 31 ต.ค.56 มีผู้หญิงเสียชีวิตไปแล้ว 404 ราย บาดเจ็บ 1,587 ราย
ทั้งนี้ การบาดเจ็บและเสียชีวิตคือ "ผลกระทบทางกาย" ที่เกิดกับผู้หญิงอย่างเห็นเด่นชัดที่สุดในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง คือ การเข้าไปอยู่ในพื้นที่เป้าหมายที่มีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง เช่น การลอบวางระเบิดในตลาด ซึ่งแม้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงโดยตรง คือคนร้ายมุ่งประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ แต่ผู้หญิงก็อาจโดนลูกหลง กลายเป็นเหยื่อได้ไม่ต่างจากเด็กและประชาชนผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยที่ผู้หญิงได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน หรือ อรบ. ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้จะได้รับการฝึกการใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัวเองและคนในชุมชน โดยพัฒนามาจากชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งค่อนข้างจำกัดเฉพาะผู้ชาย เมื่อผู้หญิงได้เป็น อรบ. ทำให้เธอสามารถทำหน้าที่ได้ไม่ต่างจากผู้ชายในหมู่บ้าน ทั้งการฝึกและการอยู่เวร ส่งผลให้รู้สึกว่าตนเข้มแข็งและสามารถดูแลตัวเองได้ ทว่าผลเชิงลบก็คือผู้หญิงเหล่านี้มักกลายเป็นเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงในที่สุด
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ยังมีผู้หญิงเข้าร่วมขบวนการต่อต้านรัฐ ซึ่งการเข้าร่วมผู้หญิงในพื้นที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการ โดยพวกเธอถูกกำหนดให้ทำหลายหน้าที่ เช่น การสำรวจเส้นทาง การเฝ้าระวังการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่รัฐ การจัดเตรียมอาหาร การรักษาพยาบาล การให้ที่พักพิง การจัดหาเงินทุน การสร้างมวลชน การเยียวยาครอบครัวสมาชิกที่สูญเสีย เป็นต้น ซึ่งแต่ละบทบาทล้วนส่งเสริมให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพอย่างมาก แต่นั่นก็ทำให้ผู้หญิงตกเป็นอันตราย หรือมีโอกาสถูกจับกุมเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเช่นกัน
ที่ผ่านมามีกรณีที่ผู้หญิงถูกดำเนินคดีความมั่นคงจำนวนไม่น้อย เช่น มีผู้หญิง 20 คนถูกจับกุมในคดีกรุ้มรุมทำร้ายครูจูหลิง ปงกันมูล จนเสียชีวิต และต่อมาศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 4-6 ปีกับจำเลยที่เป็นผู้หญิง 4 คน หรือที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา มีผู้หญิงถูกดำเนินคดีความมั่นคงจากการพบปืนที่บ้านของเธอ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมตรวจค้น เพราะต้องการจับกุมสามีของเธอ แต่เมื่อคดีถึงศาล ปรากฏว่าศาลยกฟ้อง เป็นต้น
ส่วน "ผลกระทบทางจิตใจ" มาจากปัจจัยอันหลากหลาย ทั้งการตกเป็นเหยื่อเสียเอง การต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัวแทน หลังจากสามีถูกจับกุมดำเนินคดีความมั่นคง หรือเสียชีวิต
นอกจากนั้นยังมีผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดกับผู้หญิง เช่น ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามโดยการปิดล้อมตรวจค้นเคหะสถานบ่อยครั้ง, มีความวิตกกังวลว่าคนในครอบครัวจะถูกทำร้าย, ต้องตกเป็นหม้ายและเลี้ยงลูกที่กลายเป็นกำพร้า เป็นต้น ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะทางจิตใจ แต่หลายเรื่องส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า เครียด และวิตกกังวลสูง ทั้งนี้รวมถึงผู้หญิงที่มีสามีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เพราะมีความกังวลถึงความปลอดภัยของสามีเช่นกัน
สำหรับอุปสรรคปัญหาที่ทำให้ความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงไม่บรรเทาเบาบางลง หรือยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีพอ ได้แก่
1.ทุกฝ่ายไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อผู้หญิงอย่างจริงจัง มองเพียงว่าผู้หญิงที่ได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตเป็นเพียงเพราะถูกลูกหลง
2.การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีอาวุธทำให้มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมายโดยตรง และเป็นการส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
3.ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนมลายูมุสลิมกับรัฐมีน้อย
4.ภาษาที่แตกต่างกันทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด หรือเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เท่าที่ควร
5.การบังคับใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้กำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติต่อผู้หญิงไว้เป็นการเฉพาะ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติเหมือนกรณีทั่วไปที่ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเป็นผู้ชาย และไม่ได้เตรียมการสำหรับรองรับผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นผู้หญิงอย่างดีพอ
6.ฝ่ายความมั่นคงดำเนินมาตรการต่างๆ ภายใต้หลักคิดที่ว่าผู้หญิงไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง
7.ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปัตตานีไม่ได้คำนึงถึงผลจากการกระทำที่เกิดกับผู้หญิง
ขณะที่ประเด็นท้าทายในการปกป้องผู้หญิงจากการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงโดยตรง ได้แก่
1.หลายๆ เหตุการณ์ การเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้หญิงเป็นผลมาจากการใช้ระเบิดในที่สาธารณะ ดังนั้นความท้าทายนี้คือการหยุดการใช้ระเบิดและการก่อเหตุในที่สาธารณะได้อย่างไร
2.มีเหตุรุนแรงที่ผู้หญิงตกเป็นเป้าหมายโดยตรง การป้องกันมิให้ผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง จะดำเนินการได้อย่างไร ต้องลดเงื่อนไขตรงจุดไหนบ้าง
แต่ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายอย่างไร ย่อมเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันเพื่อลดความสูญเสียของเป้าหมายอ่อนแออย่างผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะในความขัดแย้งทางความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป้าหมายเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย...
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ