ธ.ก.ส.ตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำข้าว
ธ.ก.ส. ตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำข้าว ร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุน 10 มีนาคม- 31 ธันวาคม 2557 ตั้งเป้า 20,000 ล้านบาท ‘ลักษณ์’ ระบุล่าสุด จ่ายหนี้แล้ว 6.7 หมื่นล้านบ. จากทั้งหมด 1.3 หมื่นล้านบ.
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ชาวนานำผลผลิตไปเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 กับรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับเงินทำให้ได้รับความเดือดร้อน กรณีดังกล่าวได้มีประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองเป็นหนี้บุญคุณชาวนา อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ โดยขอให้มีช่องทางในการส่งเงิน รวมถึงสร้างความมั่นใจในการบริหารจัดการเงินดังกล่าวว่า ไปถึงมือชาวนาผู้เดือดร้อนจริง ๆ
ซึ่งน้ำใจเหล่านี้คือการแสดงออกถึงความเอื้ออาทรและเป็นความงดงามที่คนในสังคมไทยมีต่อกัน ดังนั้นเพื่อให้ภาพเหล่านี้เกิดเป็นรูปธรรมในสังคม ธ.ก.ส.จึงได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนา โดยจะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคล ที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาในครั้งนี้ นำเงินมาสมทบไว้กับกองทูฯช่วยเหลือชาวนา เพื่อที่จะให้กองทุนนำเงินดังกล่าวไปจ่ายให้ชาวนาต่อไป
ผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการสมทบกองทุนได้โดย 1. การบริจาคโดยโอนเข้าบัญชี “กองทุนช่วยเหลือชาวนา (เงินบริจาค)” ได้ตามจำนวนที่ผู้บริจาคประสงค์ 2. การสมทบเงิน “กองทุนช่วยเหลือชาวนา (แบบไม่มีผลตอบแทน)” โดยไม่จำกัดจำนวนเงินที่สมทบ แต่ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000 บาท และ 3. การสมทบเงิน “กองทุนช่วยเหลือชาวนา (แบบมีผลตอบแทน)” ซึ่งไม่จำกัดจำนวน แต่สมทบไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทเช่นกัน โดยกองทุนจะให้ผลตอบแทนร้อยละ 0.63 ต่อปี
ซึ่งเงินที่สมทบตามข้อ 2 และ 3 ธ.ก.ส.จะออกหลักฐานการรับเงินเรียกว่า “ใบสมทบกองทุน”ให้กับผู้สมทบเงินเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับเงินคืนตามเงื่อนไขเมื่อสิ้นสุดโครงการ โดยกองทุนจะเริ่มเปิดรับเงินบริจาคและเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2557 และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และเมื่อได้รับเงิน กองทุนจะจัดสรรเงินดังกล่าวให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรตามมูลค่าข้าวเปลือกในใบประทวน โดยเรียงตามลำดับที่ขึ้นทะเบียนใบประทวนไว้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวจะแยกออกจากระบบปกติของธนาคาร
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า ธ.ก.ส. จะทำหน้าที่บริหารกองทุน ภายใต้คณะกรรมการบริหารกองทุนจำนวนไม่เกิน 7 คน โดยมีผู้จัดการ ธ.ก.ส.เป็นประธาน มีการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานสากล และการรายงานผลการดำเนินงาน สถานะกองทุนให้สาธารณชนได้รับทราบ โดย ธ.ก.ส.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการทั้งหมด และจะส่งเงินคืนให้ผู้สมทบเมื่อ ธ.ก.ส.ได้รับเงินจากการระบายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมาชำระหนี้คืนและหรือจากเงินที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้ภายใน 31 ธันวาคม 2557 ทั้งนี้กองทุนสงวนสิทธิ์ในการคืนเงินสมทบก่อนครบกำหนด เมื่อสิ้นสุดโครงการและมีการชำระบัญชีตามโครงการเสร็จสิ้น กรณีมีเงินเหลือกองทุนจะนำเงินทั้งหมดไปบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรต่อไป
“พี่น้องชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว ธ.ก.ส ได้ยืดเวลาการชำระหนี้เดิมที่ชาวนามีอยู่กับ ธ.ก.ส. ไปอีก 6 เดือน และสนับสนุนเงินกู้เพื่อนำไปลงทุนทำการผลิตในฤดูกาลใหม่ หรือค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่จำเป็นในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี หรือร้อยละ 0.583 ต่อเดือน เพื่อลดปัญหาการไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ย ในอัตราสูงและเป็นภาระหนัก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยสามารถติดต่อที่ ธ.ก.ส.ใกล้บ้านทุกสาขา ส่วนเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้สถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส.จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือผ่านระบบของสหกรณ์นั้น ๆ ต่อไป” ผู้จัดการธ.ก.ส. ระบุ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ณ วันที่ 27 ก.พ. 2557 ธ.ก.ส. ได้ทยอยจ่ายเงินดังกล่าวให้เกษตรกรไปแล้ว 67,543 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 4.17 ล้านตัน เกษตรกร 546,780 ราย คงเหลือเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 112,000 ล้านบาท ปริมาณข้าวประมาณ 6.7 ล้านตัน เกษตรกรประมาณ 900,000 ราย .