เปิดรายงานสถานการณ์เด็กชายแดนใต้ กับ 8 ข้อเสนอป้องกันตกเป็นเหยื่อรุนแรง
เหตุรุนแรงที่เกิดกับเด็กโดยตรง หรือมีเด็กได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะถูก "ลูกหลง" ในสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งหลายคนเรียกว่า "สถานการณ์สงคราม" นั้น ปรากฏถี่ขึ้นและมีความสูญเสียมากขึ้นอย่างน่าตกใจ
ข้อมูลจาก "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ระบุว่า ชั่วระยะเวลาเพียง 2 เดือน คือ เดือน ธ.ค.56 ถึงสิ้นเดือน ม.ค.56 มีเหตุรุนแรงที่เด็กได้รับผลกระทบ ทั้งถูกลูกหลง จงใจฆ่าเด็ก และการก่อเหตุรุนแรงบริเวณสถานศึกษาซึ่งสุ่มเสี่ยงที่เด็กจะตกเป็นเหยื่อ มากถึง 9 เหตุการณ์ ทำให้มีเด็กเสียชีวิตถึง 5 คน บาดเจ็บ 3 คน
ข้ามมาถึงเดือน ก.พ. เกิดเหตุคนร้ายบุกยิงยกครัว "ครอบครัวมะมัน" ที่บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้เด็กชายสามพี่น้องเสียชีวิตทั้งหมด โดยเหยื่ออายุเพียง 11 ปี 9 ปี และ 6 ปี หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 13 ก.พ. เกิดเหตุคนร้ายกราดยิงชาวบ้านขณะกำลังใส่บาตรที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ทำให้เด็กชายวัย 9 ขวบเสียชีวิตไปอีก 1 คน เด็กหญิงอายุ 11 ขวบได้รับบาดเจ็บ โดยทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน
ที่น่าตกใจคือ ข้อมูลจากคำสัมภาษณ์ผู้ที่ทำงานด้านเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง ศุภวรรณ พึ่งรัศมี ประธานธาดานุสรณ์ องค์กรแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวจังหวัดชายแดนใต้ สะท้อนปัญหาว่า ในพื้นที่ขณะนี้จะเห็นได้ว่ามีข่าวเด็กได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเยอะมาก แต่กลับไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานไหนลงมาทำงานเรื่องเด็กโดยตรงเลย ไม่มีแม้กระทั่งการจัดเก็บข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเลขเด็กที่ได้รับผลกระทบจนถึงขณะนี้มีเท่าไร
"ทุกคนรู้ว่ามีเด็กที่ประสบปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ การวางตัวในสังคม เพราะอย่าลืมว่าเด็กที่ประสบความรุนแรง จะมีปัญหาพอสมควร โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ สมาธิ จากเด็กที่ตั้งใจเรียนเมื่อพบความรุนแรงจะกลายเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนเลย" เป็นข้อมูลจาก ศุภวรรณ ที่ให้สัมภาษณ์ศูนย์อิศราเมื่อ 14 ธ.ค.56
10 ปีไฟใต้เด็กตาย 62 เจ็บร่วม 400
ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว ล่าสุดจึงมีความพยายามขององค์กรภาคประชาสังคม นำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) และกลุ่มด้วยใจ ได้จัดทำรายงานชื่อ "สถานการณ์เด็กและผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2556" เพื่อศึกษาสถานการณ์ของเด็กและผู้หญิงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา
กล่าวเฉพาะสถานการณ์เด็กชายแดนใต้ รายงานฉบับดังกล่าวอ้างสถิติตัวเลขว่า ตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 31 ต.ค.2556 มีเด็กเสียชีวิตจากความรุนแรงทางอาวุธจำนวน 62 คน บาดเจ็บ 374 คน ทั้งยังพบว่าเด็กจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเป้าหมายของการก่อความรุนแรงด้วยอาวุธไปโดยปริยาย เนื่องจากเด็กเหล่านั้นใช้ชีวิตประจำวันใกล้บริเวณที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการก่อเหตุรุนแรง
กำพร้าครึ่งหมื่น-พิการเพียบ
สำหรับผลของความรุนแรงที่เด็กได้รับ ซึ่งเกิดจากการกระทำของทั้งสองฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างความชอบธรรมในการปกป้องประเทศ กับกลุ่มที่อ้างความชอบธรรมในการกอบกู้เอกราช มีทั้งผลทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ
ผลกระทบทางตรง ได้แก่ เด็กจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือพิการ เด็กจำนวนมากสูญเสียสมาชิกในครอบครัวที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุรุนแรง หรือต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าทันทีหลังบุคคลอันเป็นบุพการีต้องเสียชีวิตจากการก่อเหตุ หรือต้องถูกรัฐคุมขังจากการต้องเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
"เด็กที่รอดชีวิตจากการระเบิด อาจต้องใช้เวลา 10 ปีในการรอคอยแขนหรือขาเทียม เด็กบางรายต้องสูญเสียดวงตา และบางรายต้องใช้ชีวิตด้วยเครื่องช่วยหายใจ" รายงานระบุตอนหนึ่ง และว่าเด็กที่รอดชีวิตที่กลายเป็นคนพิการ ยังทำให้สูญเสียโอกาสในการเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนร่วมกับเด็กปกติ รวมถึงการชีวิตในสังคมในระยะยาวหลังสงครามจบสิ้นลง
สำหรับตัวเลขเด็กกำพร้าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลานั้น ศูนย์ข่าวอิศรารายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 11 ม.ค.57 โดยอ้างข้อมูลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปรากฏว่า จ.ปัตตานี มีเด็กกำพร้าทั้งสิ้น 2,130 คน จ.ยะลา 1,225 คน จ.นราธิวาส 1,918 คน และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 175 คน รวมทุกพื้นที่ 5,448 คน โดยทั้้งหมดเป็นเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบ
ผลกระทบทางอ้อม ส่วนใหญ่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น ความเครียด งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า เด็กและวัยรุ่นในภาวะสงครามและการก่อการร้าย ไม่เพียงแต่ถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังมีอาการซึมเศร้า อีกทั้งการตกอยู่ในภาวะสงครามหรือการก่อการร้ายทำให้ขาดการขัดเกลาทางสังคมและมนุษยธรรม สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สุขภาวะด้านบวกต่างๆ ในชีวิต ส่งผลทำให้เด็กรู้สึกยอมรับความรุนแรงและนิยมการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ทำให้วงจรของความรุนแรงดำเนินและเติบโตต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากนี้ ยังมีความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ กล่าวคือเด็กที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายและหวาดกลัวในระหว่างความขัดแย้งที่รุนแรง ประสบการณ์เหล่านี้จะส่งผลให้มีอาการบาดเจ็บทางจิตใจอย่างร้ายแรงจากประสบการณ์ที่เลวร้าย การสูญเสียอย่างรุนแรง และมีชีวิตที่ไม่ปกติ นำไปสู่อัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลที่สูงขึ้น ผลกระทบนี้อาจจะใช้เวลายาวนานกว่าจะแสดงอาการออกมา
เข้าสู่วงจรรุนแรง "ทหาร-กลุ่มป่วนใต้"
เด็กที่เติบโตมาในสภาวะการใช้ความรุนแรง จะผลักดันให้เด็กเลือกใช้วิธีการรุนแรงแสดงออกถึงความโกรธแค้นในใจ รวมไปถึงการเข้าร่วมเป็นทหารทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการปลดปล่อยปัตตานีเพื่อต้องการแก้แค้นให้กับบุคคลในครอบครัว
จากการสัมภาษณ์สมาชิกขบวนการปลดปล่อยปัตตานีเมื่อวันที่ 7 พ.ย.56 พบว่าการสูญเสียบุคคลในครอบครัว การอยู่ในพื้นที่ความรุนแรง ทำให้เด็กมีความต้องการปกป้องตนเองและบุคคลในครอบครัว โดยการเข้าร่วมต่อสู้กับขบวนการปลดปล่อยปัตตานี ทั้งนี้เด็กจะได้รับมอบหมายในการดูต้นทาง ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จัดหาอุปกรณ์สำหรับทำระเบิด เป็นต้น
ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ ที่มีบันทึกอยู่ในรายงานฯ ก็เช่น กรณีข่มขืนหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ที่ผ่านมามีปรากฏเป็นข่าวสาธารณะ 1 กรณี เมื่อปี 55 โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิด แต่เชื่อว่ายังมีกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณี แต่ผู้เสียหาย ครอบครัว และชุมชนไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือไม่ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐและชุมชน
ทั้งนี้ ผลจากการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศมีหลายประการ ได้แก่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การไม่สามารถมีบุตรได้ การบาดเจ็บสาหัส และผลกระทบทางจิตใจ
นอกจากนั้นยังมีกรณีทหารเด็ก อ้างจากรายงานของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เมื่อปี 54 พบว่ามีการใช้เด็กเป็นเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งมีหน้าที่คือการปกป้องหมู่บ้านจากภัยอันตรายต่างๆ ที่รวมถึงการโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธด้วย ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารในการระบุตัวผู้ต้องสงสัย บางครั้งยังต้องเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารหรือเข้าร่วมการลาดตระเวนกับทหารในปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลยืนยันว่าปัจจุบันปัญหานี้ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะสมัครเข้าเป็น ชรบ.หรือทหารพรานว่าต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
กฎหมายพิเศษละเมิดสิทธิ "เด็ก"
ผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ ในการจับกุม ซักถาม และควบคุมตัว ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือน มี.ค.54 ของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ พบว่าตั้งแต่ปี 48-52 มีเด็ก 79-115 คนถูกกักขังตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยคุมขังที่ศูนย์พิทักษ์สันติ (ศูนย์ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ตั้งอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่ภายหลังจากปี 52 ไม่มีเด็กถูกจับกุมอีกเลย
อย่างไรก็ดี รายงานฯยังระบุถึงข้อกังวลต่อการใช้กฎหมายพิเศษที่อาจละเมิดสิทธิเด็ก ได้แก่
1.การจับกุมในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งให้ผู้ปกครองทราบอย่างชัดเจนในเรื่องสถานที่ที่ควบคุมตัว เป็นเหตุให้ทางครอบครัวของเด็กมีความกังวลใจ
2.การควบคุมตัวยังมีข้อห่วงกังวลเรื่องสถานที่ควบคุมตัวเด็กที่อยู่ในค่ายทหาร หรือตำรวจ ซึ่งมีการให้อยู่คนเดียวในห้องแคบๆ
3.การซักถาม จะซักถามโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ไม่มีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ ผู้ปกครอง ทนายความ อัยการ เข้าร่วมในการซักถาม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่าเป็นการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่การควบคุมตัวภายใต้กฎหมายอาญาทั่วไป จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534
4.อำนาจในการปฏิบัติการภายใต้กฎอัยการศึก คือ เจ้าหน้าที่ทหารยศพันเอก การปฏิบัติขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ปฎิบัติ ไม่มีได้มีระเบียบแบบแผนเป็นมาตรฐาน เพราะในกรณีการควบคุมตัวเด็กมีน้อยราย และทางแม่ทัพภาคที่ 4 จะเป็นผู้ออกคำแนะนำ ทั้งนี้ ในปี 56 มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 300 คน ในจำนวนนี้มีเด็กเพียง 6 คนเท่านั้น ซึ่งจากการซักถามตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่ามีความเกี่ยวข้องในการดูต้นทาง 3 คนและเกี่ยวข้องกับการวางระเบิด 3 คน
4 อุปสรรคกับ 8 ข้อเสนอ
รายงานสถานการณ์เด็กและผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้ฯ ยังค้นพบอุปสรรคที่ส่งผลต่อเด็กและปกป้องเด็ก ได้แก่
1.ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนมลายูมุสลิมกับรัฐมีน้อย จึงทำให้เสี่ยงต่อความเข้าใจผิดในทุกๆ ด้าน และง่ายต่อการถูกชักชวนเข้าร่วมในการใช้ความรุนแรง
2.การบังคับใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้กำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติต่อเด็ก
3.ฝ่ายความมั่นคงดำเนินมาตรการต่างๆ ภายใต้หลักคิดที่ว่าเด็กไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง จึงทำให้ละเลยต่อการใส่ใจในวิธีปฏิบัติที่สามารถปกป้องเด็กได้
4.ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปัตตานีไม่ได้คำนึงถึงผลจากการกระทำที่ส่งผลต่อเด็กโดยตรง เช่น การวางระเบิดในที่สาธารณะ เป็นต้น
รายงานฉบับเดียวกันยังเสนอแนวทางการป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ ดังนี้
1.ควบคุมและตรวจตราการมีอาวุธไว้ในครอบครองของประชาชนอย่างเข้มงวด เพื่อพยายามสกัดกั้น ป้องกันการใช้อาวุธในแหล่งชุมชน
2.รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลสิ่งผิดปกติเพื่อสกัดกั้นอาวุธหรือวัตถุที่อาจเป็นระเบิดที่ใช้ก่อเหตุรุนแรง
3.การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ควรรัดกุม รอบคอบ และระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน
4.ไม่ชักชวนชี้นำเด็กและผู้หญิงในการจับอาวุธ
รายงานดังกล่าวยังมีข้อเรียกร้องถึงผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายว่า
1. ขอให้กำหนดเป้าหมายที่มิใช่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ที่ไม่มีอาวุธ เพื่อให้การต่อสู้นั้นเป็นไปตามหลักสากลในการต่อสู้ในภาวะสงคราม และทุกฝ่ายควรเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน
2.ขอให้ระมัดระวังมิให้การก่อเหตุนั้นกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือใช้การต่อสู้ในเชิงสันติวิธี หรือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์
3.ขอให้การต่อสู้ไม่ไปกระทบต่อสิทธิเด็กและผู้หญิง
4.ไม่ชักชวนชี้นำเด็กและผู้หญิงในการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาหรือป้องกันตนเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ปกรายงานสถานการณ์เด็กและผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2556 ฉบับเผยแพร่ทางออนไลน์