หนุน อปท. สร้าง ‘นักพัฒนาครอบครัว’ เสริมความอบอุ่น-เข้มแข็ง
4 องค์กร หนุน อปท. สร้าง “นักพัฒนาครอบครัว” ยุทธศาสตร์เสริมพลังให้ครอบครัวไทย กลับมาอบอุ่น เข้มแข็ง เพื่อสังคมและประเทศชาติ ก่อนที่สถาบันครอบครัวจะสูญสลาย
เร็วๆ นี้ ที่โรงแรมแจ๊สโซเทล กรุงเทพฯ สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมหลักสูตรครอบครัวศึกษาสำหรับนักพัฒนาครอบครัว รุ่นที่ 1/2557 เฉพาะกลุ่มของ อปท. จำนวน 35 แห่ง
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาคนทำงานด้านครอบครัวให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในระดับพื้นที่ โดยการทำหน้าที่นักพัฒนาครอบครัว ขับเคลื่อนงานครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สถาบันครอบครัวไทยมีความอบอุ่นร่มเย็น เข้มแข็ง ส่งผลให้สังคมตลอดประเทศชาติมีความมั่นคงก้าวหน้ายิ่งขึ้น
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนยอมรับว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่มีกระบวนการทำงานครอบครัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ที่ผ่านมาเรื่องครอบครัวจะถูกฝากไว้กับเรื่องเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ดังนั้น สมาคมครอบครัวศึกษาฯ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย และนักวิชาการด้านครอบครัวมาหารือร่วมกันและเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันกระบวนการพัฒนาครอบครัวและต้องสร้าง “นักพัฒนาครอบครัว” ที่จะทำหน้าที่ทั้งช่วยเฝ้าระวังครอบครัวที่จะเกิดปัญหา เข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาหรือวิกฤติต่างๆ ในครอบครัว และเสริมแรงให้กับครอบครัวที่เข้มแข็งให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างจริงจัง จึงคิดและพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวขึ้น
ซึ่งได้ทดลองใช้กับเครือข่ายแกนนำครอบครัวและครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวในพื้นที่ต่างๆ กว่า 3 ปีจึงออกมาเป็นหลักสูตรครอบครัวศึกษาสำหรับนักพัฒนาครอบครัว และด้วยเหตุนี้ ทาง อปท.ซึ่งมีบทบาทตรงกับการทำงานเพื่อท้องถิ่นและสัมผัสกับครอบครัวโดยตรง จึงได้ขอเข้ามาร่วมโดยให้สมาคมฯ จัดอบรมหลักสูตรดังกล่าวให้
เลขาฯ สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า หลักสูตรครอบครัวศึกษาสำหรับนักพัฒนาครอบครัว จะช่วยเสริมศักยภาพคนทำงานด้านครอบครัว 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความรู้ความเข้าใจในมิติต่างๆ ของครอบครัวอย่างรอบด้าน 2.ทักษะในการทำงาน สามารถประเมินได้ว่าจะมีวิธีการหรือกระบวนการอะไรที่จะลงไปทำงานกับครอบครัวนั้นๆ ซึ่งต้องจับสัญญาณได้ทั้งสัญญาณอันตรายและสัญญาณเข้มแข็ง และ 3.จิตใจที่มุ่งมั่นสามารถเสริมแรงครอบครัวได้
“ สิ่งที่น่าเป็นห่วงด้วยระบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันถูกกระชากวิญญาณความเป็นครอบครัวออกไปเรื่อยๆ เด็กยิ่งโตก็อยู่กับพ่อ แม่ น้อยลง เพราะการเรียนที่ห่างไกลจากชุมชน ทำให้พลังของความเป็นครอบครัวค่อยๆ ลดลงไป จนเกิดคำถามว่าทำไมต้องมาเสริมพลัง รักษาความเป็นครอบครัวไว้ ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกคนก็ยังเห็นครอบครัวสำคัญที่สุด แต่หลายโครงการ กิจกรรม เราทำงานกับตัวคนทุกช่วงอายุ ซึ่งก็มาจากครอบครัว แต่ไม่มีใครทำงานเรื่องการเสริมพลังครอบครัวเลย”
ดังนั้น วิธีแก้ไขคือการจัดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับครอบครัว เพิ่มทักษะในการจัดการกับปัญหาเพื่อรักษาความเป็นครอบครัวของแต่ละชุมชนไว้ ซึ่งคนที่ดูแลครอบครัวได้ดีที่สุดคือคนในชุมชน ทั้งนี้ บทบาทชุมชนในการพัฒนาครอบครัวต่อการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง คือ 1.สร้างกระบวนการส่งเสริมครอบครัวในชุมชนเติบโตเข้มแข็ง 2.ดูแลครอบครัวที่ยากลำบาก 3.ดูแลทุกข์สุข 4.สร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในครอบครัวของพื้นที่
“หัวใจของความเป็นครอบครัวที่สำคัญมากที่สุดคือ ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นตัวช่วยให้สถาบันครอบครัวไทยมีความมอบอุ่นร่มเย็น เข้มแข็ง ส่งผลให้สังคม ตลอดจนประเทศชาติมีความมั่นคงก้าวหน้า ยั่งยืน ส่วนกลไกพื้นฐานการทำงานด้านครอบครัว คือต้องมีฐานข้อมูลเพียงพอ มีความเข้าใจ ถึงจะสามารถลงไปดูแลกลุ่มคนที่มีปัญหาได้ เช่น แม่วัยใส คนสูงอายุ ที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของคนในครอบครัว จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดกระบวนการที่ต่อเนื่อง สนุก สร้างพลัง” พญ.พรรณพิมล กล่าว
ด้านดร.อัจฉรา วงษ์เอก ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า อปท.และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ความสำคัญเรื่องครอบครัวเป็นอย่างมาก โดยกำหนดในแผนยุทธศาสตร์ปี 2558 ดังนั้น การอบรมครั้งนี้ อปท.ต้องการให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบมีหลักการ มีข้อมูลที่จำเป็นเพื่อเข้าไปสื่อสาร เสริมแรงครอบครัว และหยุดมองปัญหาเรื่องจำนวนคนทำงานและงบประมาณว่าเป็นอุปสรรค แต่ควรมองไปที่เครือข่าย กลุ่มคนทำงาน ข้าราชการเกษียณ คนที่ต้องการทำงานเพื่อสังคม ถือเป็นการบริหารงานภายใต้ภาวะจำกัด เพราะนักพัฒนาชุมชนต้องเข้าถึงพื้นที่ ทำงานอย่างเป็นระบบมีหลักการ ใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง มองปัญหาในพื้นที่ให้ออก สื่อสารให้เข้าใจ จึงต้องมีการขยายและทดลองหลักสูตร เนื่องจากเรื่องครอบครัวต้องทำเป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งทุก อปท.สามารถตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวขึ้นมาเองได้ เพียงมีผู้รับผิดชอบ สนับสนุนทรัพยากร ก็จะเกิดครอบครัวเข้มแข็งขึ้นมาได้
ขณะที่นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส.กล่าวว่า การดำเนินงานด้านครอบครัวได้เดินมาถูกทางแล้ว ดีใจที่เห็นนักพัฒนาชุมชน ผู้บริหารของ อปท.ให้ความสนใจเรียนรู้การเป็นนักพัฒนาครอบครัวขณะนี้ ถ้าต้องการให้เรื่องครอบครัวเกิดความสำเร็จต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น สร้างนักพัฒนาครอบครัวที่มีบทบาทกล้าดำเนินงาน เพราะโดยองค์รวมงานพัฒนา งานสังคมต่างๆ ต้องลงมาสู่นักพัฒนาครอบครัวเป็นหลักที่จะตอบงานพัฒนาทั้งหมด ฉะนั้น การจะเคลื่อนทัพพัฒนางานด้านครอบครัว นักพัฒนาครอบครัวในพื้นที่คือคนที่จะขับเคลื่อนได้ดีที่สุด จึงคาดหวังอยากเห็นเครือข่ายที่อยู่ในท้องถิ่นมาร่วมกันแก้ปัญหาและสะท้อนปัญหานั่นจะทำให้เกิดครอบครัวอบอุ่นและเข้มแข็ง