เหตุผล“สุรนันทน์ vs สตง."จ่ายเงิน"มติชน-สยามสปอร์ต”จัดอีเวนต์240 ล.?
ฟังชัดๆ เหตุผล “สุรนันทน์VS สตง.” ควรหรือไม่ควรจ่ายเงินจ้าง "มติชน-สยามสปอร์ต” จัดอีเวนต์ 240 ล. พีอาร์ โรดโชว์สร้างอนาคตประเทศ "ไทยแลนด์ 2020"
จากกรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร0405 (ลน)/ 0065 ถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ 2020 ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีข้อเสนอแนะขอให้พิจารณาทบทวนการใช้จ่ายเงิน ว่าจ้างบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) รวมวงเงินทั้งสิ้น 240 ล้านบาท เพื่อจัดงานนี้ ทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 จังหวัด ว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
พร้อมระบุว่า "ในส่วนร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ.....จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็จะพิจารณาทบทวนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ขั้นตอนของงานและกระบวนการส่วนอื่นที่ดำเนินการตามนโยบายก็ล้วนแต่ให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องตามวัตถุประสงค์และจำเป็นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ"
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งถึง สลน. เพื่อขอให้ทบทวนการจ่ายเงินว่าจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้กับบริษัทเอกชนทั้งสองรายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานประชาสัมพันธ์ดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ปรากฎผลชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาหรือไม่
นอกจากนี้ กระบวนการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงานนี้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น โดยเฉพาะการสืบราคางานจากบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว จึงขอให้ สลน.ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกระบวนการขั้นตอนการดำเนินงานในชั้นนี้ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น และร่วมกันพิจารณาว่าเหตุผลของฝ่ายใด มีน้ำหนักมากกว่ากัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงได้นำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 2 ฉบับมาเผยแพร่ ณ ที่นี้
โดยหนังสือฉบับแรก เป็นหนังสือที่ สตง. ที่ทำถึง สลน.
ระบุสาระสำคัญ ว่า ได้ติดตามตรวจสอบความคืบหน้าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 พบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่โปร่งใส และไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการประชาสัมพันธ์ของโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ
“สตง. พิจารณาแล้วมีความกังวล และห่วงใยต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ 240 ล้านบาท โดยเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะไม่เกิดประสิทธิภาพหรืออาจจะเกิดความสูญเปล่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่าอันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน และอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายของการประชาสัมพันธ์โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงมิให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจำนวนมากจึงมีข้อเสนอแนะให้ สลน. ได้โปรดพิจารณาทบทวนการใช้จ่ายเงินเพื่อจัดโครงการดังกล่าว เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป”
(อ่านรายละเอียดในหนังสือประกอบ)
ขณะที่หนังสือฉบับที่ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อยืนยันว่า ไม่สามารถทบทวนการจัดงานได้
มีสาระสำคัญอยู่ที่ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การจัดงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิบัติงานตามนโยบายที่แถลงไว้
" ในส่วนร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ.....จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็จะพิจารณาทบทวนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ขั้นตอนของงานและกระบวนการส่วนอื่นที่ดำเนินการตามนโยบายก็ล้วนแต่ให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องตามวัตถุประสงค์และจำเป็นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ"
(ดูรายละเอียดในหนังสือประกอบ)
คำถามที่น่าสนใจ คือ ระหว่าง "นายสุรนันทน์" ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ในการใช้จ่ายเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
กับ "สตง." ในฐานะตัวแทน ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเช่นกัน
เหตุผล "ฝ่ายใด" มีน้ำหนัก และ ถูกต้องมากกว่ากัน?