กังขา "ซัมซามิน" ช่วยพีอาร์หรือตบหน้าไทย
บทบาทของ ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน อาชิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่กำลังเดินสายให้สัมภาษณ์ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศโดยอ้างวาระ 1 ปีพูดคุยสันติภาพ ท่ามกลางบรรยากาศที่ขบวนการบีอาร์เอ็น แกนหลักบนโต๊ะเจรจาฝ่ายผู้เห็นต่าง ประกาศชัดก่อนหน้านี้ว่าไม่ร่วมวงด้วยแล้ว ขณะที่ฝ่ายไทยเองก็มีปัญหาการเมืองภายใน ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะรักษาอำนาจไว้ได้หรือไม่
การแสดงบทบาทบนความไม่แน่นอนเหล่านี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยประเมินจังหวะก้าวของ ดาโต๊ะซัมซามิน และมาเลเซียอย่างไม่ค่อยวางใจนัก
สุรชาติ : มาเลย์พีอาร์สร้างภาพ
ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ดาโต๊ะซัมซามินอาจต้องการแสดงบทบาทเพื่อช่วยประคองสถานการณ์ของรัฐบาลไทยกับการเจรจาสันติภาพ เพราะถูกวิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่เปิดวงพูดคุยเมื่อ 28 ก.พ.56 ว่าไม่เห็นแนวโน้มความรุนแรงที่ลดลง และแม้จะสร้างภาพเชิงบวกได้บ้าง แต่ผลสืบเนื่องที่เป็นจริงไม่เกิดเลย ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งอยู่ฝ่ายไทยเองด้วย ทำให้การเจรจาไม่นำความคืบหน้าที่แก้ปัญหาได้จริงๆ
ฉะนั้นการเยือนไทยรอบนี้ของ ดาโต๊ะซัมซามิน ก็น่าจะเพื่อรักษาโต๊ะเจรจาเอาไว้ เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลมาเลเซียตกต่ำไปด้วย สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยยิ่งแรงขึ้น มาเลเซียก็จะยิ่งเสี่ยงตกเป็นจำเลย ฉะนั้นการมาครั้งนี้ถือว่าไม่น่าตื่นเต้น
ส่วนข่าวการลงนามเพิ่มเติมกับแกนนำองค์การพูโล เพื่อดึงเข้าร่วมโต๊ะเจรจานั้น ดร.สุรชาติ บอกว่า หากตัดบีอาร์เอ็นออกไปก็จะสร้างปัญหาตามมา เหมือนการพูดคุยเมื่อครั้งก่อน (28 ก.พ.56) มีแต่กลุ่มบีอาร์เอ็นแต่ไม่มีกลุ่มอื่น การเจรจาก็ไปข้างหน้าไม่ได้
"ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่รู้ใครจะได้เป็นรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ถ้าเราเป็นผู้แทนขบวนการก่อความไม่สงบ ก็ต้องถามว่าจะคุยไปทำไม ยังไม่รู้เลยใครจะได้เป็นรัฐบาล เลขาธิการ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ยังไม่รู้เลยว่าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ ฉะนั้นงานนี้จึงเป็นการพีอาร์ (ประชาสัมพันธ์) ของมาเลเซีย และทำให้เห็นว่าเขาได้ยื่นมือมาช่วยรัฐบาลไทย"
ถวิล : ช่วยแก้เกี่ยวให้รัฐบาลไทย
นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และอดีตเลขาธิการ สมช. มองคล้ายกันว่า การแถลงข่าวและเดินทางเยือนไทยของ ดาโต๊ะซัมซามิน อาจเป็นแค่การสร้างภาพให้เห็นการทำงานของรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขปัญหาภาคใต้ หรือเป็นแค่เพียงการแก้เกี้ยวแก้ตัวจากสถานการณ์ในพื้นที่ที่รุนแรงขึ้นเท่านั้นเอง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถจัดการหรือบรรเทาสถานการณ์ได้เลย ซ้ำยังมีเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นเกือบทุกวัน
"การที่อ้างว่ายังมีการพูดคุยอยู่ หรือจะเกิดการพูดคุยกันต่อไป มันทำให้เห็นว่ายังมีความใส่ใจอยู่กับพื้นที่ แต่จริงๆ ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องของการเกรงอกเกรงใจกันระหว่างไทยกับมาเลเซียมากกว่า เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ความจริงแล้วการพูดคุยมันก็ทำได้แค่นั้น ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ เพราะรัฐบาลก็ยังไม่มี และมีข้อจำกัดเรื่องการพูดคุยแบบเปิดเผย" นายถวิล ระบุ แต่ก็ย้ำว่าการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างยังมีประโยชน์กับประเทศอยู่
เชื่อบีอาร์เอ็นไม่ร่วมวง
ด้านแหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงของไทย เผยว่า ก่อนการแถลงข่าวของดาโต๊ะซัมซามิน ได้มีการนัดหารือกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เมือง ยอร์ค จากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมประชุมมีเพียงผู้เห็นต่างจากรัฐสายที่จบการศึกษาจากอินโดนีเซีย และส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มพูโลกับบีไอพีพี ไม่มีแกนนำระดับตัดสินใจของขบวนการบีอาร์เอ็น สอดคล้องกับข่าวที่ว่าบีอาร์เอ็นไม่ยอมร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับไทยแล้ว
"การพูดคุยที่ยอร์ค จากาตาร์ มีการลงนามเพื่อแสดงเจตจำนงเข้าร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยจริง แต่เป็นการลงนามกับกลุ่มพูโลที่เป็นกลุ่มเก่า ไม่ได้มีศักยภาพสั่งการในพื้นที่ และยังมีความไม่ลงตัวอยู่เยอะ เนื่องจากพูโลมี 3 กลุ่ม แต่มาเลเซียให้ที่นั่งในโต๊ะเจรจาเพียง 2 ที่นั่ง"
แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง บอกด้วยว่า นายฮัสซัน ตอยิบ ไม่ได้เข้าร่วมการหารือ จึงยิ่งตอกย้ำว่าบีอาร์เอ็นน่าจะไม่เอาด้วย และเป็นไปได้ว่าการแถลงข่าวในวาระครบรอบ 1 ปีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เป็นเพียงการสร้างข่าวเท่านั้น
ตอกหน้าไทยเมินเฉยไฟใต้
ส่วนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการข่าวของไทย กังวลว่า เนื้อหาที่ ดาโต๊ะซัมซามิน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย จุดเน้นอยู่ที่การย้ำว่ามาเลเซียรักษาพันธสัญญาที่ลงนามกันไว้ในเรื่องการพูดคุยสันติภาพ และมีความเป็นห่วงสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับมาเลเซีย ฉะนั้นจึงเหมือนเป็นการส่งสัญญาณกลายๆ ว่าไทยเองก็ต้องรักษาพันธสัญญาด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ลบ คล้ายกับพยายามสื่อสารว่า มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเป็นห่วงสถานการณ์ในพื้นที่ แต่ไทยที่เป็นเจ้าของพื้นที่เองกลับไม่ค่อยสนใจ และปล่อยให้ปัญหาขยายตัวจนกระทบกับมาเลเซียหรือไม่ กลายเป็นการพยายามหาความนิยมจากคนในพื้นที่หรือเปล่า เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลไทยห่วงแต่ปัญหาการเมืองและความมั่นคงของตนเองมากกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบอยู่
มั่นใจคุยถูกกลุ่ม-ใต้สงบ
ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยที่ประจำอยู่ในมาเลเซีย เผยถึงปฏิกิริยาของคนมาเลเซียและคนไทยในมาเลเซียต่อการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ที่อาจมีขึ้นว่า ทุกคนเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ อยากเห็นสามจังหวัดชายแดนใต้สงบสุข ได้ไปมาหาสู่ ได้ทำธุรกิจร่วมกัน และเดินทางท่องเที่ยวได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากที่แทบไม่ได้กลับมาเที่ยวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกเลย ธุรกิจที่ทำร่วมกันต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ขณะที่การค้าขายระหว่างกันก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน
ฉะนั้นการพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นอย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหาความรุนแรงจะยุติลงได้ และคนมาเลเซียก็อยากเห็นการเจรจาเกิดขึ้น เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะจบปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ต้องใช้กำลัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไทยเจรจาถูกกลุ่มหรือยัง เพราะมีเสียงวิจารณ์ว่าแกนนำบนโต๊ะพูดคุยไม่สามารถสั่งการระดับปฏิบัติในพื้นที่ได้จริง เจ้าหน้าที่รายนี้ บอกว่า ระดับแกนนำที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา หลายคนมีอุดมการณ์ อยู่เมืองไทยไม่ได้จึงต้องหนี และใช้มาเลเซียเป็นสถานที่หลบซ่อน
"คนมาเลเซียหรือแม้แต่ผมเองเชื่อว่า การพูดคุยถูกกลุ่มจะสามารถสั่งหยุดยิงได้แน่นอน เพียงแต่ที่ผ่านมาเราจะสังเกตเห็นว่าแม้จะมีการสั่งหยุดก่อเหตุ แต่เหตุร้ายรายวันก็ยังเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฏอน นั่นเป็นเพราะการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันของแนวร่วมในพื้นที่กับระดับแกนนำบีอาร์เอ็น โดยระดับปฏิบัติในพื้นที่ไม่เชื่อว่าการเจรจากับรัฐบาลไทยจะนำไปสู่ความสงบสุขได้ จึงมีทั้งกลุ่มที่เชื่อฟังแกนนำและไม่เชื่อฟัง กลุ่มที่ไม่เชื่อก็แอบก่อเหตุเงียบๆ เพราะแนวร่วมเองไม่ใช่มีแต่สังกัดบีอาร์เอ็น ยังมีพูโลอีก และความเห็นก็ไม่ตรงกันด้วย ขณะที่แกนนำระดับสั่งการที่เป็นผู้อาวุโส คนเหล่านี้สู้มานานแต่ไม่เห็นอนาคต หากมีนโยบายที่สามารถนำความสงบสุขสู่ภาคใต้ได้ คนเหล่านี้ก็ยอมพูดคุย"
"สถานการณ์มันบอกว่ามีการสื่อสารกันได้ระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้เห็นต่าง แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ไว้วางใจต่อกัน และเกี่ยงว่าใครทำก่อน ให้ใครหยุดใช้ความรุนแรงก่อน คล้ายๆ คนทะเลาะกัน แต่กลับกันฝ่ายขบวนการ แกนนำกับแนวร่วมผมว่าสามารถสื่อสารให้หยุดปฏิบัติการต่อเป้าหมายได้ ฉะนั้นความติดขัดทั้งหมดอยู่ที่ขั้นตอนและความไว้วางใจกันมากกว่า ซึ่งคงต้องใช้เวลา"
"ฮัสซัน"หายสาบสูญ
ต่อข้อถามถึง นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูคคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งมีข่าวหายตัวลึกลับ เจ้าหน้าที่ไทยที่ประจำอยู่ในมาเลเซียรายนี้ บอกว่า เท่าที่ทราบ เป็นบุคคลที่สาบสูญ และเมื่อหายตัวไปก็แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อคณะพูดคุย ล่าสุดหนังสือพิมพ์อูตูซานมาเลเซีย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ดาโต๊ะซัมซามินได้พูดคุยกับหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน 3 กลุ่มในช่วงเดือนมุฮัรรอม (เดือนแรกตามปฏิทินอิสลาม) ก็พบว่ามีท่าทีขัดแย้งกัน ทางมาเลเซียต้องการให้รวมเป็นกลุ่มเดียว
"มาเลเซียมีท่าทีชัดเจนตั้งแต่แรกว่าไม่ต้องการให้มีการประกาศเอกราชของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทางดาโต๊ะซัมซามินก็เคยย้ำว่าจะไม่มีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาแน่นอน เพราะจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับไทย ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้พูดคุยเจรจารอบใหม่จึงมองว่าเป็นแนวโน้มที่ดี และคนมาเลเซียเองก็สนับสนุน เพียงแต่ตอนนี้เรากำลังประสบปัญหาการเมืองภายใน" เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายนี้ ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดาโต๊ะซัมซามิน ขณะแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย