แบงค์ชาติเผยตลาดแรงงาน 80% ไร้ฝีมือ แถมยังเลือกไม่เอางานสกปรก ยาก อันตราย
สสค.เปิดโจทย์ท้าทายการปฏิรูปการเรียนรู้ยกระดับคุณภาพแรงงานไทย 39 ล้านคน แบงค์ชาติเผยตลาดแรงงาน 80% เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และเลือกงานไม่ต้องการ “งานสกปรก-งานหนัก-งานอันตราย” ส่งผลแรงงานต่างด้าวทดแทนกว่าเท่าตัว
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่อาคารเอสพี สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเวทีเสวนาการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพแรงงานทั้งมวล โดย ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้บริหารทีมนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในปัจจุบันว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพเกิดขึ้นอย่างมากและรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ โดยตลาดแรงงานไทยมีจำนวน 39 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือถึง 80% และเป็นผู้มีงานทำที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปถึง 75% สะท้อนถึงโครงสร้างการผลิตของไทยยังอาศัยแรงงานเข้มข้น โดยใช้แรงงานทักษะต่ำที่มีค่าจ้างงานราคาถูกในระดับสูง และส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบประมาณ 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด
ดร.เสาวณี กล่าวอีกว่า ตลาดแรงงานยังมีความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการแรงงานของตลาดและการผลิตแรงงานรุ่นใหม่ โดยพบว่าความต้องการตลาดแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือที่จบการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษา ขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่นิยมศึกษาต่อในระดับป.ตรีจึงเป็นกลุ่มที่ตกงานมากที่สุด
นอกจากนี้ผลจากระบบการศึกษายังผลิตแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาดที่ต้องการคนจบสายวิทยาศาสตร์มากกว่าสายสังคมศาสตร์ ขณะที่ผู้จบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ต่อสายสังคมศาสตร์อยู่ที่ร้อยละ 30 ต่อ 70 รวมถึงปัญหาคุณภาพแรงงานและคุณภาพการศึกษาที่ด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้แรงงานไทยขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานทั้งด้านไอที ภาษาอังกฤษ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายจ้างต้องการ
ดร.เสาวณี กล่าวต่อว่า แรงงานยังเลือกงานและไม่ต้องการทำงานหนักประเภท 3D นั่นคือ งานสกปรก (Dirty job) งานยาก (Difficult job) และงานอันตราย (Dangerous job) ทำให้เกิดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทดแทน โดยในเดือนธันวาคมปี 2556 มีแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนถูกกฎหมายประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2444 ที่มีอยู่จำนวน 600,000 คน เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว
และจากการสำรวจสถานการณ์จ้างงานในปี 2556 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจผู้ประกอบการ 748 บริษัท พบว่า 70% ของผู้ประกอบการในกลุ่มตัวอย่างหาแรงงานยากขึ้น และพบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างความต้องการแรงงานทั้งประเทศและระดับภูมิภาคคือ ผู้ประกอบการยังคงพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบมีความต้องการแรงงานกึ่งมีทักษะในสัดส่วนที่สูง
ทั้งนี้สาเหตุของการขาดแคลนแรงงานของไทยมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ระบบค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน โดยอัตราการเพิ่มค่าจ้างจริงต่ำกว่าอัตราการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และในปัจจุบันตลาดแรงงานไทยมีผู้ประกอบอาชีพอิสระถึง 2 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด รวมถึงภาคการผลิตของไทยยังมีประสิทธิภาพต่ำ ประเทศไทยจึงอยู่ในกลุ่มระดับรายได้ปานกลางและอยู่ในกลุ่มระดับเทคโนโลยีการผลิตระดับกลาง โดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
ดร.เสาวณี กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วยว่า ในระยะสั้นภาครัฐและเอกชนควรปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับผลิตภาพของแรงงาน รวมถึงภาคเอกชนควรเพิ่มชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาเพื่อปรับตัวในระยะสั้นเพื่อเพิ่มผลผลิตจากชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ยังหาแรงงานไม่ได้
ส่วนภาครัฐควรมีแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทดแทนแรงงานไทยโดยเฉพาะงานประเภท 3D (งานสกปรก งานหนัก และงานอันตราย) ส่วนในระยะยาวควรเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน โดยภาครัฐและเอกชนควรสนับสนุนการลงทุนจำนวนเครื่องจักรต่อแรงงานมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีและฝีมือแรงงานให้มีสมรรถนะสูงขึ้น รวมถึงการขยายอายุเกษียณ การสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันฝึกอบรม และสถานประกอบการในภาคการผลิตเพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ และควรเสริมระบบข้อมูลสำหรับวางแผนกำลังคนของประเทศในระยะยาว การตั้งมาตรฐานฝีมือแรงงานในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และการเผยแพร่ข้อมูลความต้องการของตลาดแรงงานไทยให้ประชาชนรับทราบ เพื่อกระตุ้นสถาบันการศึกษาให้มีการแนะแนวการศึกษาต่อและแนวทางประกอบอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ด้านดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงระบบการศึกษาตั้งแต่ประถมไม่รู้จักสอนให้เด็กลูกหลานเกษตรกรคุ้นเคยกับภาคการเกษตร เมื่อจบมาแล้วก็เข้าสู่โรงงาน คนที่เข้าสู่โรงงานก็ประสบปัญหาถูกลดศักยภาพแรงงาน เพราะเป็นระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่แยกส่วนตามสายพานงาน จึงไม่ใช้สมอง ค่าแรงต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่กับการทำงานวันละ 10 ชั่วโมง เพื่อเพียงพอต่อค่ายังชีพ ดังนั้นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองจึงไม่เกิดขึ้น ขณะที่นายจ้างก็ไม่กล้าลงทุนการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน เพราะช่วงฝึกงานไม่ก่อให้เกิดผลผลิตและปัญหาการลาออก ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพแรงงานอุตสาหกรรมสถานประกอบการและรัฐบาลต้องร่วมมือกัน
นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในส่วนของแรงงานภาคการเกษตรที่มีจำนวนถึง 13 ล้านคน โดยมีอายุเฉลี่ย 55 ปี การผลิตในภาคการเกษตรส่วนใหญ่จึงพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 80-90% โดยเฉพาะในภาคกลาง ขณะที่ทายาทของกลุ่มเกษตรกรเรียนแล้วออกจากชุมชน การพัฒนาทักษะแรงงานเกษตรกรรุ่นเก่าจึงต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต โดยทำงานผ่านกลุ่มเกษตรกร เสริมเครื่องมือในการคิดวิเคราะห์ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและรุ้จักการตลาด มีทักษะการบริหารจัดการ และลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญคือต้องสร้างกลุ่มยุวเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องเก่งขึ้น ควบคู่กับการปฏิรูปที่ดินและสนับสนุนการเรียนรู้ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน
"ถ้าประเทศไทยไม่ปรับตัว เราจะสูญเสียความเป็นครัวโลก การแก้ปัญหาจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งเปลี่ยนการสอนในโรงเรียนและการปรับตัวของแรงงาน"