กกต.ถกอนุมัติเงินกู้จำนำข้าว 712 ล้าน จ่อส่งศาลรธน.ปมพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ก.พ. ที่อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวก่อนเข้าประชุมกกต. ว่า ที่ประชุมกกต.จะมีการพิจารณาประเด็นสำคัญด้วยกัน 4 เรื่อง ประกอบด้วยกรณีที่รัฐบาลส่งหนังสือขอหารือกกต.เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (2) กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง จำนวน 712 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินแก่ชาวนา ซึ่งกกต.ก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายทำความเห็นเพื่อเสนอให้ที่ประชุมกกต.ได้พิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถได้ข้อสรุปได้ว่าจะเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกันก็จะมีการพิจารณาประเด็นที่รัฐบาลได้ตอบหนังสือกับมายังกกต.กรณีที่กกต.เสนอให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อให้อำนาจกกต.กำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมและลงคะแนนใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครส.ส. โดยเนื้อหาสาระของหนังสือที่รัฐบาลตอบกลับมานั้นรัฐบาลระบุว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกกต. ในการออกพ.ร.ฎ.ดังนั้นกกต.จะหารือกันว่า ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลและกกต.จะทำหนังสือส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง หากได้ข้อสรุปก็จะสามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยได้ภายในวันนี้หรือวันที่ 20 ก.พ.
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้า กกต.จะเชิญอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และผู้อำนวยการช่อง 11 มาพบกกต.อีกครั้งเพื่อซักซ้อมการทำงานของสื่อของรัฐในช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้งส.ส.ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร เพราะ กกต.เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องขอนัดหมายกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และผู้บริหารระดับสูงมาหารือ เนื่องจากสื่อของรัฐยังแสดงท่าทีและบทบาทที่ไม่ถูกต้องในการนำเสนอ ยกตัวอย่าง รายการเสียงสะท้อนจากชาวนาที่ออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 18 ก.พ. มีการนำเสนอเนื้อหาที่ให้ความเห็นว่า กกต.เป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคที่ทำให้ชาวนาไม่ได้รับเงินในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน และก่อให้เกิดผลเสียต่อกกต.
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีการอธิบายเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 18 ก.พ. อาจมีเนื้อหาสาระ บางส่วนหมิ่นเหม่ไปในเชิงหาเสียงการเลือกตั้ง ซึ่งการกระทำลักษณะเช่นนี้ในช่วงของการเลือกตั้ง นักการเมือง ผู้สมัครส.ส.ไม่ควรใช้สื่อของรัฐ มาทำให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในคะแนนนิยม หรือเข้าข่ายว่าสัญญาว่าจะให้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างผู้รับผิดชอบกับกกต.ว่าเข้าใจบทบาทการทำหน้าที่หรือไม่ ส่วนเนื้อหาดังกล่าวจะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่นั้น เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตของกกต.ว่าการกระทำของฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะขณะนี้การเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้จะมีการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ก็ควรระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นอาจถูกร้องเรียน
นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมกกต.จะมีการพิจารณาข้อเสนอ 8 ข้อที่ได้จากการหารือร่วมกันระหว่างกกต.รัฐบาลและนักวิชาการ โดยประเด็นสำคัญที่กกต.จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบคือกรอบระยะเวลาในการจัดเลือกตั้งทดแทนที่กกต.มีมติเบื้องต้นกำหนดไว้ในวันที่ 20 และวันที่ 27 เม.ย. ว่าจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องมีเหตุผลที่เพียงพอ แต่ภาพรวมของสถานการณ์ขณะนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ลดน้อยถอยลง แต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นกกต.ก็จะนำไปพิจารณาด้วยว่าเหตุการณ์ความไม่สงบคลี่คลายลงหรือไม่