เปิดหนังสือ "กกต." ถาม รอ “รัฐบาล” ตอบ ปม " 28 เขตเลือกตั้ง"
“...จึงมีมติขอให้นายกฯ กราบบังคับทูลเพื่อเสนอให้มีการตรา พรฎ.โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 187 ประกอบมาตรา 93 มิฉะนั้น กกต.ก็ไม่อาจดำเนินการกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติม วันลงคะแนนใหม่ รวมทั้งการประกาศงดเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดและนอกราชอาณาจักรใน 28 เขตเลือกตั้งดังกล่าวได้...”
จากกรณีที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2557 ที่ผ่านมา ว่า เตรียมที่จะทำหนังสือตอบกลับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีที่หารือมายังนายกรัฐมนตรีว่า กรณี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร จะต้องออก พรฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่หรือไม่ โดยนายพงศ์เทพจะระบุในหนังสือดังกล่าวว่า กกต.สามารถดำเนินการเปิดรับสมัครใหม่ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องออก พรฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าว เป็นเอกสารที่ กกต.ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2557 เพื่อขอหารือแนวทางแก้ไขปัญหา กรณี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร มีจำนวนทั้งสิ้น 3 หน้ากระดาษ สาระสำคัญดังนี้
....
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2557 ลงวันที่ 24 ม.ค.2557 สรุปว่าวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ใน พรฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 สามารถกำหนดขึ้นใหม่ได้ โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายกฯ และประธาน กกต.
และเนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 มีปัญหาอุปสรรคโดยมีการชุมนุมประท้วงขัดขวาง จนทำให้ 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เขต นั้น
กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า ในกรณีนี้ พรรคการเมืองและนักวิชาการหลายฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ ส.ส.ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยแม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 236 (1) จะบัญญัติให้ กกต.มีอำนาจออกประกาศหรือระเบียบใหม่ได้ แต่ก็มีขอบเขตจำกัดให้กระทำได้เฉพาะที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น
ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 แล้ว ไม่มีบทบัญญัติแห่งมาตราใดให้อำนาจ กกต.ในการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งขึ้นใหม่หรือวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม
หาก กกต.ประกาศให้มีการรับสมัครใหม่หรือเพิ่มเติมใน 28 เขตเลือกตั้งแล้ว ย่อมทำให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งและอาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 7 ที่กำหนดให้การรับสมัคร ส.ส.เขต ต้องเริ่มรับสมัครไม่เกินยี่สิบวันนับแต่วันที่ พรฎ.ยุบสภาฯ มีผลใช้บังคับ
กกต.เห็นว่ากรณีนี้ไม่เคยมีแนวทางปฏิบัติมาก่อน และโดยที่การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปตาม พรฎ.ยุบสภาฯ พ.ศ.2556 ยังไม่เสร็จสิ้น จึงเห็นว่าหากจะให้มีการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติมพึงจะต้องกระทำโดยการการตรา พรฎ.ให้มีการลงคะแนนใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ กกต.มีอำนาจในการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม และกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งการประกาศงดเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนนอกเขตจังหวัดและนอกราชอาณาจักร
จึงมีมติขอให้นายกฯ กราบบังคับทูลเพื่อเสนอให้มีการตรา พรฎ.โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 187 ประกอบมาตรา 93 มิฉะนั้น กกต.ก็ไม่อาจดำเนินการกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติม วันลงคะแนนใหม่ รวมทั้งการประกาศงดเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดและนอกราชอาณาจักรใน 28 เขตเลือกตั้งดังกล่าวได้
อนึ่ง เนื่องจากมีนักการเมืองและนักวิชาการบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากจะมีการตรา พรฎ.และหรือให้ กกต.ดำเนินการออกประกาศให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม การลงคะแนนใหม่ หรือการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมถึงมีการนับคะแนนเพิ่มเติม อาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. และเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 108 ที่บัญญัติว่า วันเลือกตั้งกรณียุบสภาฯ ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ขอให้นายกฯ ได้พิจารณาปัญหาข้อโต้แย้งหรือข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นด้วย เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ผลเป็นประการใดขอโปรดแจ้งให้ กกต.ทราบ เพื่อที่จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
....