นักวิชาการTDRI ชี้ปฏิรูปความเหลื่อมล้ำนักการเมืองต้องเลิกเสพติดประชานิยม
นักวิชาการแนะผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง-สวัสดิการประกันสุขภาพให้ถ้วนหน้า เสนอโมเดลไพร์มมารี่โหวตสร้างประชาชนมีส่วนร่วม กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยจัดเสวนา “ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 2 เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และระบบสวัสดิการสังคม” ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำว่าขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องคนไม่เท่ากัน แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไปไกลกว่าเรื่องระหว่างคนรวยกับคนจน แต่เป็นเรื่องคนจนกับคนชนชั้นกลาง และระหว่างคนรวยกับคนชนชั้นกลาง ความเหลื่อมล้ำของคนจนกับชนชั้นกลางเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันเรื่องวัตถุมนุษย์ ขณะที่คนชนชั้นกลางกับคนรวยเกิดจากเรื่องทุนทรัพย์ เงินทองและที่ดิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนเรื่องของโอกาสและความสามารถในการจัดการความเสี่ยง ดังนั้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างจึงเป็นโจทย์ว่าเราจะสามารถสร้างความเท่าเทียมเรื่องโอกาสทุนมนุษย์และทุนทรพัย์ รวมถึงความเท่าเทียมกันทางการเมืองได้อย่างไร
“การจัดการความเสี่ยงการสร้างโอกาสและการได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามการคลังมีบทบาทสูงมากที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่นโยบายที่ผ่านมากลายเป็นว่า นโยบายของการคลังลดความเหลื่อมล้ำได้น้อยหรือบางทีแทบไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงเลย”
ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า มายาคติเรื่องคนจนโดยเชื่อว่า คนจนเป็นชาวนานั้น แท้จริงไม่ใช่ เนื่องจากชาวนาในประเทศมี 2.8 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นชาวนาที่ไม่ยากจน 2.2 ล้านครัวเรือน ส่วนชาวนาที่ยากจนมี 6 แสนครัวเรือน ดังนั้นโครงการจำนำข้าวที่บอกจะช่วยคนจน จึงไม่ได้ช่วยคนจนเท่าที่ควร และคนจนในประเทศก็มีอาชีพอื่นอยู่ด้วย
“ดังนั้นการปฏิรูปเรื่องความเหลื่อมล้ำรัฐต้องพยายามคุ้มครองเรื่องสังคมให้ทั่วถึง ทั้งเรื่องของสวัสดิการถ้วนหน้า กฎหมาย ระบบการคลัง เรื่องพระราชบัญญัติพื้นฐานให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว รวมทั้งลดนโยบายประชานิยม ผลักดันเรื่องภาษี เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”
ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงฯ กล่าวถึงการปฏิรูปเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรมว่า ประการแรกต้องกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่น กระจายภาระกิจภาษีและกำลังคนสู่ท้องถิ่นอย่างเร่งด่วน และควรทำอย่างจริงจัง ต้องมีหลักเกณฑ์บางอย่างให้ท้องถิ่นสามารถใช้ทุนภาษีได้
ประการที่สองด้านบริหารจัดการ โดยจัดให้มีหน่วยวิเคราะห์ผลนโยบายรัฐที่สำคัญและเผยแพร่ต่อสาธารณะชน โดยหน่วยงานนี้ต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล
และประการที่สาม คือการเมืองและภาคประชาสังคม โดยต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคนรากหญ้าและชนชั้นกลาง ทั้งนี้การสร้างการมีส่วนร่วมเห็นว่า เราอาจจะนำไพร์มรี่โหวตมาใช้เพื่อเป็นการสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกำหนดนโยบานเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปฏิรูปสภาที่ปรึกษาในเรื่องอำนาจหน้าที่และการคัดเลือกสมาชิกอีกทั้งยังต้องเร่งรัดสื่อให้ช่วยลดมายาคติเรื่องคนจนด้วย
ด้านดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า บทบาทของรัฐไม่ใช่แค่การส่งเสริมให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต แต่บทบาทของรัฐคือต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ทั้งนี้ กลไกที่จะช่วยลดความรู้สึกของความเหลื่อมล้ำคือการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนและให้สวัสดิการกับเขา ซึ่งในขณะนี้ประชาชนรู้สึกว่า รัฐไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคม เช่น การหาหมอต้องโชว์ว่า มีบัตรประเภทไหน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วต้องรักษาให้หายจากการเจ็บป่วย
“จากความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมเรื่องสวัสดิการในการรักษาพยาบาล ส่งผลให้คนในชุมชนสร้างกองทุนสวัสดิการโดยไม่หวังพึ่งรัฐ โดยการออมเงิน 10-500 ต่อเดือนแล้วไปลงทุน 45% เป็นเงินปันผล 55%แบ่งเป็นกองทุนสวัสดิการ ความจริงสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐควรต้องทำ แต่ก็ล้มเหลวเพราะรัฐบาลไม่ว่าจะพรรคใดก็ไม่มีข้อมูล”
ดร.วรวรรณ กล่าวถึงการปฏิรูปเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นสวัสดิการเรื่องประกันสุขภาพจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ และควรแก้ปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุด้วยการส่งเสริมให้เกิดกองทุนการออม ไม่ใช่ปล่อยลอยแพ ทั้งนี้ยังเห็นว่าจะต้องปฏิรูปประกันสังคมให้หลุดจากการเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแรงงานต้องเข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและเปิดโอกาสให้มีการร่วมกันจ่ายตามความสามารถ
ขณะที่ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้น สำหรับในภาคการเกษตร อันดับแรกชาวนาควรปฏิรูปตัวเองให้เพียงพอก่อน ขณะที่รัฐบาลก็ควรเลิกโฆษณาชวนเชื่อ ชาวนาไม่ได้เกี่ยงว่าต้องมาให้อะไรเขามากมายหรือต้องมาให้ราคาในราคาที่สูง แต่เป็นเพราะพรรคการเมืองเสพติดนโยบายเหล่านี้ ดังนั้นควรเลิกมาตรการบิดเบือนราคา แล้วมาจัดการบริหารความเสี่ยงในภาคการเกษตรและสนใจปัญหาด้านอื่นนอกเหนือจากราคา