คปก.ชงความเห็นร่างฯคุ้มครองแรงงานประมง ชี้ขัดเจตนารมณ์กม. ไม่สอดคล้องสภาพจ้างงาน
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ...เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
คปก.มีความเห็นว่า การจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการจ้างงานในกิจการประมงทะเล เนื่องจากบทบัญญัติหลายประการยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ค.ศ.2007
นอกจากนี้ การคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลยังมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายฉบับอื่นๆ นอกเหนือจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน เช่น การประมง การเดินเรือทั้งในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ การตรวจคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์
คปก.จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้มาตรฐานการคุ้มครองสิทธิแรงงานประมงของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ กระทรวงแรงงานและรัฐบาลควรเร่งพิจารณาให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน เห็นควรให้นำหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้กับการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ
ส่วนในหลักการและสาระสำคัญที่ควรกำหนดไว้ในร่างกฎกระทรวงฯ คปก.มีความเห็นว่า
ในการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลควรมีมาตรการคุ้มครองทั้งก่อนการทำงาน ระหว่างการทำงานและการคุ้มครองหลังสิ้นสุดการจ้างงาน โดยคปก.เห็นด้วยกับร่างฯที่แก้ไขให้ขยายความคุ้มครองแรงงานประมงทะเลที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และคุ้มครองกรณีเรือประมงทะเลดำเนินการประจำอยู่นอกราชอาณาจักรโดยไม่จำกัดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับสภาพการจ้างงานและเกิดความเท่าเทียมกันในการคุ้มครองตามกฎหมาย
ส่วนกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยาม “นายจ้าง”ตามกฎกระทรวงฯ คปก.เห็นควรให้ขยายนิยามดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงนายจ้างที่เป็นผู้รับเหมาค่าแรงด้วย และควรนิยาม “นายจ้าง”ให้หมายรวมถึงไต้ก๋งด้วย ส่วนกรณีการนิยาม “ค่าจ้าง”นั้น คปก.เห็นว่า ควรกำหนดเรื่องค่าจ้างและค่าใช้จ่ายในเรือไว้ในสัญญาจ้างมาตรฐานในงานประมงทะเล และกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณค่าจ้างที่เป็นส่วนแบ่งตามมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ไว้ในร่างกฎกระทรวงฯด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่กำหนดให้ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม
อย่างไรก็ตามเนื่องจากงานประมงทะเลเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย คปก.จึงเห็นด้วยกับการขยายอายุขั้นต่ำของงานประมงทะเล โดยการกำหนดห้ามนายจ้างรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในเรือประมง ขณะเดียวกันด้วยลักษณะและสภาพการทำงานในงานประมงทะเล และรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายแตกต่างไปจากการจ้างงานทั่วไป ประกอบกับการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในงานประมงทะเลมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้แรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ และการเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และนำไปสู่ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์
ดังนั้นคปก.จึงเห็นควร ควรกำหนดสัญญาจ้างแรงงานไว้เป็นรายลักษณ์อักษรและควรนำหลักการในกฎหมายแม่บทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทะเบียนลูกจ้าง เช่น การรักษาสัญญา และการแจ้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างที่มากำหนดในสัญญาจ้างด้วย นอกจากนี้ในแง่ของการคุ้มครองเวลาทำงาน จำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมายรองรับเรื่อง เวลาพักระหว่างการทำงาน ซึ่งอาจกำหนดให้มีเวลาพักที่เหมาะสมและสัมพันธ์กับจำนวนชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน นอกจากนี้คปก.มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรศึกษาและติดตามการบังคับใช้กฎหมายควรคู่กับการบูรณาการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อประเมินผลการดำเนินงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต เนื่องจากงานประมงทะเลเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558