"ดาโต๊ะซัมซามิน"นัดคุยสื่อไทย เดินหน้าเจรจา"บีอาร์เอ็น-พูโล"
กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งต้องหยุดชะงักไป และบางฝ่ายเชื่อว่าโต๊ะพูดคุยล้มไปแล้วนั้น ล่าสุดกระบวนการดังกล่าวกำลังมีความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ เมื่อ ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ได้นัดแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ทั้งกับสื่อมวลชนมาเลเซียและสื่อมวลชนไทยในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เปิดเผยว่า ดาโต๊ะซัมซามิน มีกำหนดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในวันที่ 24 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยเป็นการแถลงและเปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นตลอด 1 ปีที่ผ่านมาว่าได้ทำอะไรไปบ้าง และจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคต
จากนั้นในวันที่ 25 ก.พ. ดาโต๊ะซัมซามินมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทย โดยจะไปที่ จ.เชียงใหม่ และวันที่ 26 ก.พ.มีกำหนดเปิดวงพูดคุยกับสื่อมวลชนไทยที่ จ.เชียงใหม่ด้วย คาดว่าหัวข้อและเนื้อหาน่าจะเป็นเรื่องเดียวกันกับที่แถลงกับสื่อมาเลย์ คือ ผลการดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และทิศทางในปี 57
อย่างไรก็ดี วันที่ 19 ก.พ.นี้มีข่าวว่า ดาโต๊ะซัมซามิน จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าพบปะพูดคุยเป็นการเฉพาะเพื่อทำความเข้าใจก่อน และยังมีกำหนดขึ้นเวทีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวันที่ 28 ก.พ.ในวาระครบรอบ 1 ปีกระบวนการสันติภาพ
ย้อนปูม "ซัมซามิน-พูดคุยสันติภาพ"
สำหรับ ดาโต๊ะซัมซามิน เป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 5 พ.ค.56 ให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งได้มีการลงนามริเริ่มกระบวนการเมื่อ 28 ก.พ.56 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ภายหลังจากเมื่อราวๆ 1 ปีก่อนหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปที่มาเลเซีย และขอให้ทางการมาเลเซียช่วยเชิญกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐซึ่งเป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เคลื่อนไหวอยู่ในมาเลเซีย มาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน
อย่างไรก็ดี การพบปะพูดคุยดังกล่าวไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะเมื่อ 31 มี.ค.55 หลังการพบปะได้ไม่นาน ได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ครั้งรุนแรงที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นผลจากความไม่พอใจของฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนบางกลุ่มจากการพบปะในครั้งนั้น
แต่กระนั้นก็ตาม ทางการมาเลเซียยังคงเดินหน้าประสานงานให้เกิดกระบวนการพูดคุยต่อไป กระทั่งบรรลุเป้าหมาย นำมาสู่การลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพ เมื่อ 28 ก.พ.56 โดยมี นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย
การพูดคุยอย่างเป็นทางการมีขึ้น 3 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 29 มี.ค.56 วันที่ 28 เม.ย.56 และวันที่ 13 มิ.ย.56 มีการทำข้อตกลงลดเหตุรุนแรงร่วมกันช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏผลลดเหตุรุนแรงได้ชัดเจนนัก หลังจากนั้นมีความพยายามนัดพบปะพูดคุยกันอีกหลายครั้ง แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปจากความไม่พร้อมของทั้งสองฝ่าย กระทั่งเลื่อนอย่างไม่มีกำหนดจากปัญหาการเมืองภายในของไทย
ขณะที่ทางฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็ได้ออกแถลงการณ์เป็นภาษาไทยเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.56 ประกาศยุติการพูดคุยกับรัฐบาลไทย โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลไทยไม่ยอมนำข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่ส่งให้พร้อมคำอธิบาย 38 หน้าก่อนหน้านั้นเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และประกาศเป็นวาระแห่งชาติเพื่อดำเนินการพูดคุยในรายละเอียดต่อไป ส่วนนายฮัสซัน ตอยิบ ได้ออกแถลงการณ์ผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.56 เรียกตัวเองว่า "อดีต" หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ แต่ก็ยังย้ำจุดยืนให้ไทยนำข้อเรียกร้อง 5 ข้อเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และประกาศเป็นวาระแห่งชาติทันที
หลังการปรากฏตัวในคลิปวีดีโอครั้งนั้น นายฮัสซัน ได้หายตัวไป ไม่มีใครพบเห็นเขาในที่สาธารณะ กระทั่งมีข่าวลือว่าเขาอาจถูกทางการมาเลเซียควบคุมตัว หรือไม่ก็ถูกแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพกักตัวไว้ เพื่อยุติกระบวนการพูดคุยทั้งหมดอย่างถาวรตามคำแถลงของขบวนการ
"ภราดร"ได้ทียันโต๊ะเจรจายังไม่ล้ม
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ยอมรับกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ได้ทราบข่าวการเตรียมให้สัมภาษณ์และพบปะผู้สื่อข่าวทั้งมาเลเซียและไทยของ ดาโต๊ะซัมซามิน แล้ว แต่ยังไม่ทราบเนื้อหาว่าพูดคุยสื่อสารเรื่องอะไร
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการให้หลักประกันว่าโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นยังไม่ล้ม พล.ท.ภราดร กล่าวว่า โต๊ะเจรจายังไม่ล้มอยู่แล้ว เพียงแค่หยุดไปเฉยๆ เพราะไทยมีปัญหาการเมืองภายใน
แจง"ฮัสซัน"แค่ลดบทบาท-ไม่ได้หายตัว
ขณะที่แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งมีส่วนร่วมในโต๊ะพูดคุยสันติภาพ กล่าวทำนองเดียวกันว่า ทราบความเคลื่อนไหวของ ดาโต๊ะซัมซามิน อยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวรายนี้บอกว่า จากที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า นายฮัสซัน ตอยิบ หายตัวไปอย่างลึกลับ ซึ่งอาจถูกควบคุมตัวจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพนั้น ล่าสุดได้รับการยืนยันแล้วว่านายฮัสซันไม่ได้ถูกควบคุมตัว เพียงแต่ต้องการลดบทบาทของตนเองลงในช่วงที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยสะดุด แต่ไม่ชัดเจนว่านายฮัสซันยังเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในการพูดคุยครั้งใหม่หากจะมีขึ้นในอนาคต
มาเลย์ดึงพูโล 3 กลุ่มร่วมวงเจรจา
ด้านแหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงอีกรายหนึ่งที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ให้ข้อมูลว่า ทางการมาเลเซียพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดกระบวนการพูดคุยต่อไป โดยขณะนี้ได้ดึงตัวแทนจากองค์กรพูโล (องค์กรปลดปล่อยปัตตานี) มาลงนามเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยแล้ว
"พูโลแตกออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มของนายกัสตูรี มาห์โกตา (ที่เคยให้สัมภาษณ์รายการข่าวสามมิติว่าพร้อมร่วมกระบวนการเจรจากับรัฐบาลไทย) กลุ่มของ นายซัมซูดิง คาน และกลุ่มพูโลเก่า ที่มี นายลุกมัน บิน ลิมา เป็นผู้แทน ปรากฏว่าดาโต๊ะซัมซามินได้เชิญทั้ง 3 กลุ่มมาพูดคุย กระทั่งยอมเข้าร่วมกระบวนการแล้ว โดยให้ที่นั่ง 2 ที่บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ส่วนจะส่งใครมาเป็นตัวแทน ให้ทั้ง 3 กลุ่มไปคุยกันเอง" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวคนเดิม ยังบอกด้วยว่า หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐยังคงเป็นบีอาร์เอ็น แต่ไม่ชัดว่าเป็นนายฮัสซัน ตอยิบ หรือไม่ และจะมีตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมด้วย โดยไม่ผูกขาดเฉพาะบีอาร์เอ็นฝ่ายเดียวอีกต่อไป ส่วนผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ ที่ลงนามยอมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยแล้ว ก็คือ กลุ่มบีไอพีพี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดาโต๊ะซัมซามิน ขณะแถลงข่าวข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ในการลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์