คืนชื่อดั้งเดิมหมู่บ้านชายแดนใต้ ชาวบ้านดีใจรักษาอัตลักษณ์ภาษามลายูของชุมชน
เมื่อกล่าวถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนคงนึกถึงเฉพาะเรื่องความรุนแรง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยังมีปัญหาอื่นๆ อีกหลายมิติที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ
โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวโยงกับอัตลักษณ์ ทั้งศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เพราะมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าการถูกลดทอนอัตลักษณ์เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน โดยเฉพาะปัจจัยทางความรู้สึกที่พี่น้องมลายูมุสลิมมองว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกดทับ
หนึ่งในนั้นคือเรื่อง "ชื่อหมู่บ้าน" ที่ถูกทางราชการตั้งให้ใหม่หรือผิดเพี้ยนไปจากเดิม อาจจะด้วยความไม่เข้าใจในภาษามลายูถิ่น หรือการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของชาวบ้านเนื่องจากพูดภาษาไทยกลางไม่ชัด ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจละเลยที่จะรับฟังหรือพยายามทำความเข้าใจ จึงทำให้ชื่อหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการผิดเพี้ยนไปทั้งการออกเสียงและความหมาย
ชื่อของบางหมู่บ้าน เมื่ออ่านออกเสียงเทียบเคียงกับภาษามลายูแล้ว กลับกลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายไม่ดีไปเสียอีก จึงไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปของการเรียกชื่อเหล่านั้นได้ ส่งผลให้ประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของชุมชนถูกตัดตอนหายไป คนรุ่นหลังย่อมไม่รู้รากเหง้าความเป็นมาของตัวเอง ทำให้ขาดความภาคภูมิใจในท้องถิ่น รวมถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของบรรพชน
ย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจากบ้านกาเม็ง ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา นำโดย ซัมซุดดีน โดซอมิ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาซ่อง ได้ร่วมกันผลักดันให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก "กาเม็ง" เป็น "กือเม็ง" ได้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นชุมชนแห่งแรกในพื้นที่ที่สามารถขอเปลี่ยนชื่อให้ตรงกับถ้อยคำดั้งเดิมได้
ซัมซุดดีน ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีเมื่อครั้งนี้น เล่าว่า ทุกอย่างต้องใช้เวลาและข้อมูล ไม่ใช่ว่าทางราชการจะเปลี่ยนชื่อให้เลย แต่ต้องทำประชาคมในหมู่บ้านให้ทุกคนเห็นพ้องตรงกัน แล้วส่งเรื่องให้ทางอำเภอดูว่าชื่อที่ใช้อยู่ไม่ถูกต้องอย่างไร ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอะไร แม้จะต้องใช้เวลาและอาศัยการติดตามเรื่องด้วยตัวเอง แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อได้แล้วชาวบ้านก็ดีใจมาก
จากผลสำเร็จในครั้งนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการ "ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้" โดยมีศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PUSTA) ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วมกันดำเนินโครงการ และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิเอเชีย และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
หลังจากทีมงานลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชาวบ้านในแต่ละชุมชนแล้ว ก็ได้ข้อสรุปใน 10 หมู่บ้านนำร่อง ซึ่งนำไปสู่การมอบอัตลักษณ์ภาษามลายูและชื่อหมู่บ้านที่ถูกต้องกลับคืนสู่ชุมชนทั้ง 10 แห่งในงาน "มหกรรมเฉลิมฉลอง : ชื่อบ้านในความทรงจำ" ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของชาวบ้านที่มาร่วมงาน
สำหรับหมู่บ้านนำร่องทั้ง 10 แห่งที่ได้รับการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านกลับไปเป็นชื่อที่ถูกต้อง ได้แก่
1.หมู่บ้านปรีดอ หมู่ 8 ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านบลีดอ
2.หมู่บ้านลดา หมู่ 3 ต.บาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านลาดอ
3.หมู่บ้านมะหุด หมู่ 2 ต.ปะโด อ.มายอ จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านมาโงะฮ
4.หมู่บ้านเขาวัง หมู่ 3 ต.ตรัง อ.มายอ จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านบูเกะแว
5.หมู่บ้านป่าไหม้ หมู่ 1 ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านฮูตันฮางุส
6.หมู่บ้านบางเก่าเหนือ หมู่ 1 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านมืองาแบ ฮีเล
7.หมู่บ้านบางเก่าใต้ หมู่ 2 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านมืองาแบ
8.หมู่บ้านบางเก่าทะเล หมู่ 3 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านมืองาแบ ปาตา
9.หมู่บ้านเงาะกาโป หมู่ 3 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านกือปาลอบาตัส เกาะกาโป
10.หมู่บ้านบึงฉลาม หมู่ 10 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เปลี่ยนเป็น หมู่บ้านกูแบยู
อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เล่าว่า การทำงานในเรื่องนี้เป็นการประสานงานระหว่างชุมชนกับรัฐเพื่อให้ศักดิ์ศรีด้านภาษาแก่ชุมชน จึงเริ่มต้นใน 10 ชุมชนนำร่อง อย่างไรก็ดี จากการสำรวจยังพบว่ามีอีก 1,700 หมู่บ้านที่ชื่อหมู่บ้านยังมีปัญหา ซึ่งผู้นำชุมชนและชาวบ้านต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนชื่อต่อไป
ขณะที่ คอเต็บประจำมัสยิด บาบอ และเยาวชน รวมทั้งอีกหลายๆ คนจากหมู่บ้านที่ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจมากที่ได้กลับไปใช้ชื่อหมู่บ้านเดิมดังที่บรรพบุรุษตั้งไว้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จากการพูดคุยร่วมกันของหลายภาคส่วนพบว่า ชื่อหมู่บ้านเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไม่ได้ ชาวบ้านบอกว่าเปลี่ยนได้ แต่อย่าให้ผิดความหมาย และไม่ใช่เพียงแค่เรื่องชื่อหมู่บ้านเท่านั้น ยังมีเรื่องป้ายถนน ป้ายทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษามลายู และภาษาอังกฤษไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นนโยบายของ ศอ.บต.ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและทำให้เป็นรูปธรรมได้
ว่าที่ร้อยตรีโมฮำมัดยาสรี ยูซง อดีตกำนัน ต.บางเก่า อ.สายบุรี กล่าวว่า การคืนชื่อชุมชนที่ถูกต้อง คือความเป็นธรรมของอัตลักษณ์ทางภาษา แต่องค์ประกอบที่ทำให้ชุมชนสงบสุขยังมีอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นเอกภาพของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และผู้นำศาสนา อันเป็นองคาพยพที่สำคัญ
เพราะนั่นจะสร้างพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในงาน "มหกรรมเฉลิมฉลอง : ชื่อบ้านในความทรงจำ"