บทเรียน “อ่าวทองคำ” ชัยชนะชุมชน สู่การปฏิรูปนโยบายสาธารณะ
“…เมื่อไหร่ที่ไม่เกิดเจตนารมณ์ของผู้คน ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นี่คือบทเรียนสำคัญของพวกเรา…”
“…จะฟังกันไหม นิทานใต้แสงดาว เป็นเรื่องเป็นราว ของพี่น้องชาวเล จะรู้กันไหม เมื่อลมหวนซวนเซ มือใครไกวเปล จากทะเลถึงภูผา จะฟังกันไหม นิทานท่านศาลา สืบโยดย่านมา ในอ่าวทองคำ…”
บางส่วนจากบทเพลง “นิทานอ่าวทองคำ” ซึ่งแต่งขึ้นโดยศิลปินวง ‘Hope Family’ บ่งบอกสถานะของอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญจนได้รับการขนานนามว่า “อ่าวทองคำ” ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ก่อนจะมาเป็น “อ่าวทองคำ” นั้น บริเวณดังกล่าวเคยเกิดปัญหาถูกนายทุน และภาครัฐ รวมไปถึงบรรษัทข้ามชาติเข้ามารุกรานบ่อยครั้ง จากแต่ก่อนที่นี่เคยมีเรือประมงกว่า 2,000 ลำ กลับเหลือเพียงแค่ไม่กี่ลำจนสามารถนับได้ ภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น
อาจเรียกได้ว่าถึงขั้นเกือบจะ “ล่มสลาย” กันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ด้วยความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มชาวบ้านบริเวณอ่าวท่าศาลา ได้มีการจัดตั้ง ‘เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา’ ขึ้น ไว้ต่อกรกับการบุกรุกของนายทุน ภาครัฐ และบรรษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับภาครัฐ เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ได้รู้ถึงปัญหา และความสำคัญของอ่าวท่าศาลา
จนกระทั่งเมื่อปี 2556 หลังจากยืนหยัดต่อสู้มาอย่างยืดเยื้อยาวนาน ชุมชนอ่าวท่าศาลา ก็ได้รับ “รางวัลสมัชชาสุขภาพปี 2556” ประเภทรางวัล 1 กรณี ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ชุมชนที่ใช้เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะ หรือ “เอชไอเอ” ที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม
และล่าสุด เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ได้จัดเวที ‘ขับเคลื่อนนโยบาย เคลื่อนไหวสังคม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่’ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยมีหัวข้อคือ “ศูนย์การเรียนรู้เอชไอเอชุมชน กรณีพื้นที่อ่าวทองคำสิชล – ท่าศาลา” เพื่อเป็นการเรียนรู้วิธีการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ว่าทำกันอย่างไรจึงประสบความสำเร็จได้ในเชิงนโยบายสาธารณะ
“คนในชุมชนมีปัญหาตั้งแต่ปี 2540 เรื่องการแย่งชิงทรัพยากรหอยลาย จากเรืองประมงพาณิชย์ ที่เข้ามาดำเนินการด้วย ‘เรือคลาดหอยลาย’ ส่งผลให้ระบบนิเวศในท้องทะเลเสียหาย ชาวบ้านได้รับผลกระทบเยอะ จนบางคนถึงกับต้องหยุดไปถึง 5 ปี”
คำบอกเล่าจาก สุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ่านอ่าวท่าศาลา ที่พูดถึงเรื่องราวก่อนจะมาเป็นเครือข่ายประมงพื้นบ้าน และว่า ในปี 2540 ชาวประมงได้รวมตัวกันปิดถนน เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่สักพักเรื่องก็เงียบหายไป หลังจากนั้นในปี 2546 จึงเกิดกลุ่มอนุรักษ์ และมีการเฝ้าระวังกลุ่มเรือที่ทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น
สุพร เล่าว่า ในช่วงปี 2546 นั้นทรัพยากรยังมีอยู่เยอะ แต่ปัญหาก็เข้ามาเยอะ โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะหมู่ที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็นหมู่บ้านพี่น้องมุสลิม การจับกลุ่มทำเรื่องอนุรักษ์อาจไปขัดหลักศาสนา อย่างไรก็ดีเหล่าแกนนำได้พูดคุยกันและถอดบทเรียนว่า เราจะทำแต่เรื่องอนุรักษ์ และจะไม่รบกับญาติพี่น้อง หลังจากนั้นในปี 2547 ก็ได้จัดทำกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อจะเชื่อมรอยร้าวของพี่น้องเข้าด้วยกัน ซึ่งมีบางส่วนที่ประกอบอาชีพเรือผิดกฎหมาย ต่อมาในปี 2548 เกิดกลุ่มร้านค้าขึ้นมาในชุมชน และในปี 2549 – 2550 ก็เกิดกองทุนสวัสดิการเข้ามา
“แต่ในภาพเชิงขบวนการที่ทำให้บุคคลภายนอกได้รับรู้คือในปี 2550 เรือคลาดหอยลายก่อปัญหาหนัก ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกัน จนกระทั่งเกิดข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นมา หลังจากนั้นก็ได้กระบวนการหาภาคีเครือข่าย หาแนวร่วม ต่อมาจึงได้จดทะเบียนเป็น ‘สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา’ ในปี 2556 และได้ไปสร้างกระบวนการที่จะนำประเด็นผลกระทบในอีกแง่มุมหนึ่งให้พี่น้องในชุมชนเขารับรู้” สุพร ระบุ
คำถามคือในช่วงหลายปีที่ยืนหยัดต่อสู้มานั้น ชุมชนท่าศาลา เจอวิกฤตปัญหาอะไรบ้าง และเอาชนะได้อย่างไร ?
“ปัจจัยคุกคามพื้นที่อ่าวท่าศาลา มีอยู่ 3 ปัญหาหลักคือ 1.เรือคลาดหอยลาย 2.โรงไฟฟ้าถ่านหิน และ 3.บรรษัทพลังงานยักษ์ข้ามชาติ
โดยทั้ง 3 ปัญหาดังกล่าวเราสามารถแก้ไขได้จนหมดสิ้น เช่น เรื่องเรือคลาดหอยลาย เราต่อสู้จนสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้เป็นรายแรกของประเทศไทย เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเราสามารถลงสัญญาประชาคมด้วยคน 1 หมื่นคน และเรื่องบรรษัทพลังงานยักษ์ข้ามชาติ เราสามารถชูประเด็นเรื่องพื้นที่ของเราจากทะเลที่มีแต่โคลนตม กลายเป็นอ่าวทองคำ กลายเป็นวาระประจำปีของอำเภอ จนกลายเป็นเทศกาลคนกินปลาในที่สุด”
คำยืนยันจาก ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ประสานงานสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา กล่าวถึงปัญหาหลักที่ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และว่า เราต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2549 เรื่องปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 23 โครงการ จนกระทั่งถึงปี 2556 ที่ต่อสู้จนชนะบรรษัทพลังงานยักษ์ข้ามชาติ
“แต่บางเรื่องเราเป็นคนตัวเล็ก ๆ ไม่สามารถหยิบทุกเรื่องมาสู้ได้พร้อมกัน ดังนั้นบางเรื่องเราจึงต้องรู้จักรอ แล้วก็รู้จักรุก หลังจากที่เขาทุ่มทุนมา” ทรงวุฒิ ระบุ
ขณะที่ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล กรรมการสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา แกนหลักของการทำเอชไอเอชุมชน อธิบายว่า หากมีภัยคุกคามเข้ามา สิ่งที่เราต้องทำคือสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง นั่นคือกระบวนการ เอชไอเอชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่กำหนดอนาคต และมันไม่ใช่กระบวนการวิจัยเพื่อทำข้อมูลเพียงอย่างเดียว
“เรามีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง เรื่องสุขภาพ เรื่องผลกระทบเราก็เรียนรู้มันว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง เราต้องเลือกแล้วประเมินว่าจะอยู่แบบไหน ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนร่วมมือเราก็จะเลือก ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนหลักการ แต่ไม่ทำให้เป็นรูปธรรมก็จะไม่มีพลัง” ประสิทธิ์ชัย ยืนยัน
ประสิทธิ์ชัย ตั้งคำถามถึงภาครัฐว่า ประเทศนี้เกิดอะไรขึ้น รัฐบาลและนักการเมืองไม่เคยจัดการยุทธศาสตร์การพัฒนา ใครมีอำนาจจะทำตรงไหนก็ได้ ดังนั้นเราบอกว่าเราไม่ยอมแล้ว หลังจากนี้ประชาชนทั้งภาคใต้จะลุกขึ้นมา เราขอเวลา 6 เดือน แล้วจะได้เห็นว่ามีประชาชนลุกฮือขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนระบบให้ได้ นี่คือสิ่งที่ตกผลึกจากการทำงานในรอบ 10 ปีของฝ่ายชุมชน เอ็นจีโอ และเครือข่ายภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ ประสิทธิ์ชัย เสนอด้วยว่า ถ้าจะแก้ให้หมดคือต้องสร้างความรู้ให้ประชาชนเกิดเจตจำนงร่วมกันก่อนว่าทั้งหมดที่พูดมามันไม่ดีอย่างไร และถ้าไปเปลี่ยนจะเกิดผลกระทบอย่างไร ศึกษาเนื้อหาวิชาการระดับพื้นที่ออกมา ไม่อย่างนั้นจะไม่ชัดว่าแต่ละพื้นที่มีศักยภาพอะไร หลังจากนั้นค่อยสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งนโยบายสาธารณะที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็คือ Social Movement
“เมื่อไหร่ที่ไม่เกิดเจตนารมณ์ของผู้คน ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นี่คือบทเรียนสำคัญของพวกเรา” ประสิทธิ์ชัย ระบุ
ชัยชนะของชุมชนท่าศาลา ก่อนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ?
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ คสช. มีข้อสรุปว่า มีเรื่องที่จะต้องปฏิรูปใหญ่ ๆ อยู่ 2 เรื่องคือ เรื่องฐานทรัพยากร ที่ขณะนี้ทั้งโลกกำลังอยู่ในสงครามแย่งชิงทุกรูปแบบ ดังนั้นขอให้ที่นี่จงมีความภาคภูมิใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของชัยชนะ ทั้งนี้เรื่องฐานทรัพยากรมีความฉ้อฉลในอำนาจ ดังนั้นถ้ามองเรื่องนี้ก็ต้องปฏิรูปประเทศไทย ถ้าโครงสร้างเป็นแบบนี้เราเข้มแข็งอย่างไรก็ไม่ชนะ
“อีกเรื่องที่เห็นชัดมากคือ อำนาจไปอยู่ผิดที่ มันไปอยู่ข้างบน ฉะนั้นเขาไม่ได้คิดว่าข้างล่างมีสิทธิตัดสิน ตอนนี้รัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 เขียนไว้แต่ยังไม่จริง ดังนั้นการปฏิรูปครั้งนี้หากไม่สามารถคืนอำนาจมาให้ชุมชนได้บ้างบางส่วน การปฏิรูปก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องสู้กันอีกยาว ข้างล่างจะต้องลุกขึ้นมา” นพ.อำพล ระบุ
นพ.อำพล เสนอทิ้งท้ายด้วยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะจะเป็นส่วนลดความขัดแย้ง ใช้เวลาในการพูดคุยกันเยอะ ตกลงผลประโยชน์ร่วมกัน รับฟังซึ่งกันและกัน เข้าใจกันได้ อย่างไรก็ดีหากพลังพลเมืองไม่พอก็ล้มเหลว ดังนั้นต้องกลับมาดูที่ชุมชนเราก่อนว่ามีเยอะหรือไม่