วันแห่งความรัก
วันแห่งความรัก
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย ในชีวิตประจำวันมีแต่ประเด็นการเมือง อย่าลืมว่าการดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขนั้นยังมีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่าอีกหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือเรื่องครอบครัว
และแล้ววันแห่งความรักก็มาถึงอีกรอบ ผู้ใหญ่อาจจะลืมไปแล้วและไม่คิดว่ามันเป็นสาระอะไร แต่สำหรับวัยรุ่นผู้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว เขาถือว่ามันเป็นสาระสำคัญกับเค้ามาก มากถึงขั้นที่ยอมละทิ้งหรือไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับอนาคตของตนเอง นั่นคือ การมีบุตรในภาวะที่ไม่พร้อม
ลองดูสถิติการคลอดของเด็กวัยรุ่นที่อายุ 11-19 ปี ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ (สิทธิ สปสช.) ในช่วงปี 2550-2553 ซึ่งวัยรุ่นในสิทธินี้ให้กำเนิดบุตรประมาณ 8% ของเด็กที่เกิดในแต่ละปี
ในช่วง 4 ปี เราเห็นรูปแบบการคลอดบุตรของวัยรุ่นในแต่ละเดือนอย่างชัดเจน การคลอดมีจำนวนสูงมากที่สุดในเดือนตุลาคม (สถิติยังไม่รวมการทำแท้งนอกโรงพยาบาล) ซึ่งหมายความว่า เธอทั้งหลายตั้งครรภ์ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เดือนที่มีการคลอดมากอันดับสองคือ เดือนกันยายน ซึ่งก็คือการตั้งครรภ์ในเดือน มกราคมถึงกุมภาพันธ์ นั่นเอง
ช่วงนี้เดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ช่วงเดือนที่มีความเสี่ยงต่ำคือ เดือน เมษายนถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม พ่อแม่ควรทราบว่า เราส่งลูกไปโรงเรียนนั้น เหมือนกับการส่งไปผจญภัยนอกบ้านด้วย มีอะไรตื่นเต้นที่เด็กอยากรู้มากมายนัก
เราจะป้องกันไม่ให้เด็กตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมได้อย่างไรบ้าง
คงไม่ต้องหวังว่ารัฐจะสามารถช่วยอะไรได้
ตอนนี้ผู้ที่สำคัญมากคือ พ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
ผู้ปกครองที่อนุรักษ์นิยม ก็คงต้องไม่ปล่อยให้เด็กมีโอกาสตั้งครรภ์ (ตามวิธีที่ท่านคิดว่าได้ผล) ส่วนผู้ปกครองที่เสรีนิยม ก็คงต้องสอนวิธีป้องกันและเน้นย้ำผลที่จะตามมา (เช่น พ่อแม่เสียใจและผิดหวัง ลูกเรียนไม่ทันเพื่อน หรือต้องออกจากโรงเรียน ต้องมาเช็ดฉี่และอึของเด็กทารก) อย่างไรซะ ผู้ปกครองก็สำคัญมาก เห็นได้จากการที่ช่วงปิดเทอมที่เด็กได้อยู่กับผู้ปกครองนั้นเป็นช่วงที่มีการเริ่มต้นตั้งครรภ์ที่ต่ำ
สุดท้ายครูและอาจารย์ ท่านเหล่านี้ก็สำคัญมากๆ น่าจะมีบทบาทในการเน้นย้ำกับวัยรุ่นผู้ชาย พ่อแม่ไทยมักคิดว่ามีลูกชายโชคดีไม่ต้องกลัวตั้งครรภ์ ช่องว่างของความคิดแบบนี้ก็เลยเพิ่มบทบาทให้ครูอาจารย์ ได้มีส่วนร่วมในการเตือนวัยรุ่นชายให้คำนึงถึงปัญหาต่อตนเอง (การติดโรคทางเพศสัมพันธ์ หรือมีบุตรไม่พร้อม) ปัญหาต่อครอบครัว (ทำให้คนที่ตนรักเสียใจ) และต่อสังคม (เด็กที่เกิดมามีปัญหา) คงต้องช่วยกันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
ทุกคนน่าจะช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อสังคมที่ดีขึ้นด้วย อย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเรา