เปิดบันทึก"ลับ"ตุลาการฯมัด"บิ๊ก"ศาล ปค. เปลี่ยนองค์คณะคดีพระวิหาร?
"..การใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงองค์คณะในระหว่างการพิจารณาคดีจนเปลี่ยนผลของคดีได้ ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงทำให้ตุลาการขาดหลักประกันความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี.."
เป็นเวลานานกว่า 3 ปี นับแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติให้รับเรื่องร้องเรียน กล่าวหา นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุดและและนายจรัญ หัตถกรรม อดีตหัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเปลี่ยนองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดในการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
ทั้งๆที่มีการสอบปากคำตุลาการศาลปกครองสูงสุดอย่างน้อย 5 คนไปแล้วและยังมีเอกสารหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนองค์คณะหรือการสละสำนวนคดีดังกล่าว อาจขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 (คณะผู้พิทักษ์ความเป็นธรรมในศาลปกครองทำหนังสือร้องเรียนประธาน ป.ป.ช.ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2553)โดยให้นายวิชัย วิวิตเสวี (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา)กรรมการ ป.ป.ช.เป็นเจ้าของสำนวน
แต่การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า มีการดองเรื่อง และพยายามเตะถ่วงคดีโดยกรรมการ ป.ป.ช.บางคนดังนี้
หนึ่ง ไม่ยอมสอบปากคำพยานตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ไว้นานกว่า 1 ปีด้วยวิธีการไม่ยอมส่งหนังสือเรียกพยานมาสอบปากคำ เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อต้นปี 2556 ซึ่งพยานที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้สอบปากคำเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดองค์ณะที่ 2(ขณะนั้น)ซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดีปราสาทพระวิหารในครั้งแรก ประกอบด้วย นายจรัญ หัตถกรรม หัวหน้าคณะและเจ้าของสำนวน นายชาญชัย แสวงศักดิ์, นายเกษม คมสัตย์ธรรม, นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา และนายธงชัย ลำดับวงศ์
สอง การสอบปากคำน่าจะเสร็จสิ้นตั้งแต่กลางปี 2556 แต่จนบัดนี้เวลาล่วงพ้นมานานกว่าครึ่งปี กลับไม่มีการสรุปสำนวนใดๆ
สาม คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพิ่งมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 หลังจากให้เจ้าหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงจนเกือบครบถ้วนแล้ว โดยให้นายวิชัย วิวิตเสวี เป็นเจ้าของสำนวนตามเดิม ทั้งๆที่ช่วงที่นายวิชัย ดูแลเรื่องนี้ การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า และนายวิชัยเคยเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยุติเรื่อง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินการต่อ
สี่ หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนนายอักขราทร และนายจรัญ หัตถกรรมแล้ว ต่อมานายวิชัย วิวิตเสวีได้เสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทบทวนมติให้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนนายจรัญ เพียงคนเดียวโดยอ้างว่า พยานหลักฐานยังไม่พาดพิงถึงนายอักขราทร ทั้งๆที่นายอักขราทรเป็นผู้สั่งเปลี่ยนองค์คณะในการพิจารณาเป็นคณะที่ 1 ที่มีตนเองเป็นประธานโดยอ้างการสละสำนวนของนายจรัญ
ห้า นับแต่มีมีติตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน การสอบปากคำพยานเสร็จสิ้นไปนานแล้วกอปรกับการแสวงหาเอกสารหลักฐานน่าจะครบถ้วนเช่นเดียวกัน แต่เวลาล่วงพ้นมานานถึง 9 เดือนกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ตุลาการศาลปกครองถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของผู้ถูกกล่าวหาและกรรมการ ป.ป.ช.บางคนในแวดวงตุลาการ
สำหรับความเป็นมาของคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
แต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)ยื่นฟ้อง ครม.นายสมัครและกระทรวงการต่างประเทศต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนมติ ครม.ที่สนับสนุนให้มีการออกแถลงการณ์สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้นำมติ ครม.ไปดำเนินการใดๆ
ครม.นายสมัคร จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งครั้งแรก(วันที่ 1 สิงหาคม 2551) นายอัขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด(ขณะนั้น)ได้สั่งให้จ่ายสำนวนให้แก่องค์คณะศาลปกครองสูงสุดคณะที่ 2 ซึ่งที่มีนายจรัญ หัตถกรรม เป็นหัวหน้าคณะและเจ้าของสำนวน ตุลาการอีก 4 คน ประกอบด้วย นายชาญชัย แสวงศักดิ์, นายเกษม คมสัตย์ธรรม, นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา และนายธงชัย ลำดับวงศ์
แต่ ในวันที 13 สิงหาคม 2551 นายจรัญได้ทำบันทึกส่งคืนสำนวน(สละสำนวน)ให้แก่นายอักขราทรโดยอ้างว่ามีคดีค้างพิจารณาเป็นจำนวนมาก อาจทำให้การพิจารณาล่าช้า ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง มาตรา 56(3) จากนั้น นายอักขราทรได้สั่งให้จ่ายสำนวนให้แก่คณะที่ 1 (มีตุลการจำนวน 7 คนประกอบด้วยหัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขณะที่องค์คณะปกติมีตุลาการ 5 คน)มีนายอักขราทรเป็นหัวหน้าคณะ
ปรากฏว่า องค์คณะที่ 1 มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง โดยไม่มีบุคคลภายนอกทราบว่า ในการเปลี่ยนองค์คณะในการพิจารณาดังกล่าวหรือที่อ้างว่า ”การสละสำนวน”นั้นมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง และนำไปสู่การร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.จนกระทั่งมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าวข้างต้น
จากเอกสารการร้องเรียนและเอกสารหลักฐานซึ่งประกอบการร้องเรียน รวมถึงหนังสือของ ป.ป.ช.ที่สอบถามข้อเท็จจริงจากศาลปกครอง บันทึกการประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)พบข้อเท็จจริง ดังนี้
หนึ่ง หลังจากที่นายอัขราทรสั่งจ่ายสำนวนคดีปราสาทพระวิหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 .ให้แก่องค์คณะที่ 2 ซึ่งมี่นายจรัญ หัตถกรรม เป็นหัวหน้าคณะ นายจรัญได้มอบหมายให้นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลการศาลปกครองสูงสุด พิจารณาความเห็นเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารประกอบการพิจารณาขององค์คณะที่ 2 (คำร้องที่ 530/2551)ซึ่งนายชาญชัยได้ทำบันทึกความเห็นลงวันที่ 7 สิงหาคม 2551 ถึงนายจรัญโดยนายชาญชัยเห็น(ตามเอกสารแนบ)ว่า “สมควรสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น(ที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว)และมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี”
ทั้งนี้นายจรัญ หัตถกรรมได้เขียนบันทึกต่อท้ายว่า “ขอหารือองค์คณะและขอฟังความเฟ็นตุลาการในองค์คณะก่อน”
(ดูหลักฐานประกอบ)
สอง จากบันทึกดังกล่าว แสดงว่า นายจรัญ ได้มอบหมายให้นายชาญชัยทำความเห็นตั้งแต่ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม 2551 ซึ่งถ้านายจรัญมีสำนวนค้างการพิจารณามากจริง จนต้องสละสำนวน ก็ไม่ควรสั่งให้นายชาญชัยทำความเห็นประกอบการพิจารณาคดี และยังเขียนบันทึกต่อท้ายว่า “ขอหารือองค์คณะและรอฟังความเฟ็นองค์คณะก่อน”
สาม มีเอกสาร (ร่าง)“คำสั่งศาลปกครองสูงสุด”ในคดีดังกล่าวจำนวน 23 หน้า ที่ระบุให้มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น แต่ปรากฏว่า มีเพียงนายจรัญ หัตถกรรม ลงนามเพียงคนเดียว ไม่มีตุลาการอีก 4 รายลงนาม
ตามคำร้องเรียนระบุว่า เป็นคำสั่งที่นายจรัญ ร่างขึ้น ถ้าเป็นข้อเท็จจริงแสดงว่า การที่นายจรัญอ้างว่า สละสำนวนคดีดังกล่าวเพราะมีคดีค้างพิจารณาเป็นจำนวนมาก จนต้องสละสำนวน ฟังไม่ขึ้น
สี่ นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ทำบันทึกด้วยลายมือลงวันที่ 18 สิงหาคม 2551 ถึงนายจรัญ ระบุว่า “ตามที่องค์คณะที่ 2 ได้พิจารณาคดีปราสาทพระวิหารแล้ว มีมติให้ผมยกร่างคำสั่งตามความเห็นที่ได้เสนอนั้น บัดนี้ผมได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และได้นำเสนอให้ฝ่ายข้างมากอีก 2 ท่านได้พิจารณาแล้วโดยได้มีการลงนามแล้ว ดังปรากฏตามแนบ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป หากเห็นสมควร”
ปรากฏว่า นายจรัญ เขียนบันทึกต่อท้ายว่า “คดีนี้ผมในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวนได้ขอสละสำนวนต่อท่านประธานฯและเสนอสำนวนไปแล้ว ตามมาตรา 56 วรรคสาม(3)แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และ..ตุลาการในองค์คณะทั้งสามท่านได้ลงนามในคำสั่งแล้ว ผมไม่อาจพิจารณาดำเนินการต่อไปได้”
(ดูหลักฐานประกอบ)
ใน”คำสั่งศาลปกครองสูงสุด”ที่นายชาญชัยยกร่างแนบมากับบันทึกนั้นระบุว่า “จึงมีคำสั่งให้ยกคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นและส่งสำนวนคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้องต่อไป” ลงชื่อโดยตุลการฝ่ายข้างมาก 3 คนประกอบด้วย นายชาญชัย นายธงชัยลำดับวงศ์ และนายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา
ส่วนเสียงข้างน้อยที่ไม่ลงนามคื อ นายจรัญ หัตถกรรมและนายเกษม คมสัตย์ธรรม
ห้า จากบันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า องค์คณะที่2 มีการพิจารณาดังกล่าว จนทราบผลการพิจารณาแล้ว เพียงแต่รอยกร่างคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เพื่อลงนามเท่านั้น แต่ปรากฏว่า นายจรัญชิงสละสำนวนเสียก่อน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์คณะในการพิจารณาคดีจากคณะที่ 2 เป็นองค์คณะที่ 1 ซึ่งมีนายอักขราทร ในฐานะประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้จ่ายสำนวนเป็นหัวหน้าคณะ
การเปลี่ยนแปลงองค์คณะในการพิจารณาคดีดังกล่าวทำให้ผลการพิจารณาคดีเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อคู่กรณีอย่างร้ายแรง
หก จากข้อเท็จจริงทั้งหมดชี้ให้เห็นด้วยการสละสำนวนของนายจรัญไม่เคยมีการหารือกับองค์คณะ เลย เพราะถ้านายจรัญ มีสำนวนค้างการพิจารณามากจริงก็สามารถที่จะจ่ายสำนวนหรือโอนสำนวนให้แก่ตุลาการในองค์คณะได้ตั้งแต่ต้น การชิงสละสำนวนหลังจากที่มีการหารือในองค์คณะจนทราบผล ของคดีแล้ว ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองหรือไม่
เจ็ด รายการงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุดประธาน(ก.ศป.เป็นผู้แต่งตั้ง)และได้ส่งรายงานดังกล่าวต่อ ปงป.ช. อ้างว่า หลังจากที่นายอักขราทรได้จ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะที่ 2 นายจรัญไม่เคยประชุมหรือหารือกับองค์คณะเลย ซึ่งขัดแย้งกับพยานหลักฐานข้างต้นอย่างสิ้นเชิง
แม้ต่อมา ป.ป.ชได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับ(ร่าง)คำสั่งศาลปกครองสูงสุดฉบับนายจรัญและนายชาญชัย คณะกรรมกรชุดดังกล่าว ยังอ้างว่า เป็นเอกสาร “นอกสำนวน” ไม่มีในรายงานกระบวนพิจารณาขององค์คณะที่ 2
คำตอบดังกล่าวของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ ก.ศป.ตั้งขึ้นทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า อาจมีการทำลายเอกสารหลักฐานต่างๆในรายงานกระบวนพิจารณาหมดแล้ว
การใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงองคณะในระหว่างการพิจารณาคดีจนเปลี่ยนผลของคดีได้ ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงทำให้ตุลาการขาดหลักประกันความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี
ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงต้องวางหลักเกณฑ์ในการจ่ายสำนวน การสละสำนวน การเปลี่ยนองค์คณะ ไว้อย่างเคร่งครัดไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้นอกจากเพื่อหลักประกันในความเป็นอิสระของตุลาการแล้ว ยังเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่คู่กรณีด้วย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ (มาตรา 56) จึงวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องจ่ายสำนวนตามความเชี่ยวชาญขององค์คณะ และ/หรือแบ่งตามพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์คณะ และ/หรือ จ่ายสำนวนโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า (ต้องสร้างระบบรองรับ)
เมื่อจ่ายสำนวนแล้ว ห้ามเรียกคืนหรือโอนสำนวน เว้นแต่ทำตาม
1.ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เช่น เมื่อปรากฏเหตุใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม
2.เมื่อตุลาการหรือองค์คณะถูกคัดค้าน
3.เมื่อตุลาการหรือองค์คณะ มีคดีค้างจำนวนมาก อาจทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า
สำหรับในคดีปราสาทพระวิหาร นายจรัญ หัตถกรรมอ้าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 56 ในการสละสำนวน
แต่จากเอกสารหลักฐานโดยเฉพาะบันทึกของนายชาญชัย แสวงศักดิ์ ได้ทำขึ้นในเดือนสิงหาคม 2551(มีการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. 27 กรกฎาคม 2553)ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้อกล่าวอ้างของนายจรัญ และผลสอบสวนข้อเท็จจริงที่ ก.ศป.ที่มี นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสุดสุดคนปัจจุบันเป็นประธาน
จึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เลิกเตะถ่วงหรือดองคดี เพื่อพิสูจน์ความจริงให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว