เส้นทาง 100 วัน "ม็อบนกหวีด" vs "รัฐบาลเพื่อไทย"
(สุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะปราศรัยที่เวทีสถานีรถไฟสามเสน ภาพจาก www.posttoday.com)
วันศุกร์ที่ 7 ก.พ.2557 ที่ผ่านมา เป็นวันที่มีความสำคัญ ทั้งต่อผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะถ้าจะเทียนกับการแข่งขันมาราธอน วันดังกล่าวถือเป็นหลักไมล์สำคัญ เพราะเป็นการชุมนุมวันที่ 100 พอดิบพอดีของ “ม็อบนกหวีด”
นับแต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เริ่มต้นจัดชุมนุมเล็กๆ ที่สถานีรถไฟสามเสน เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2556
สถานการณ์ทางการเมืองก็มีความเปลี่ยนแปลง และมีพัฒนาการเรื่อยมา
“สำนักข่าวอิศรา” ขอรวบรวมเหตุการณ์สำคัญ ในช่วง 100 วันที่ผ่านมาของ “ม็อบนกหวีด” เพื่อบันทึกไว้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดเหตุสำคัญอะไรขึ้นมาบ้าง
.....
31 ต.ค.2556 ส.ส.ปชป.กลุ่มหนึ่ง นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ส.ส.สุราษฎร์ธานี เริ่มต้นจัดเวทีปราศรัยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ที่สถานีรถไฟสามเสน
01 พ.ย.2556 เวลาประมาณตีสี่ วันเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ในวาระที่ 3 ก่อนส่งไปให้วุฒิสภาดำเนินการต่อไป
04 พ.ย.2556 สุเทพนำผู้ชุมนุมเดินขบวนไปสักการะศาลหลักเมืองและวัดพระแก้ว ก่อนย้ายเวทีปราศรัยมาตั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นจุดเริ่มต้นของ “ม็อบราชดำเนิน”
07 พ.ย.2556 สภาฯ มีมติถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวม 6 ฉบับ ที่ยังไม่ได้พิจารณา ออกจากระเบียบวาระการประชุม “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติการชุมนุม โดยอ้างว่าการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสิ้นสุดแล้ว
11 พ.ย.2556 สุเทพพร้อม ส.ส.ปชป.รวม 9 คน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมยกระดับการต่อสู้โดยเปิดมาตรการอารยะขัดขืน 4 ข้อ ทั้งนัดหยุดงาน 3 วัน-ชะลอจ่ายภาษี-ประดับธงชาติ-เป่านกหวีดใส่คนในรัฐบาล
วันเดียวกัน วุฒิสภามีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ขณะที่ศาลโลกวินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหาร โดยให้ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาไปหาวิธีบริหารจัดการพื้นที่พิพาทร่วมกัน
(วุฒิสภาลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2556 ภาพจาก www.dailynews.co.th)
15 พ.ย.2556 สุเทพยกระดับการต่อต้านจากการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง มาเป็น “ขับไล่ระบอบทักษิณ”
19 พ.ย.2556 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นัดชุมนุมใหญ่ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
20 พ.ย.2556 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งเนื้อหาและกระบวนการพิจารณา
24 พ.ย.2556 สุเทพนัดชุมนุมใหญ่ที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนประกาศดาวกระจายใหญ่ 13 จุดในวันรุ่งขึ้น
25 พ.ย.2556 ผู้ชุมนุมดาวกระจายไป 13 จุด ได้แก่ กองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตำรวจนครบาล (บช.น.) ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานประมาณ ก่อนสุเทพจะปักหลักยึดกระทรวงการคลังเป็นเวทีปราศรัยแห่งที่ 2 นอกจากไปจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ค่ำวันเดียวกัน นายกฯ ประกาศขยายพื้นที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไปใน 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จากเดิมที่ใช้อยู่แค่ 3 เขต ใน กทม.
26 พ.ย.2556 ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยิ่งลักษณ์กับ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รมว.มหาดไทย เป็นเวลา 2 วัน 2 คืน ก่อนที่ประชุมสภาฯ จะมีมติไว้วางใจบุคคลทั้ง 2 ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป
27 พ.ย.2556 สุเทพนำผู้ชุมนุมดาวกระจายบุกยึดกระทรวงสำคัญ 14 กระทรวง ก่อนจะเข้ายึดศูนย์ราชการเป็นเวทีปราศรัยอีกแห่ง รวมขณะนั้นมีเวทีปราศรัย 3 แห่ง ประกอบด้วย “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-กระทรวงการคลัง-ศูนย์ราชการ”
(เปิดตัว กปปส. เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2557 ที่เวทีปราศรัยศูนย์ราชการ ภาพจาก www.prachatai.com)
29 พ.ย.2556 สุเทพพร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และแกนนำกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ (กปท.) รวมตัวกันบนเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศตั้ง “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)” โดยสุเทพเป็น “เลขาธิการ กปปส.”
30 พ.ย.2556 เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้ต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาลบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่าง นปช.ชุมนุมอยู่ภายในสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย
1 ธ.ค.2556 ผู้ชุมนุม กปปส.พยายามบุกยึดทำเนียบรัฐบาล สตช.และ บช.น. ขณะที่ตำรวจพยายามสกัดกั้นอย่างเต็มที่ มีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และน้ำผสมสารเคมี ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก วันเดียวกัน แกนนำ กปปส.บุกไปตามฟรีทีวีช่องต่างๆ เพื่อขอให้เกี่ยวสัญญาณบลูสกาย ก่อนที่สุเทพจะอ่านแถลงการณ์ กปปส.ฉบับที่ 1 ประกาศให้ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2556 เป็นต้นไปเป็นวันหยุดงานทั่วประเทศ
เย็นวันเดียวกัน ผบ.เหล่าทัพนำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก ได้เชิญสุเทพไปพูดคุยกับยิ่งลักษณ์ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.)
2 ธ.ค.2556 ผู้ชุมนุม กปปส.ยังพยายามบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลและ บช.น. แต่ไม่ประสงค์ความสำเร็จ
3 ธ.ค.2556 ตำรวจปล่อยให้ผู้ชุมนุม กปปส.บุกเข้าทำเนียบรัฐบาลและ บช.น.ได้ โดยไม่มีการสกัดกั้น ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะล่าถอยออกจากสถานที่ทั้ง 2 แห่งในเวลาต่อมา โดยแกนนำ กปปส.ประกาศว่า เป็นชัยชนะขั้นต้น
ค่ำวันเดียวกัน สุเทพพูดถึงแนวคิดเรื่อง “สภาประชาชน-นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ที่แต่งตั้งโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 7
8 ธ.ค.2556 ปชป.มีมติให้ ส.ส.ลาออกจากตำแหน่งยกพรรค
(ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 ภาพจาก www.manager.co.th)
9 ธ.ค.2556 ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา เช้าวันเดียวกับที่ กปปส.นัดชุมนุมใหญ่ก่อนเคลื่อนขบวนเป็น 8 เส้นทาง เพื่อบุกล้อมทำเนียบรัฐบาล
วันเดียวกัน กปปส.ได้รื้อถอนเวทีที่ “ศูนย์ราชการ-กระทรวงการคลัง” กลับมารวมกันที่เวที “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เพียงแห่งเดียว
18 ธ.ค.2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สั่งอายัดบัญชีแกนนำ กปปส.รวม 18 คน
21 ธ.ค.2556 ปชป.มีมติบอยคอยการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ค่ำวันเดียวกัน พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์ว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าปฏิรูปและคืนอำนาจให้กับประชาชน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี
22 ธ.ค.2556 กปปส.นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง พร้อมตั้งเวทีใหญ่ 5 สถานีสำคัญ ประกอบด้วย 1.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2.สี่แยกราชประสงค์ 3.สี่แยกปทุมวัน 4.สี่แยกอโศก และ 5.สวนลุมพินี เพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออกเปิดทางให้ตั้งสภาประชาชน จะเคลื่อนขบวนไปล้อมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ไม่ให้แต่ละพรรคการเมืองสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะมีขึ้นในเช้าวันถัดไป
25 ธ.ค.2556 ยิ่งลักษณ์แถลงเสนอโมเดลสภาปฏิรูป 499 คน
26 ธ.ค.2556 เกิดเหตุปะทะหน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เมื่อ กปปส.พยายามสกัดกั้นไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปจับสลากหมายเลขในอาคารกีฬาเวศน์ 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
วันเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ออกไปก่อน โดย กกต.พร้อมเป็นคนกลางในการเจรจาหาข้อยุติ
(เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสกัดผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ไม่ให้เข้ามาภายในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2556 ภาพจาก www.bangkokbiznews.com)
27 ธ.ค.2556 มีการปิดทางเข้าออกสถานที่สมัคร ส.ส.แบบเขต ในพื้นที่ภาคใต้ จนทำให้ใน 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัคร
29 ธ.ค.2556 สุเทพประกาศแผนชัตดาวน์ กทม.
13 ม.ค.2557 การชัตดาวน์ กทม.ของ กปปส.เริ่มต้นขึ้น โดยมีการตั้งเวทีปราศรัย 7 จุดรอบ กทม. ประกอบด้วย “สี่แยกปทุมวัน-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สี่แยกราชประสงค์-สี่แยกอโศก-สวนลุมพินี-ศูนย์ราชการ-ห้าแยกลาดพร้าว” โดยรื้อเวทีเดียวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทิ้ง
17 ม.ค.2557 คนร้ายปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุม ขณะเดินขบวนอยู่บริเวณถนนบรรทัดทอง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 40 ราย เสียชีวิต 1 ราย
19 ม.ค.2557 คนร้ายปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมอีกครั้ง บริเวณใกล้เต๊นท์สื่อบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
22 ม.ค.2557 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ เฉพาะ อ.บางพลี และ จ.ปทุมธานี เฉพาะ อ.ลาดหลุมแก้ว เป็นเวลา 60 วัน พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์รักษาความสงบ” (ศรส.) โดยให้ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รมว.แรงงาน เป็นผู้อำนวยการ ศรส.
23 ม.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พรฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่สามารถทำได้หากมีเหตุจำเป็น แต่นายกฯ และประธาน กกต.จะต้องไปหารือกัน
26 ม.ค.2557 การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศล่วงหน้า เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และหลายจังหวัดภาคใต้ เมื่อผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.เข้าไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง จนทำให้หลายหน่วยต้องปิดการลงคะแนนก่อนเวลา
28 ม.ค.2557 ผลการหารือระหว่างรัฐบาลกับ กกต.ได้ข้อสรุปว่า จะไม่มีการออก พรฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่มีหลักประกันว่า เมื่อเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ออกไปแล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ได้
01 ก.พ.2557 เกิดเหตุยิงปะทะบริเวณสี่แยกหลักสี่ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย โดยสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ ต่างจับภาพกลุ่มใช้อาวุธสงครามที่แฝงตัวอยู่ในผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ไว้ได้
(หนึ่งในผู้ถืออาวุธท่ามกลางผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ที่ถูกจับภาพเอาไว้ได้ ระหว่างเหตุปะทะที่สี่แยกหลักสี่ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2557 ภาพจาก news.th.msn.com)
02 ก.พ.2557 การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศผ่านไปโดยไม่มีเหตุรุนแรง ยกเว้นการปิดหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.บางหน่วย เนื่องจากมีผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.เข้าไปปิดล้อม อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศดังกล่าวก็ยังมีปมปัญหาที่ กกต.ต้องแก้ไขมากมาย ทั้ง 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เขต ผู้ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตกว่า 2 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ลงคะแนน
03 ก.พ.2557 กปปส.ยุบเวทีปราศรัยที่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ห้าแยกลาดพร้าว” โดยอ้างเหตุผลเรื่องการรักษาความปลอดภัย ทำให้เหลือเวทีปราศรัยเพียง 5 จุด
04 ก.พ.2557 ทีมกฎหมาย ปชป.เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 2 ก.พ.2557 เป็นโมฆะ พร้อมกับขอให้ยุบ พท. เนื่องจากกระทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
05 ก.พ.2557 ศาลอาญา อนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. จำนวน 19 คน พร้อมสั่งให้มารายงานตัวภายใน 48 ชั่วโมง จากความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
.....
เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวของ “ม็อบนกหวีด” ที่สำคัญตลอด 100 วันที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่รวมถึงการเดินขบวนเรี่ยไรเงินบริจาค การเดินทางไปปิดสถานที่ราชการสำคัญๆ หลายจุด เหตุใช้อาวุธสงครามยิงมาในสถานที่ชุมนุมเป็นระยะ ฯลฯ
เมื่อสถานการณ์พัฒนามาไกลถึงเพียงนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ จะสิ้นสุดลงที่ตรงไหน และเมื่อใด?