เจาะ 3 เหตุผลใต้เดือด! รัฐบาลเฉยกลางไฟโหม
หลายคนสงสัยว่าทำไมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้รุนแรงขึ้น ทั้งๆ ที่ช่วงปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 ภาพรวมสถานการณ์ดูจะเบาบางลงไป
หากพิจารณาข้อมูลจากตัวเลขที่เก็บรวบรวมโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จะพบว่าจริงๆ แล้วสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนัก
เดือน ม.ค.57 ตลอดทั้งเดือน เกิดเหตุรุนแรงทุกประเภท 66 ครั้ง เป็นเหตุความมั่นคง 56 ครั้ง แบ่งเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 34 ครั้ง ลอบวางระเบิด 22 ครั้ง ยอดผู้เสียชีวิต 45 ราย บาดเจ็บ 46 ราย
ย้อนไปดูสถิติเหตุรุนแรงช่วงเดือน ธ.ค.56 พบว่ามีเหตุความมั่นคงเกิดขึ้น 60 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 46 ราย บาดเจ็บ 105 ราย ขณะที่เดือน พ.ย.กับ ต.ค.56 มีเหตุความมั่นคงเกิดขึ้นเดือนละ 52 ครั้งเท่ากัน
จากสถิติตัวเลขพบว่าจำนวนเหตุรุนแรงไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเหตุยิงหรือระเบิด แต่ช่วงปลายปีที่แล้วอาจมีความสูญเสียขนาดใหญ่ค่อนข้างน้อย และไม่มีกรณีสูญเสียในกลุ่มที่สังคมให้ความสนใจ เช่น เด็ก หรือครู ทำให้ไม่ค่อยเป็นข่าว
หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่วิเคราะห์สาเหตุของภาพรวมสถานการณ์ในห้วงนั้นว่า 1.ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.56 และต้นเดือน ม.ค.57 สถานการณ์การเมืองในส่วนกลางค่อนข้างร้อนแรง และชิงพื้นที่สื่อไปหมด การก่อเหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้หากไม่แรงจริงหรือสร้างความสูญเสียขนาดใหญ่ ย่อมไม่สามารถชิงพื้นที่สื่อไปได้
2.มีการเปลี่ยนถ่ายหรือสร้างกองกำลังรุ่นใหม่ หลังจากช่วงปีที่ผ่านมาบรรดาแกนนำ-แนวร่วมถูกจับกุมดำเนินคดีและเสียชีวิตจากการปะทะไปหลายราย 3.ช่วงปลายปีมักมีฝนตกหนักและน้ำท่วม จึงเป็นช่วงที่สถานการณ์ค่อนข้างเบาบางเป็นปกติอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี ปัจจัยข้อ 2 ที่มีแนวร่วมและแกนนำกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงถูกจับกุมค่อนข้างมากจากปฏิบัติการเชิงรุกของทหารตำรวจนั้น นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 12 ม.ค.57 ว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ห้วงไตรมาสสุดท้ายถือว่าดีขึ้น มีเหตุรุนแรงลดลงเมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
แต่บทวิเคราะห์สถานการณ์ของ พล.ท.สกล ในบรรทัดต่อมาก็ชี้แนวโน้มสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
"กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังไม่ลดความพยายาม พร้อมกับฉกฉวยโอกาสที่มีความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ทำการก่อเหตุร้ายเพื่อลดความน่าเชื่อถือและบั่นทอนอำนาจรัฐ ทั้งการลอบวางระเบิด การซุ่มโจมตีต่อเจ้าหน้าที่ และการลอบทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอ ใช้สื่อออนไลน์และการจัดเวทีเสวนาตอกย้ำเหตุการณ์ในอดีต รณรงค์เรื่องอัตลักษณ์และการกำหนดใจตนเอง รวมทั้งเหตุที่เกิดจากภัยแทรกซ้อนและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน"
ถัดจากนั้นเพียง 2 วัน (14 ม.ค.) สถานการณ์ก็กลับเข้าสู่โหมดรุนแรง โดยมีเหตุยิงครูเสียชีวิตใน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นจุดเริ่ม เพราะเป็นเหตุรุนแรงที่ต้องการผลสะเทือนทางจิตวิทยา เนื่องจากเกิดขึ้นก่อนวันครูเพียง 2 วัน และนับจากนั้นก็มีเหตุร้ายรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นถี่ยิบ
หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่วิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์ได้ว่า 1.แม้บีอาร์เอ็นแถลงชัดเจนว่าไม่เจรจากับรัฐบาลไทยแล้ว แต่ทีมที่เคยร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพทั้งฝั่งไทยและบีอาร์เอ็นยังเชื่อมั่นในแนวทางนี้อยู่ และเห็นตรงกันว่าการเจรจาเป็นทางออกเดียวที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งที่ปลายด้ามขวานได้ ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเร่งก่อเหตุเพื่อสะสมอำนาจต่อรอง เพื่อให้เห็นว่าภาพรวมของปัญหาไม่ได้ดีขึ้นแม้จะผ่านมาถึง 10 ปีแล้ว
2.ฝ่ายขบวนการเสียแนวร่วมและมวลชนไปพอสมควรจากการเปิดหน้าพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย ข้อมูลที่ปรากฏในทางเปิดทำให้ฝ่ายความมั่นคงต่อจิ๊กซอว์ความเชื่อมโยงของคนในขบวนการได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่การปิดล้อมตรวจค้นที่ตรงเป้าและประสบผลสำเร็จมากกว่าเดิม ทำให้บีอาร์เอ็นต้องออกแถลงการณ์ในทางเปิดว่าไม่เจรจา และจัดโครงสร้างภายในใหม่ พร้อมสร้างกองกำลังรุ่นใหม่ ประเด็นนี้ทำให้การสร้างสถานการณ์ชะงักไปช่วงหนึ่ง คือแม้จะมีเหตุรุนแรง แต่ก่อความสูญเสียไม่ได้ คล้ายเป็นช่วงฝึกหรือทดสอบระบบ
3.มีความพยายามเร่งก่อเหตุรุนแรงในลักษณะ "ตอกลิ่ม" คนสองศาสนา และเพิ่มความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับคนมลายูมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นเหตุสังหารพระที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อ 24 ม.ค. เหตุฆ่าเด็กชายสามพี่น้องที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่มีการปล่อยข่าวทันควันว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ
ถัดจากนั้นวันที่ 6 ก.พ.ก็มีเหตุปาระเบิดชาวบ้านที่กำลังเต้นแอโรบิคบริเวณหน้าศาลเจ้า ในเขต อ.เมืองยะลา ซึ่ง นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า เป็นครั้งแรกที่มีการกระทำความรุนแรงในพื้นที่ศาลเจ้า
ทั้งหมดเป็นการเร่ง "งานการเมือง" โดยใช้ "งานการทหาร" เป็นเครื่องมือ ตามยุทธศาสตร์หลัก 3 ข้อของบีอาร์เอ็น คือ สร้างความหวาดระแวงระหว่างคนมลายูกับคนพุทธ สร้างความหวาดระแวงระหว่างคนมลายูกับเจ้าหน้าที่ และทำทุกอย่างไม่ให้คนมลายูเบื่อสงคราม
ที่น่าสนใจคือ บทบาทของภาคประชาสังคมที่คึกคักอย่างยิ่งช่วงที่ปัญหาการเมืองในส่วนกลางยังมองไม่เห็นทางออก ทั้งๆ ที่การเจรจามีแนวโน้มล่มไปแล้ว แต่มีการจัดเวทีเกี่ยวกับ "อนาคตปาตานี" หลังการเลือกตั้ง และเวทีเรื่องการลงประชามติกำหนดใจตนเอง หรือกำหนดชะตาตนเอง ที่เรียกว่า Right to Self-determination ที่ฝ่ายความมั่นคงไทยวิตกกังวล และแม่ทัพภาคที่ 4 พูดเอาไว้ในการแถลงข่าววันที่ 12 ม.ค.
สองเรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษา เยาวชน และปัญญาชนชายแดนใต้ ซึ่งเป็นมิติที่กว้างกว่า ลึกกว่า "เขตปกครองพิเศษ" พร้อมๆ กับการชู "อัตลักษณ์เดี่ยว" คือ "มลายูมุสลิม" ให้เข้มข้นขึ้นอย่างจงใจ
หลายคนบอกว่าการลงประชามติเพื่อกำหนดชะตาตนเอง เกิดขึ้นไม่ได้ถ้ารัฐบาลไทยไม่ยินยอม แต่อีกมุมหนึ่งต้องไม่ลืมว่าการสร้างกระแสจนเกิดรวมตัวกัน จะสร้างความเป็นกลุ่มก้อน และขยายวงกว้างขึ้นจนรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องเจรจาเรื่องรูปแบบการปกครอง เหมือนที่รัฐบาลอินโดนีเซียเจอมาแล้วกรณีอาเจะห์
ขณะที่รัฐบาลไทยยังอยู่เฉยๆ เพราะฝ่ายการเมืองยังทะเลาะกันไม่จบ...
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาแทบจะมีแค่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนเดียวที่เป็นข้าราชการระดับสูงเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ (วันที่ 22 ม.ค.) ส่วนฝ่ายการเมืองนั้นไม่ต้องพูดถึง มัวแต่สาละวนอยู่กับปัญหาการเมืองและผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองเพียงอย่างเดียว
เป็นความเฉยที่สุ่มเสี่ยงสร้างความเสียหายมากมายมหาศาล!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุคนร้ายยิงถล่มรถตู้นักเรียนที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้คนขับเสียชีวิต รถตู้เสียหลักพลิกคว่ำตกข้างทาง
ขอบคุณ : ภาพจากเจ้าหน้าที่ชุดตรวจจุดเกิดเหตุ