ปฏิรูป “จังหวัดจัดการตนเอง”
ปฏิรูป “จังหวัดจัดการตนเอง”
โดย ภาคีพัฒนาประเทศไทย
โจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปประเทศว่าด้วยการระบบการปกครองและการกระจายอำนาจ เพื่อลดทอนอำนาจรัฐส่วนกลางเพิ่มอำนาจให้จังหวัดได้จัดการบริหารตัวเองได้มากขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ของงานภาคประชาสังคม และภาคพลเมืองท้องถิ่น
ด้วยเพราะแนวคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง มีการศึกษาในภาคสนามและห้องวิจัยในท้องถิ่นมากว่า 2-3 ปี กว่าจะมีกฎหมายที่เรียกว่า "(ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ…." ขึ้นมาเมื่อช่วงต้นปี 2557
แต่ความยากของการขับเคลื่อนร่างกฎหมายฉบับนี้ให้มีตราประทับรับรองจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายเพื่อให้เป็นพ.ร.บ.คือการผลักดันให้ “นักการเมือง” ช่วยหนุนเสริมกฎหมายฉบับนี้ให้เข้าสู่สภาผู้แทนฯประกาศเป็น พ.ร.บ. ขึ้นมาใช้ก่อน จากนั้นประชาชนจึงจะสามารถระดมรายชื่อ 5,000 รายชื่อเพื่อให้มีการทำประชามติสอบถามความพร้อมประชาชนในการเป็นจังหวัดจัดการตนเองตามขั้นตอน
“ไพโรจน์ พลเพชร”คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญของงานกระจายอำนาจในวงเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum : TD Forum) ขยายความว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการคลายความขัดแย้งในประเทศไทยตอนนี้ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องคนจน หรือคนรวย อย่างที่เข้าใจกัน ถ้าลงลึกไปในท้องถิ่นพูดคุยกับชาวบ้านจริงๆกลับเป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างกัน 2 เรื่อง คือเรื่องการปฏิรูป และประชาธิปไตยเท่านั้น แต่คนไทยเราไม่ได้ขัดแย้งกันเรื่องการกระจายอำนาจเพราะถ้าเกิดการกระจายอำนาจจริงผู้คนไม่ว่าส่วนไหนก็ได้ประโยชน์
นักกฎหมายเพื่อการปฏิรูปผู้นี้ยืนยันว่า การเข้าชื่อของภาคประชาชนในการเสนอกฎหมายจำนวน 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอเป็นร่างพ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเองน่าจะทำได้ไม่ยากในขั้นตอนแรก เพราะเชื่อว่าภาคประชาชนมีพลังและเข้มแข็งพอ เหมือนที่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถเสนอพ.ร.บ.ผ่านเข้าสู่ชั้นสภาผู้แทนได้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปีก่อน
แต่ขั้นตอนจากนั้นเมื่อมีพ.ร.บ.แล้ว กฎหมายจะมีการเปิดให้ประชาชนในจังหวัดแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน 5,000 รายชื่อ เพื่อให้รัฐบาลจัดให้มีการลงประชามติของประชาชน และจัดตั้งเป็นจังหวัดปกครองตนเองได้ด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ภายใน 180 วันจะมีการออกเสียงประชามติ โดยต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงในจังหวัดนั้น และต้องมีผลคะแนนออกเสียงประชามติจำนวน 3 ใน5 ของผู้มาออกเสียงเห็นชอบให้จัดตั้งจังหวัดปกครองตนเองเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันของหลายฝ่ายในการขึ้นปลกล๊อคอำนาจการปกครองไทยครั้งใหญ่
“เชียงใหม่ ระยอง ภูเก็ต 3 จังหวัดนี้มีการเตรียมความพร้อมศึกษาข้อกฎหมายมีการรวมตัวของภาคประชาสังคม เชียงใหม่ทำกันมานานหลายปี นับตั้งแต่ปี 2551 แล้ว เราจำเป็นต้องเคลื่อนรูปแบบการจัดการปัญหาที่แตกต่างหลากหลายเหมือนที่กรุงเทพทำได้ แต่กฎหมายกรุงเทพใช้มานานตั้งแต่พ.ศ.2528แล้ว เรามีร่างพ.ร.บ. การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ฉบับนี้ ขึ้นมาก็เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างประเทศที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง”ไพโรจน์ระบุ
เพื่อขยายความให้เกิดความเข้าใจที่ง่ายขึ้น พ.ร.บ. การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ….ประกอบไปด้วยหัวใจหลัก 3 ส่วนคือ ว่าด้วยโดยองค์ประกอบจังหวัดปกครองตนเองซึ่งคือ 1.)สภาจังหวัดปกครองตนเอง 2.) ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเอง 3.) สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง
“ ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเองจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัด ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการจังหวัดด้วย มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระมิได้ และให้ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเองเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง”ร่างพ.ร.บ.ระบุ
ส่วนรายละเอียดของ สภาจังหวัดปกครองตนเอง สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยจำนวนสมาชิกสาจัดการตนเอง ขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชน หากจำนวนประชากร น้อยกว่า 500,000คน จำนวนสมาชิกสภา 30 คน จำนวนประชากร 500,001-1,000,000 คน จำนวนสมาชิกสภา 36 คน จำนวนประชากร 1,000,000-2,000,000 คน จำนวนสมาชิกสภา 48 คน และ จำนวนประชากร 2,000,000 คนขึ้นไป มีจำนวนสมาชิกสภา 54 คน
สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วย บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากองค์กร ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคส่วนอื่นที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของสภาพลเมือง มีจำนวนสมาชิกสภาพลเมืองเท่าที่จะพึงมีตามที่กำหนดในข้อบัญญัติ โดยคำนึงถึงสัดส่วนความเท่าเทียมระหว่างเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ย้ำว่า กว่าจะเป็นจังหวัดจัดการตนเองได้ภาคพลเมืองต้อง ตื่นรู้และเท่าทันการบริหารที่ผูกขาดจากส่วนกลาง พร้อมกับเห็นเห็นพ้องต้องกันในการยื่นขอคำประกาศจากนักการเมืองให้ดำเนินการสนับสนุนกฎหมาย ทำความจริงใจ จากการทำงานในสภาฯ ให้เกิดการกระจายอำนาจในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง