ฟังเสียงครูผู้สอน สะท้อนนโยบายแจก 'แท็บเล็ต’
นอกจากโครงการประชานิยมจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ที่หว่านไปให้กับชาวนาทั้งประเทศ ปัจจุบันนี้ชัดเจนแล้วว่า สร้างปัญหา สร้างภาระ ให้กับประเทศชาติมากมาย
ห้วงเวลาเดียวเราจะได้ยินมีข่าวกระทรวงศึกษาธิการยกเลิกสัญญาจัดซื้อแท็บเล็ ของบริษัทเซินเจิ้น อิงถัง อิงเทลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด (Shenzhen Yitoa Intelligent Control Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโซนที 1 ชั้นป.1 (ภาคกลางและภาคใต้) โซนที่ 2 ป.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เนื่องจากผู้ขายไม่สามารถส่งมอบเครื่องแท็บเล็ตให้ได้ตามเงื่อนไขการส่งมอบ
นโยบายแจกของฟรีให้เด็ก กลายเป็นปัญหาหมักหมมอยู่ขณะนี้ นี่ยังไม่นับรวมปัญหาอื่นๆ ในการใช้แท็บเล็ตระหว่างครูกับนักเรียนที่คาราคาซังอีก
สำนักข่าวอิศราพาไปฟังเสียงครูผู้สอนอีกสักรอบ เพื่อตรวจเช็คแท็บเล็ตที่นักเรียนได้รับแจกไปนั้น มีปัญหาข้อดีข้อเสีย และได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
"ลักขณา ปรีชาพรสกุล" คุณครูวัดธารน้ำไหล อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งก่อนจะย้ายมาประจำที่โรงเรียนแห่งนี้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 เธอได้สอนอยู่อีกโรงเรียนหนึ่ง (สงวนชื่อโรงเรียน) ในระดับชั้นป. 1 โดยใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอน
ครูลักขณา มักพบปัญหาหน้าจอเครื่องค้างและเสียบ่อยครั้ง ทำให้ต้องส่งซ่อมยังศูนย์เครือข่ายที่จัดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลานานไม่ทันกับการเรียนการสอน เธอจึงนำไปส่งซ่อมที่ร้านเอกชนแทน โดยโรงเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ส่วนการเชื่อมต่อสัญญาณไวไฟ (Wi Fi) เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้ทันที เมื่อต้องการเพิ่มเติมเนื้อหา ครูลักขณา สะท้อนปัญหา และว่า หากจะให้โรงเรียนเป็นผู้ติดตั้งสัญญาณไวไฟเองอาจจะยากสำหรับพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลที่ขาดทั้งงบประมาณ และระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงก็ยังไปไม่ถึง
ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่ครูชนบทผู้นี้คิดว่าสำคัญเช่นกัน นั่นคือ โรงเรียนขาดจอพร้อมเครื่องโปรเจคเตอร์สอน ทำให้ครูจะต้องเดินสอนนักเรียนตัวต่อตัว บวกกับทักษะการใช้แท็บเล็ตที่แตกต่างกันระหว่างนักเรียนในชนบทกับนักเรียนในเมือง ที่เรียนรู้ได้เร็วกว่า
หลังจากมีการเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ตระยะหนึ่ง ครูลักขณา เห็นว่า เนื้อหาในแท็บเล็ตไม่แตกต่างจากหนังสือเลย ฉะนั้นการใช้หนังสือจึงเหมาะสมกว่าเสมอ เพราะนักเรียนจะเปิดกระดาษอ่านได้รวดเร็วและยังถนอมสายตาด้วย
“จอแท็บเล็ตมีขนาดเล็ก ทำให้เด็กป.1 อาจมีปัญหาทางสายตา แต่หากให้นักเรียนอ่านหนังสือซึ่งมีความกว้างที่เหมาะสมจะดีกว่า” ครูชนบท กล่าว และบอกว่า เมื่อนักเรียนขึ้นชั้นป.2 จะต้องลบข้อมูลเดิมออกจากเครื่อง เนื่องจากความจำไม่เพียงพอ เพื่อบรรจุหลักสูตรใหม่เข้าไปแทน ทำให้ไม่สามารถจะค้นหาข้อมูลเก่าเพื่อทบทวนได้ ผิดกับหนังสือที่ยังเก็บไว้อ่านได้อีก
แม้แท็บเล็ตจะมีสี เสียง ดึงดูดให้นักเรียนสนใจในการเรียน แต่ไม่ใช่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญทั้งหมด เพราะคุณสมบัติแทบไม่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนมีอยู่ แถมจะด้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะแท็บเล็ตไม่ฝึกให้นักเรียนพิมพ์ดีดได้เหมือนคอมพิวเตอร์
ท้ายที่สุด หากรัฐบาลยังต้องการส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ต่อไปควรให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกคนได้สัมผัสด้วย ไม่เฉพาะป.1 เท่านั้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ด้านประกิต เจนเขา คุณครูจากจ.ปราจีนบุรี (สงวนชื่อโรงเรียน) ระบุถึงข้อดีของการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนทำให้นักเรียนเกิดความสนใจและตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่ติดปัญหาตรงที่เครื่องมักเสียหายทำให้ต้องส่งซ่อมบ่อยครั้ง แม้จะกลับมาใช้ได้ตามปกติ แต่ทุกครั้งมักใช้เวลาซ่อมยาวนานเป็นสัปดาห์
ส่วนในกรณีสูญหายนั้น โรงเรียนจะให้ผู้ปกครองเป็นผู้ชดใช้ เพราะถือว่าแท็บเล็ตเป็นสิ่งของในการครอบครองของนักเรียนแต่ละคนแล้ว
“เคยมีการพูดคุยกันระหว่างครูผู้สอนในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน ปรากฏว่าพบเจอปัญหาที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะครูรุ่นเก่าไม่ชอบการสอนด้วยแท็บเล็ต ประกอบกับไม่มีครูรุ่นใหม่มาบรรจุ ทำให้หลายโรงเรียนเก็บแท็บเล็ตไว้ไม่นำมาใช้ในการเรียนการสอน” ครูประกิต กล่าว และคาดหวังว่า รัฐควรพัฒนาซอฟแวร์และคุณภาพของตัวเครื่องอย่างต่อเนื่อง มิใช่อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น
ขณะที่ครูประถมสาวจากจ.สุพรรณบุรี (สงวนชื่อสกุล-โรงเรียน) ให้ข้อมูลว่า ครูผู้สอนในโรงเรียนมักจะบ่นกันเกี่ยวกับหน้าจอแท็บเล็ตค้างและทำงานช้า ส่วนเรื่องเชื่อมต่อสัญญาณไวไฟไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะโรงเรียนจะให้นักเรียนได้เรียนรู้จากเนื้อหาที่บรรจุไว้ในเครื่องเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม เธอเห็นว่า การเรียนการสอนด้วยหนังสือสำหรับนักเรียนในชนบท จะเหมาะกว่าการสอนด้วยแท็บแล็ต ซึ่งหากรัฐบาลยังมีนโยบายนี้อยู่ก็ควรให้ปรับปรุงคุณภาพเครื่องให้ได้มาตรฐานมากกว่านี้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากครูชนบทที่ฝากถึงรัฐบาล ตราบที่ยังยืนยันไม่ล้มนโยบายนี้ และพร้อมเดินหน้าแจกแท็บเล็ตต่อโดยยังไม่แก้ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ว้อยซ์ ทีวี