จากบ้านกะทองถึงบาเจาะ เด็กชายแดนใต้ยังถูกละเมิดสอดรับรายงานยูนิเซฟ
เหตุยิงยกครัวตระกูล "มะมัน" ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 3 ก.พ.2557 ซึ่งทำให้ลูกชาย 3 คนวัยเพียง 11 ขวบ 9 ขวบ และ 6 ขวบของ นายเจะมุ มะมัน เสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่นายเจะมุกับภรรยา นางพาดีละห์ แมยู ซึ่งตั้งท้องลูกคนเล็กได้ 4 เดือน ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถือเป็นเหตุการณ์สลดที่สุดจากชายแดนใต้นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ 2557 อย่างไม่ต้องสงสัย
เหตุสังหารเด็กครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในดินแดนปลายด้ามขวาน เพราะหลายคนได้ย้อนคิดไปถึงเหตุการณ์ "ฆ่ายกครัว" ที่บ้านกะทอง หมู่ 5 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2548 หรือเมื่อกว่า 8 ปีก่อน ซึ่งทำให้คนในตระกูล "อาแวบือซา" ที่มี นายสูเด็ง อาแวบือซา เป็นหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตทั้งหมด 9 ศพ ในจำนวนนี้มีเด็กถึง 4 คน หนึ่งในนั้นวัยเพียง 8 เดือน!
เหตุการณ์ที่เกิดกับครอบครัวของนายเจะมุ แม้ไม่ร้ายแรงเท่ากับครอบครัวของนายสูเด็ง เพราะกรณีบ้านกะทองนั้น คนร้ายปิดหมู่บ้าน ใช้ทั้งระเบิดและอาวุธสงครามยิงถล่ม แม้แต่ชาวบ้านที่ออกมาดูเพราะได้ยินเสียงปืนก็ยังถูกสาดกระสุนบาดเจ็บไปอีก 8 ราย บางครอบครัวอพยพหนีตายข้ามฝั่งไปมาเลเซีย
แต่ประเด็นที่คล้ายคลึงกันก็คือ กรณีของนายเจะมุ มีการให้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่บางหน่วยว่าเขาเป็นอดีตผู้ก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการที่ถูกควบคุมตัวและยอมคายข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ ขณะที่ฝ่ายภรรยาก็มีพี่ชายเป็นแกนนำผู้ก่อความไม่สงบความไม่สงบรายสำคัญซึ่งเสียชีวิตจากการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่เมื่อหลายปีก่อน จึงมีความพยายามสรุปข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของขบวนการก่อความไม่สงบที่ต้องการล้างแค้นและข่มขู่ให้หยุดการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐ!
คำถามที่แหลมคมยิ่งก็คือ ชาวบ้านทั่วไปจะเชื่อข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ เพราะฝ่ายตำรวจกลับให้ข้อมูลในเบื้องต้นขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง โดยบอกว่าเป็นเหตุล้างแค้นส่วนตัวจากคดีฆาตกรรมที่นายเจะมุเข้าไปพัวพันในพื้นที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เมื่อหลายปีก่อน
แค่ 2 เดือนเหตุรุนแรงทำเด็กเจ็บ 3 ตาย 5
ปัญหานอกเหนือจากเรื่องคดีความที่จะต้องคลี่ปมกันต่อแล้ว ยังมีผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนับวันยิ่งหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกรณีเด็กถูกลูกหลง จงใจฆ่าเด็ก และการก่อเหตุรุนแรงบริเวณสถานศึกษาซึ่งสุ่มเสี่ยงที่เด็กจะตกเป็นเหยื่อ
นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นถึง 9 เหตุการณ์
11 ธ.ค.56 คนร้ายลอบยิง นายมะนูซี สะมะแอ อดีตทหารพราน ในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กระสุนถูก ด.ช.มูซา สะมะแอ อายุแค่ 2 ขวบ ลูกชายของนายมะนูซีได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนนายมะนูซีเสียชีวิตในเวลาต่อมา
13 ธ.ค.56 คนร้ายลอบวางระเบิดหน้าโรงเรียนบ้านตุหยง หมู่ 2 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ
23 ธ.ค.56 คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านที่หน้ามัสยิดบ้านบันนังกูแว หมู่ 4 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ ด.ช.ฮามาน แม อายุ 12 ปี
25 ธ.ค.56 คนร้ายก่อเหตุยิง นายตูแวยา ลอนิ อายุประมาณ 33 ปี คนขายปลา ในท้องที่หมู่ 2 บ้านท่าชะเมา ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทำให้นายตูแวยา และ ด.ช.ตูแวลุดฟี ลอนิ อายุเพียง 3 ขวบ ได้รับบาดเจ็บสาหัส
29 ธ.ค.56 คนร้ายลอบยิง นายอดิศร มะสา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ขณะขับรถ กระสุนพลาดไปถูก ด.ญ.ซูนฟาร์ มะสา อายุ 6 ขวบ ลูกสาวของนายอดิศรเสียชีวิต
21 ม.ค.57 คนร้ายลอบวางระเบิดภายในโรงเรียนบ้านจูโว๊ะ หมู่ 5 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทำให้ทหารพรานชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย รถจักรยานของเด็กนักเรียนถูกสะเก็ดระเบิดได้รับความเสียหายอีกนับสิบคัน
28 ม.ค.57 คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มรถกระบะ ขณะขับอยู่ในท้องที่บ้านซีโป หมู่ 3 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ ด.ญ.ยัสมีน ดอเลาะ อายุ 4 ขวบ บุตรสาวของนายอิสมาแอล ดอเลาะ เจ้าของรถซึ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเช่นกัน
30 ม.ค.57 คนร้ายลอบวางระเบิดดักสังหารทหารพรานชุดปฏิบัติการ รปภ.ครูและโรงเรียน บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านมะปริง ตั้งอยู่หมู่ 5 ต.จะรัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แรงระเบิดทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย
3 ก.พ.57 คนร้ายบุกยิงยกครัวครอบครัว "มะมัน" ทำให้ ด.ช.มูยาเฮด มะมัน อายุ 11 ขวบ ด.ช.บาฮารี มะมัน อายุ 9 ขวบ และ ด.ช.อิลยาส มะมัน อายุ 6 ขวบ เสียชีวิต
ยูนิเซฟ ระบุ เด็กยังถูกละเมิดสิทธิเพียบ
เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้เผยแพร่รายงานสภาวะเด็กโลกประจำปี 2557 ใช้ชื่อว่า "เด็กทุกคนมีความสำคัญ" (Every Child Counts) โดยข้อมูลทั้งหมดได้มาจากการสัมภาษณ์กว่า 650,000 ครัวเรือนใน 50 ประเทศ ชี้ให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์เด็กและยังเป็นสิ่งที่ใช้ชี้วัดถึงความก้าวหน้าว่านโยบายรัฐที่ได้ประกาศไว้นั้นประสบความสำเร็จเพียงใด
ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานมีหลายประเด็น ในภาพรวมระบุว่า ความเป็นอยู่ของเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้พัฒนาไปมากตั้งแต่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีการลงนามในปี 2532 เช่น
- เด็กประมาณ 90 ล้านคนซึ่งเสี่ยงต่อการตายก่อนอายุครบ 5 ขวบสามารถรอดชีวิต เนื่องจากความก้าวหน้าของการให้วัคซีนป้องกันโรค สาธารณสุข ตลอดจนการให้บริการด้านสุขอนามัยและการเข้าถึงน้ำสะอาด
- อัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นแม้ในประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 81ในปี 2554
- การพัฒนาด้านโภชนาการทำให้อัตราแคระแกร็นของเด็กลดลงร้อยละ 37 นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา
แต่กระนั้นสถิติจากรายงานนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิเด็กซึ่งยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น
- ยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบประมาณ 6.6 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตในปี 2555 ด้วยสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กที่จะมีชีวิตรอดและพัฒนา
- ร้อยละ 15 ของเด็กทั่วโลกถูกใช้แรงงาน ซึ่งเป็นการแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเด็กและละเมิดสิทธิที่จะได้เรียนและเล่น
- มีเด็กหญิงร้อยละ 11 ต้องแต่งงานก่อนอายุครบ 15 ปี ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพอนามัย การศึกษาและการคุ้มครอง เป็นต้น
"อังคณา"ชี้มีปัญหาทั้งการศึกษา-กฎหมาย
จากการสอบถามความคิดเห็นกับผู้ที่ทำงานด้านเด็กและสตรีในพื้นที่เสี่ยงภัยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เธอเห็นว่าหลายเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กในประเทศไทยยังมีปัญหา โดยเฉพาะเด็กในดินแดนปลายด้ามขวาน
อังคณา บอกว่า เห็นด้วยกับบางนโยบายของรัฐบาลไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมาในเรื่องการศึกษาและสุขอนามัย แต่ก็เป็นแค่ระดับนโยบาย เพราะในระดับปฏิบัติยังไม่ใช่ ที่ผ่านมายังเคยมีเสียงเรียกร้องจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หลายประการ เช่น เยาวชนถูกละเมิดสิทธิจากการจัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่ได้เน้นให้เยาวชนเกิดกระบวนการคิดหรือสร้างทักษะชีวิตแล้วนำไปปฏิบัติได้จริง แม้กระทั้งการสอบระบบ โอ-เน็ต ที่ให้สอบได้ "เพียงครั้งเดียวในชีวิต" หากสอบได้คะแนนเท่าไหร่ ก็ต้องได้เท่านั้นไปตลอด
"ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่ต้องแก้ที่ระเบียบกฎหมาย เช่น กรณีเด็กหาย เมื่อผู้ปกครองเข้าแจ้งความจะถูกปฏิเสธ เพราะต้องหายเกิน 24 ชั่วโมงถึงจะรับแจ้ง และจะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐช่วยสืบหา ไม่มีหน่วยงานรัฐใดคอยให้ความช่วยเหลือทันที ทำให้ไม่ทันการณ์" อังคณา ระบุ
"รัฐ-ขบวนการ"ไม่เคยสนชีวิตเด็ก
ส่วนในมิติของสามจัหงวัดชายแดนภาคใต้นั้น อังคณา มองว่า ในเรื่องการศึกษา มีเม็ดเงินงบประมาณทุ่มลงไปมากก็จริง แต่งบประมาณดังกล่าวไปกองอยู่ที่การศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี เช่น การอบรมสัมมนาหลักสูตรพิเศษของนักศึกษาปริญญาโท หรือทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ
ส่วนการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม หรือมัธยม ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ หรือแม้แต่ปริญญาตรี กลับได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณไม่มากเท่าที่ควร เด็กชนบทได้รับการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อถึงเวลาต้องเลื่อนระดับการศึกษาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น จำนวนเด็กที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นก็จะลดน้อยลง และยังไม่ได้มาตรฐานด้วย
"เด็กอนุบาลนั้นพอจะได้เรียนจบประถมศึกษาบ้าง แต่เมื่อจะเรียนต่อให้จบมัธยมศึกษา ก็ต้องออกจากหมู่บ้านซึ่งอันตราย เพราะโรงเรียนที่สอนชั้น ม.3-ม.6 มีแต่ในอำเภอ มีการสร้างห้องสมุดในโรงเรียนชนบท แต่กลับไม่มีหนังสือเรียนที่ทันสมัยและไม่เพียงพอ ยิ่งเป็นเด็กชนบทพูดได้เลยว่าเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงได้ยาก" ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าว
อังคณา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์สำหรับเด็กในพื้นที่สู้รบเป็นการเฉพาะ อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ปกติ ฉะนั้นยุทธศาสตร์ของประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงไม่เหมาะ และไม่สามารถดูแลปกป้องคุ้มครองเยาวชนได้เหมือนกันทั้งประเทศ เช่น เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้ไปเยี่ยมเด็กผู้หญิงรายหนึ่งที่ถูกกระสุนลูกหลงจากการซ้อมยิงปืนของทหารเมื่อหลายปีก่อน เด็กรายนี้ต้องย้ายโรงเรียนบ่อย เกิดอาการประสาทหลอน มีความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีจิตแพทย์หรือนักสังคมสงเคราะห์เพียงพอที่จะเข้าไปบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจ
หรือแม้แต่ชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) เมื่อหลายปีก่อนเคยลงพื้นที่สำรวจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับองค์กรเกี่ยวกับเด็กจากประเทศอังกฤษ พบว่า ชรบ.ซึ่งเป็นชาวบ้านจำนวน 20 คนในหมู่บ้านเดียวกันที่อาสาดูแลความปลอดภัยคนในชุมชนของตนเองนั้น กฎกระทรวงมหาดไทยไม่เคยกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเข้าร่วมเป็น ชรบ. ทำให้พบว่ามีเยาวชนอายุประมาณ 15-16 ปีร่วมอยู่ในชุด ชรบ.ด้วย บางครั้งยังเคยพบว่ามีเยาวชนอายุต่ำกว่า 10 ปีเข้าร่วมและมีความสามารถยิงปืนได้ แม้ปัจจุบันจะมีการแก้กฎกระทรวงแล้ว โดยกำหนดว่าผู้ที่จะเข้าร่วมเป็น ชรบ.จะต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปีขึ้นไป แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่เคยมีใครเข้าไปตรวจสอบจริงจัง
"ไม่ใช่แค่ฝ่ายรัฐ แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐก็เช่นกัน เราเคยได้มีโอกาสพูดคุยกับคนกลุ่มนี้ เขาพูดเลยว่ามันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ในการก่อเหตุรุนแรงแล้วมีเด็กได้รับผลกระทบ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเลี่ยงไม่ได้ ถ้าคุณเห็นความสำคัญของเด็ก เช่น การใช้ระเบิดในตลาดที่ประสงค์ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีเด็กอยู่ด้วยก็ควรหยุดหรือละเว้น" อังคณากล่าว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รอยกระสุนที่บ้านของครอบครัว นายเจะมุ มะมัน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้ลูกชาย 3 คนของเขาเสียชีวิตทั้งหมด