เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทยร้องรบ.คุ้มครองชีวิตผู้ชุมนุมทางการเมือง
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทยออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไร้ประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม และวิงวอนให้ผู้ก่อเหตุทุกฝ่ายยุติความรุนแรง โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญดังนี้
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย เห็นว่าตลอด ๘๑ ปี ของพัฒนาการของประชาธิปไตยไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบันเป็นเส้นทางพัฒนาการทางการเมืองการปกครองที่มีประโยชน์และมีความสำคัญยิ่งต่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคหญิงชาย และความเป็นธรรมในสังคมไทย เป็นพัฒนาการที่สร้างการตระหนักรู้ในสิทธิทางการเมืองของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นพัฒนาทางการเมืองที่เกิดบนการใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นและทำลายล้างฝ่ายที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน โดยมักจะมีผู้ก่อเหตุความรุนแรงต่อประชาชนผู้ร่วมการชุมนุมทางการเมืองจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ ล้มตายมาหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เหตุการณ์ ๑๗-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบันการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันที่มีการก่อเหตุความรุนแรงและใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ออกมาชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งจนมีผู้เสียชีวิตแล้ว ๑๐ ศพและบาดเจ็บกว่า ๕๗๐ คน
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาที่ทำงานในการส่งเสริมสิทธิ สถานภาพและบทบาทสตรี ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ ยุติความรุนแรงทางเพศ ต่อเด็กและสตรี มีสมาชิกมากกว่า ๘๐ องค์กรมีเจตนารมณ์และจุดยืนว่า การพัฒนาการเมืองการปกครองของประเทศจะต้องยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ โดยต้องมีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม พวกเราเชื่อว่าความรุนแรงแก้ปัญหาไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มความขัดแย้งกระตุ้น ความเกลียดชัง เหยียดหยามและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยิ่งๆ ขึ้นไป และเห็นว่าความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๓ ความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐในการรักษาความสงบและปกป้องคุ้มครองชีวิตของประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง
ในนามตัวแทนของผู้หญิงที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (๓๒,๗๕๕,๙๖๘ คน ตัวเลขจาก กรมการปกครอง ณ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๖) และผู้หญิงที่เป็นพลังเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (๒๔ ล้านคนหรือ ๕๒% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔) ในฐานะที่เป็น “ย่า” “ยาย” “แม่” “ป้า-น้า-อา”“พี่สาว-น้องสาว “ลูกสาว –หลานสาว” และ“ภรรยา” ได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ด้วยความห่วงใย
ขอวิงวอนให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรงทุกฝ่าย “ยุติการกระทำความรุนแรง” โดยทันที
ขอประณามความรุนแรงอันเนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ
ขอประณามผู้ที่บงการและ/หรือยุงยงให้มีการก่อเหตุความรุนแรงต่อชีวิตของประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง
ขอประณามผู้ก่อเหตุใช้ความรุนแรงต่อชีวิตของประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง
ขอประณามนักการเมืองที่นิยมใช้การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการก่อความรุนแรงต่อชีวิตของประชาชนผู้ร่วมการชุมนุมทางการเมือง
ขอประณามผู้ที่ก่อเหตุกระทำการทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายร่างกาย ข่มขู่คุกคามทั้งทางการใช้กำลังและการใช้วาจาและสัญลักษณ์ มุ่งทำลายล้างชีวิตผู้ที่เห็นแตกต่างทางการเมือง
พวกเราขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ “รัฐ” เพิ่มประสิทธิภาพและมีมาตรการที่เข้มข้นในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๓ ดังนี้
1. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลผู้มีอำนาจในบ้านเมืองขณะนี้ แสดงความเคารพ ต่อ การชุมนุมอย่างสงบ ตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ
2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลผู้มีอำนาจในบ้านเมืองขณะนี้ ต้องเร่งสืบสวนหาความจริงและจับผู้ก่อเหตุทั้งหมดที่ “จงใจทำร้ายร่างกายและฆาตกรรม” ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองมาลงโทษตามกฎหมายอาญาของบ้านเมือง
3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลผู้มีอำนาจในบ้านเมืองขณะนี้ ต้องปฏิบัติต่อประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมืองตามหลักการสากลในกาควบคุมฝูงชนโดยเคร่งครัด ต้องไม่ใช้อาวุธปืน และต้องหยุดวิธีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบต่อประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมืองทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง ทั้งฝ่ายที่ไม่ประสงค์ไปเลือกตั้ง ฝ่ายที่ประสงค์ไปเลือกตั้ง และฝ่ายของประชาชนที่รณรงค์ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
4. ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และรักษาการณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๗ ที่หน้าวัดศรีเอี่ยม
5. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ด้วยการพิจารณาหาแนวทางป้องกันหรือลดความรุนแรงในการชุมนุมและควรเปิดรับฟังข้อเสนอที่สร้างสรรค์จากประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อร่วมกันหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยเร็ว
6. ขอเรียกร้องให้แกนนำการชุมนุมทางการเมืองเพิ่มมาตรการที่เน้นการคุ้มครอง ปกป้อง ชีวิตของประชาชนที่มาร่วมการชุมนุมอย่างเต็มที่และเป็นความสำคัญในลำดับต้นๆ รวมถึงให้ “การชุมนุมตามแนวทางสันติวิธี (สงบและปราศจากอาวุธ) และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน” เป็นหลักการสำคัญและเป็นเป้าหมายสูงสุดในการต่อสู้ทางการเมือง
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ขอสนับสนุนการแสดงพลังพลเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการร่วมชุมนุมทางการเมืองของประชาชนไทยทุกคน เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตย เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดี ขอชื่นชมประชาชนทุกคนที่เข้าร่วมการชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติอหิงสา เป็นไปด้วยเจตนาที่ต้องการเห็นพัฒนาการประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและแท้จริงที่ไม่ใช่ได้มาด้วยการสังเวยชีวิตประชาชน และเพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่สันติภาพ ภราดรภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม
ขอบคุณภาพจากmthai.com