7 นโยบายดับไฟใต้วัดใจรัฐบาลใหม่"เพื่อไทย"
แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่มี ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลยในการเลือกตั้งหนนี้ แต่รัฐบาลชุดใหม่ย่อมหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย เพราะในภาพรวมของประเทศกวาด ส.ส.ไปเกินจำนวนกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “นายกฯหญิง” คนแรกของประวัติศาสตร์บ้านเราคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ต้องมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จึงมีคำถามถึง “นโยบายดับไฟใต้” ที่กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ไปแล้ว เพราะในช่วงที่ผ่านมาก็มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องหลากหลายทั้งจากพรรคเพื่อไทยเองและฝ่ายต่างๆ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าคิดว่ารัฐบาลใหม่จะตัดสินใจเดินหน้าอย่างไรกับประเด็นท้าทายเหล่านี้
1) การตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยรวมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าเป็น “นครปัตตานี” และเลือกตั้ง “ผู้ว่าการนครปัตตานี” โดยตรงจากประชาชน เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายหาเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ถึงกับเตรียมยกร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือพรรคกลับไม่มี ส.ส.ในพื้นที่นี้เลยแม้แต่คนเดียว ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีนโยบายชัดว่า “ไม่เอานครปัตตานี” กลับชนะเลือกตั้งกวาดที่นั่ง ส.ส.เกือบทั้งหมด
การผลักดันกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเท่ากับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองในพื้นที่ขนาดใหญ่ แถมยังต้องเผชิญกับข้อหา “นับหนึ่งแยกดินแดน” ที่ผ่านมารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ผลักดันกฎหมาย ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ทั้งๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เพราะ ศอ.บต.เดิมก็มีอยู่แล้ว แต่กว่าจะเข็นกฎหมายฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ได้ยังต้องใช้เวลาถึง 2 ปี
2) ถอนทหาร เป็นเสียงเรียกร้องของประชาชนส่วนหนึ่ง องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มาเนิ่นนาน และพรรคการเมืองหลายพรรคก็นิยมนำไปหาเสียงกัน อย่างน้อยก็ให้ถอนทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่กองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงออกไป เพราะมีปัญหาเรื่องความเข้าใจภาษา ขนบประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนที่ผ่านมา “ทหาร” ยังโดนข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
3) ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารยืนยันความจำเป็นมาโดยตลอด แต่สุ้มเสียงจากประชาชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ก็เรียกร้องให้ยกเลิกมาตลอดเหมือนกัน
น่าสนใจว่าสถานการณ์ภาคใต้ภายใต้การบริหารงานของพรรคเพื่อไทยซึ่งมีปมขัดแย้งกับกองทัพจากกรณี “ม็อบเสื้อแดง” จะราบรื่นและเป็นเอกภาพแค่ไหน โดยเฉพาะยังมีความพยายามช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองกันอยู่ตลอดเวลา และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี ส.ส.มากที่สุดในพื้นที่กลับไปเป็นฝ่ายค้าน
4) การใช้กลไกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กรุยทางเอาไว้ ด้วยการเปิดให้ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง (กระทำการหรืออาจกระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคง) เข้ามอบตัวหรือแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวน เพื่อเข้ากระบวนการอบรมและยกเว้นโทษ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนแนวทางนี้หรือไม่ อย่างไร
5) การรื้อและเร่งรัดคดีความมั่นคง ที่ประชาชนในพื้นที่คาใจว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสถาปนาความยุติธรรม เช่น
- คดีกรือเซะ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ที่มีการปะทะกันระหว่างวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยชีวิตกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 108 ราย (เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์) โดยฝ่ายทหารมีการใช้อาวุธหนักที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้มีคนตายกว่า 30 คนแต่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี
- คดีตากใบ หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการสลายและการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมรวม 78 ศพ คดีนี้ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายว่าผู้ตายทั้งหมดขาดอากาศหายใจ ไม่พบหลักฐานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำให้ตาย
- คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เช่น คดีอิหม่าม ยะผา อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่ถูกทหารรุมทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตคาห้องควบคุมในฐานปฏิบัติการ, คดีนายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกพบเป็นศพมีผ้าผูกคอติดกับลูกกรงห้องควบคุมตัวภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยฝ่ายทหารยืนยันว่านายสุไลมานผูกคอตายเอง แต่ญาติไม่เชื่อ ฯลฯ
- คดีการหายตัวไปของพยานคดีความมั่นคงที่เจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา เช่น นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี พยานคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาปล้นปืน รวมถึงคดีอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เป็นต้น
6) การปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพล ขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี สถานบริการ และบ่อนการพนันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพูดกันมานานว่าเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่บานปลายขนาดนี้ ล่าสุดฝ่ายความมั่นคงภายใต้การนำของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อกวาดล้างกลุ่มมาเฟียผิดกฎหมายเหล่านี้ แต่น่าแปลกที่ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกจับเลย ทั้งๆ ที่ธุรกิจเถื่อนเหล่านี้อยู่ได้โดยการสนับสนุน ร่วมมือ หรือรู้เห็นของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น
7) การจัดหลักสูตรการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาในมิติวัฒนธรรม ซึ่งมีข้อเรียกร้องหลักอยู่ที่การใช้ “ภาษามลายูถิ่น” เป็นภาษาทำงาน พร้อมบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน และจัดหลักสูตรสายสามัญควบคู่กับการศึกษาศาสนาอิสลามอย่างมีคุณภาพ
ทั้งหมดนี้คือ “นโยบาย” หรือ “แนวทาง” การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจ และจับตาว่ารัฐบาลใหม่จะตัดสินใจอย่างไร
แน่นอนว่าปัญหาที่ซับซ้อนอ่อนไหวและยืดเยื้อยาวนานอย่างชายแดนใต้ ต้องใช้รัฐบาลที่มีความชอบธรรมสูงจากฉันทามติของประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีคุณสมบัติดังว่านี้แล้ว เพราะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยจำนวน ส.ส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
คำถามจึงอยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะกล้าหาญพอหรือไม่ และมีความจริงใจที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาวบ้านในพื้นที่ขนาดไหน...ต้องจับตา!