“เลิกเอาไม้บรรทัดวัดคุณภาพการศึกษา” แล้วจะพบทางออกโรงเรียนเล็ก
“คุณภาพ ประสิทธิภาพ การจัดการที่เหมาะสม” คือโจทย์ที่กระทรวงศึกษาฯ ทิ้งไว้ให้บรรดาคนค้านนโยบายยุบโรงเรียนเล็ก เสียงสะท้อนจากครู-ผู้ปกครอง-นักเรียนแดนกันดารเป็นเช่นไร อะไรคือคำตอบที่ชุมชนท่าสะท้อน ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปเปิดประเด็นอีกครั้ง…
…………………
นโยบายดังกล่าว มาจากแนวคิดที่ว่า “โรงเรียนขนาดเล็กไม่คุ้มทุนในการบริหารจัดการ” นอกจากจะเปลืองงบประมาณแล้ว ยังด้อยคุณภาพอีกด้วย ดังนั้นการยุบควบรวมโรงเรียนเล็กไปรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่น่าจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่มาตรฐานการศึกษาที่ดีและประหยัดงบ
ส่วนผู้คัดค้าน ภายใต้การนำของสภาการศึกษาทางเลือกกลับมองว่า การยุบควบรวมโรงเรียนจะเป็นการตัดสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับชุมชนอย่างสิ้นเชิง เด็กยากจนจะยิ่งขาดโอกาสทางการศึกษามากขึ้น พร้อมแนะทางออกว่า กระทรวงศึกษาธิการควรคืนโรงเรียนให้กับชุมชน พร้อมเปลี่ยนบทบาทใหม่จากผู้ควบคุม เป็นผู้สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนจะดีกว่า
“อย่าเอาไม้บรรทัด” มาวัดคุณภาพการศึกษา
อาจารย์สัมฤทธิ์ นรทีทาน นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป.ร้อยเอ็ด เขต 1 บอกเล่ากับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าโรงเรียนของตนมีนักเรียน 60 คน ครู 5 คน อยู่ในข่ายที่ต้องยุบอย่างแน่นอน ซึ่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ แม้แต่ครูเองก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มหากต้องไปสอนโรงเรียนอื่น
“ผมอยากให้สพฐ.ช่วยพัฒนาในด้านอื่นๆ มากกว่า เช่น งบประมาณในการจ้างวิทยากรพิเศษมาสอนนักเรียนจะได้เติมเต็มในเรื่องที่ขาด”
พร้อมกับเสนอว่า ถ้าต้องการปฏิรูปจริงๆก็ควรเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ เช่น การคิดงบประมาณรายหัวต่อนักเรียน ทำให้โรงเรียนเล็กกับโรงเรียนใหญ่มีงบประมาณแตกต่างกันมาก และควรเพิ่มบทบาทให้โรงเรียนมีส่วนร่วมจัดการศึกษานอกโรงเรียน และดูแลชุมชนควบคู่กันไป
ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคุยค้อ (บัณฑิตประชาสรรค์) ต.ดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด อาจารย์สัมฤทธิ์ ยังบอกว่าแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีความโดดเด่น แต่ที่ผ่านถือว่าโรงเรียนมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพราะผลการสอบโอเน็ตอยู่เหนือเกณฑ์เฉลี่ยของผลสอบทั้งประเทศ แต่อย่างไรคุณภาพการศึกษาบางอย่าง เอาไม้บรรทัดมาวัดไม่ได้
“ประสิทธิภาพบางอย่างมันวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ เช่น คุณธรรม ความดีความงามของคน ทักษะการใช้ชีวิต เรื่องการพึ่งพาตนเองนี่ เด็กในเมืองสู้เด็กต่างจังหวัดไม่ได้เลย” ผอ.โรงเรียนภูธร กล่าวย้ำ
เสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง-เด็ก แดนกันดาร
ส่วน นายอารมณ์ ฤทธิเดช ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านใหม่สามัคคี จ.สุราษฏธานี ระบายความในใจว่าเครียดกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
“การเดินทางของเด็กลำบากขึ้น จะข้ามถนนหนทางก็กลัวอุบัติเหตุ ตอนนี้ในหมู่บ้าน ผู้ปกครอง ครู และนักเรียนก็จะช่วยกันเต็มที่ เพื่อไม่ให้ยุบโรงเรียน และจะเอาชาวบ้านที่มีความรู้เข้าไปสอนนักเรียนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็ตอนนี้ก็ยังทำอยู่” นายอารมณ์กล่าว
ด้านกาสี ชิโย เด็กชายเชื้อสายปาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดนอก ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า บอกเล่าว่าโรงเรียนที่เขาเรียนก็กำลังจะถูกยุบเหมือนกัน ซึ่งทางชุมชนกำลังช่วยกันต่อสู้คัดค้านอยู่
“ทางชุมชนไม่ยอม ไม่อยากให้เด็กไปเรียนข้างนอก เพราะที่ผ่านมาเด็กที่ออกไปแล้ว พอกลับเข้ามาจะไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิธีการช่วยเหลือตัวเอง และไม่มีมารยาท ใช้ชีวิตตามกระแสไม่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่น”
เด็กชายกาสี เปิดใจว่า ส่วนตัวแล้วเขาชอบเรียนในชุมชนมากกว่าการนั่งในห้องเรียน เพราะทำให้ได้เรียนรู้หลากหลายด้าน เช่น การทำนา การใช้ชีวิตต่างๆ ส่วนการยุบโรงเรียนนั้นไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย เพราะถ้าต้องเดินทางจากบ้านบนภูเขาลงมาเรียนในเมืองนั้นต้องลำบากขึ้น และพ่อแม่ก็เป็นห่วงเรื่องปัญหายาเสพติดในเมืองมาก
“คำตอบ” เรื่องคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเล็ก จากพื้นที่ต้นแบบท่าสะท้อน
"อย่าเอาเงินมาเป็นตัวชี้วัดเรื่องการศึกษาเลยครับ ไม่เช่นนั้นแล้ว มันจะกลายเป็นอาชีพๆหนึ่ง ทุกวันนี้ มีนักศึกษาจบที่ปริญญาตรีและปริญญาโทมากพอ ดูมีการศึกษาดี แต่ไม่มีอะไรบอกได้เลยว่า พวกเขาจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ หรือมีความมั่นคงในชีวิตแค่ไหน"
คือเสียงสะท้อนจาก นายวันชัย พุทธทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกภาคใต้ และอดีตครูอาสาโรงเรียนบ้านท่าสะท้อน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
โรงเรียนวัดท่าสะท้อนแห่งนี้ เคยถูกยุบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2548 เพราะมีนักเรียนเพียง 30 คน โดยถูกควบรวมไว้กับโรงเรียนในหมู่บ้านถัดไปไกลกว่า 4 กิโลเมตร เด็กๆไม่สามารเดินทางไปเองได้ พ่อแม่ต้องคอยไปรับ-ส่ง เสียทั้งเวลาเดินทางและเวลาทำมาหากิน จากนั้นปลายปี 2549 ชาวบ้านจึงร่วมแรงร่วมใจกันยกร่างหลักสูตรชุมชนขึ้นใหม่ และยื่นหนังสือไปที่เขตการศึกษา เพื่อเรียกร้องให้คืนโรงเรียนให้ชุมชน
“แรกๆ เขาไม่ได้แจ้งเราว่าจะยุบโรงเรียนเลย เริ่มจากการสั่งย้าย ผอ.ไปที่อื่น แล้วไม่ส่งมา พอนานเข้าก็มีคำสั่งให้ควบรวมโรงเรียน สรุปคือ ยุบ หลังจากนั้นชาวบ้านก็คุยกันว่าจะทำอย่างไร เพราะอยากได้โรงเรียนกลับคืนมา เรียนอยู่ใกล้บ้านก็ไม่ต้องห่วงอันตรายที่จะเกิดกับลูกหลาน” วันชัยกล่าว
ครูหนุ่มอาสา บอกว่าแรกๆชาวบ้านก็รู้สึกกลัวว่าตนไม่มีความรู้ ไม่มีใบปริญญา จะเอาอะไรมาสอน แต่จากการพูดคุยทำความเข้าใจกันว่า อยากเห็นอนคตเด็กเป็นเช่นไร? ชาวบ้านล้วนแต่พูดเป็นเสียงเดียวกันคือ “เป็นคนดี พึ่งพาตนเองได้ และกลับมารับใช้ชุมชน”
“ผมถามชาวบ้านว่า จับปลาเป็นไหม หาของกินในป่าพรุเป็นไหม กรีดยางเป็นไหม ชาวบ้านตอบว่าเป็น แต่พวกเขาไม่รู้ว่าสิ่งเหล้านั้นคือองค์ความรู้ ผมเลยเสนอว่าเอาองค์ความรู้พวกนี้แหละมาสอน เอาปราชญ์เล่าเรื่องชุมชน จากนั้นโรงเรียนก็กลับมาเปิดสอนได้อีกครั้งในปี 2550 ช่วงแรกก็สอนกันเอง จากนั้นทางเขตก็ส่งครูกับ ผอ.มาให้”
ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ มีนักเรียนตั้งแต่อนุบาล–ป.6 รวม 27 คน มีครูราชการ 2 คน ครูอาสาที่ชาวบ้านระดมทุนจ้าง 2 คน และครูอัตราจ้างพิเศษ (จากทางเขต) อีก 1 คน ที่เหลือเป็นครูชาวบ้านที่เรียกกันในนาม “ครูผู้เชี่ยวชาญ” อีกกว่า 20 คน เพื่อสอนหลักสูตรชุมชนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแก่ลูกหลานชาวท่าสะท้อน อาทิ การเกษตรไร้สารพิษ การจับปลา การจับผึ้ง การทำปุ๋ยอินทรีย์ งานหัตถกรรม และพืชสมุนไพรต่างๆ
ครูอาสาโรงเรียนบ้านท่าสะท้อน ยังฝากกับชุมชนอื่นๆที่กำลังคิดอยากมีหลักสูตรท้องถิ่นว่า ชาวบ้านต้องมีความมั่นใจว่าเราสามารถสอนลูกหลานของเราได้ แล้วช่วยกันระดมความคิดว่า “ชุมชนเรามีองค์ความรู้อะไร มีทรัพยากรอะไร มีประวัติศาสตร์อย่างไร แล้วก็มาพูดคุยกันร่างหลักสูตรร่วมกัน”
……………………………..
แม้ว่าการลดต้นทุนสามารถก่อเกิดประสิทธิภาพได้ แต่ตัวเลขหรือผลกำไรตามวิธีคิดนี้เอามาใช้กับ “การศึกษา”ได้หรือไม่ ความดีเด่นของคนสามารถการันตีด้วยใบปริญญาหรือ? และหากสังคมยังคงมุ่งผลิตบัณฑิตปริมาณมากด้วยต้นทุนต่ำจนล้นตลาดเหมือนผลิตสินค้า นั่นคือคำตอบคุณภาพคนหรือไม่?
สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่วนเวียนอยู่ในเหตุผลคัดค้านนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7 พันแห่งทั่วประเ่ทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ.