"หมอวรงค์" โชว์ธ.ก.ส.ออกหนังสือเวียน ถามเอามาจากไหน จ่ายชาวนา
"หมอวรงค์" เผย ธ.ก.ส.ออกหนังสือเวียนให้พนักงานจ่ายเงินชาวนา อ้างรัฐบาลมีเงินแล้ว ถามเอามาจากไหน ชี้คลังยังไม่มีใครกล้าเซ็นกู้เงินเลย กังวลร่วมมือกันหลอกชาวบ้านหรือไม่
วันที่ 28 มกราคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ได้มีการออกหนังสือเวียน โดย มีเนื้อหาให้พนักงานเร่งรัดจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่า มีเงินจากรัฐบาลแล้วและกำหนดเวลาอย่างชัดเจนว่าจะจ่ายเงินสัปดาห์ละ 2 หมื่นล้าน คำถามคือจะนำเงินมาจากไหน เนื่องจากกระทรวงการคลังยังมีปัญหาไม่มีใครกล้าเซ็นกู้เงิน แต่ ธ.ก.ส.กลับกำหนดวันเวลา วงเงินชัดเจนว่าจะได้สัปดาห์ละ 2 หมื่นล้านบาท ตนจึงกังวลว่าจะเป็นเอกสารที่ ธกส.ร่วมกับรัฐบาลหลอกประชาชนหรือไม่ ดังนั้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกและรมว.คลัง ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าแหล่งเงินมาจากที่ใด
นพ.วรงค์ กล่าวว่า และขอตำหนิรัฐบาลว่า มีมติตั้งแต่ก่อนเดือนตุลาคมกำหนดวงเงินสำหรับใช้ในโครงการจำนำข้าวปี 56/57 2.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสองส่วนคือ 1.4 แสนล้านจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์และอีก 1.3 แสนล้านมาจากการกู้เงิน จึงต้องถามว่า รัฐบาลมัวทำอะไรอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ทำไมจึงไม่จัดการกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายชาวนา เพราะในขณะนั้นไม่ได้มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น มีแต่รัฐบาลพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อตัวเอง จนกระทั่งเกิดปัญหาไฟลนก้นแล้ว เพิ่งเริ่มคิดแก้ปัญหาชาวนา เรื่องนี้รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจน อย่าเอา ธ.ก.ส.มาเป็นหนังหน้าไฟ เพราะไม่เช่นนั้นคนจะมองว่า ธ.ก.ส.มีส่วนรู้เห็นกับรัฐบาลด้วย
ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟสบุค กรณีผู้สื่อข่าวถามนายกิตติรัตน์ ว่าที่รัฐบาลประกาศจะกู้ 1.3 แสนล้านบาท จ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนานั้น สามารถบอกชื่อสถาบันการเงินได้หรือไม่ แต่ปรากฏว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ตอบ ก็แสดงว่าแผนกู้เงิน น่าจะยังติดปัญหาอยู่มาก
"น่าเห็นใจชาวนา หากรัฐมนตรีคลังได้ดูงานไกล้ชิด และจัดแก้ปัญหาไว้ตั้งแต่ก่อนยุบสภา ก็คงไม่เกิดความเดือดร้อน เหมือนทุกวันนี้" นายธีรชัย กล่าว และว่า แต่มาวันนี้ ยุบสภาไปแล้ว ช่องทางที่จะหาเงิน ที่ปลอดภัยจริงๆ ก็มีแต่ต้องเร่งระดมขายข้าว ส่วนการกู้ มีปัญหา เสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย
"แบงค์รัฐคงจะไม่เสี่ยงให้รัฐบาลกู้ เพราะจะเข้าข่าย เป็นผู้สนับสนุน ต้องร่วมรับผิดด้วย ตามมาตรา 181 (4) ส่วนแบงค์เอกชน เขามีผู้ถือหุ้นกำกับอยู่ ถ้าให้กู้ในกระบวนการที่ผิดกฎหมาย และหากรัฐบาลใหม่ ไม่ชำระหนี้ ก็จะถูกผู้ถือหุ้นฟ้องส่วนตัวได้ ยิ่งเป็นแบงค์ต่างประเทศ ลืมได้เลย จะหาคนมาเสี่ยงยากมาก"