อัล-ฟาติฮะห์..."มัสยิดไทย"บนแผ่นดินอเมริกา
อาคารชั้นเดียวสีอิฐริมถนนนอร์ทไซตรัส ในอาซูซาซิตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ไม่ใกล้ไม่ไกลกับมหานครลอสแอนเจลิส (แอลเอ) หลังนั้น หากมองเลยเข้าไปโดยไม่ได้สนใจอ่านป้ายขนาดใหญ่ด้านหน้า คงไม่มีใครรู้ว่าที่นี่คือ “มัสยิด”
เพราะอาคารหลังนี้ไม่มี “โดม” และยอดพระจันทร์เสี้ยวกับดวงดาว อันเป็นสัญลักษณ์คุ้นตาของสถาปัตยกรรมแบบอาหรับที่สื่อถึงความเป็นอิสลาม
ทว่าแม้จะเป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่บรรยากาศภายในก็ดูโล่งตาและโอ่โถงอยู่ในที...
สิ่งที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นข้อความบนป้ายริมถนนที่เขียนเอาไว้ว่า “มัสยิดไทย อัล-ฟาติฮะห์ มัสยิดไทยแห่งแรกในอเมริกา” ซึ่ง อิหม่ามเราะห์มัต โพยม พยกุล สำทับเพิ่มเติมว่า เป็นมัสยิดไทยแห่งเดียวที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทยด้วย!
การที่กล้าประกาศตัวว่าเป็น “มัสยิดไทย” ทั้งๆ ที่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยผูกติดกับพระพุทธศาสนามากกว่าอิสลาม ซ้ำยังเป็น “มัสยิดไทย” ที่ตั้งอยู่ในดินแดนของมหาอำนาจตะวันตกผู้ประกาศสงครามกับนักรบมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก และยังเคยตกเป็นเป้าก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดอย่างเหตุการณ์ 911 ย่อมทำให้มัสยิดแห่งนี้มีเรื่องราวน่าค้นหาไม่น้อยทีเดียว
จากพุทธสู่มุสลิม...
ความน่าอัศจรรย์ประการแรกที่ได้ยินได้ฟังจาก “อิหม่ามโพยม” ในวัยเกษียณจากการทำงาน และทุ่มเทแรงกายแรงใจดูแลมัสยิดแห่งนี้มาเกือบ 20 ปี ก็คือคำบอกเล่าที่ว่า แท้ที่จริงแล้วเขามาจากครอบครัวคนพุทธ และเป็นคนกรุงเทพฯ
“พ่อกับแม่ผมเป็นพุทธ ผมมีพี่น้อง 6 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 3 คน ผมเป็นลูกชายคนสุดท้อง ครอบครัวของผมอยู่ที่สี่พระยา ตอนที่ยังเล็กๆ ก็เรียนหนังสือในโรงเรียนจีนที่สุรวงศ์จนจบชั้น ป.4 จากนั้นก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอิสระนุกูลย่านบางรัก และโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุงจนจบ ม.8 และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเป็นนักบาสเก็ตบอล เคยได้เสื้อสามารถพระราชทานจากในหลวง ปัจจุบันนี้ผมยังเก็บไว้”
อย่างไรก็ดี อิหม่ามโพยม ไม่ได้จบธรรมศาสตร์ แต่ชีวิตพลิกผันเพราะน้องสาวชวนให้ไปเรียนต่อที่สหรัฐ ก่อนเหินฟ้าไปต่างแดนได้แต่งงานกับภรรยาที่เป็นมุสลิมซึ่งเป็นคนแถวสี่พระยาด้วยกัน แต่การเข้ารับอิสลามของอิหม่ามโพยมไม่ได้เกิดจากการแต่งงานเหมือนคนพุทธที่ต้องเปลี่ยนศาสนาทั่วไป เพราะเขาเข้ารับอิสลามด้วยความศรัทธาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว
“ผมได้รู้จักกับแฟนมาก่อนหลายปี แฟนเป็นมุสลิม เห็นเขาถือศีลอดแล้วรู้สึกประทับใจ จึงตัดสินใจเข้ารับอิสลาม จากนั้นสามปีถึงให้แม่ไปขอ แล้วก็แต่งงานกัน”
ครอบครัวของอิหม่ามโพยมเป็นครอบครัวเล็กๆ มีด้วยกัน 4 คน คือตัวอิหม่าม ภรรยา และลูกสาว 2 คน ลูกสาวคนโตเกิดในประเทศไทย ส่วนคนเล็กเกิดที่สหรัฐ เมื่อบากบั่นมาตั้งรกรากถึงอเมริกา อิหม่ามโพยมก็ไม่ได้ทิ้งการเรียน แต่ยังศึกษาต่อจนจบถึงปริญญาโทด้านการเงิน และทำงานเหมือนคนอื่นๆ กระทั่งเกษียณออกมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
เปิดม่านมัสยิดไทย...
บ้านของอิหม่ามโพยมที่อเมริกากลายเป็นศูนย์กลางของคนไทยมุสลิมในละแวกแอลเอซึ่งมีอยู่ไม่มากนักเมื่อกว่า 20 ปีก่อน
“พวกเราแม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนจะมารวมกันที่บ้านของผม ละหมาดร่วมกัน ลูกหลานก็มากันเต็มหมด ต่อมาจึงได้พูดคุยกันและคิดว่าทำอย่างนี้ไปตลอดไม่ได้นะ ต้องหาสถานที่สร้างมัสยิด ตอนนั้นมัสยิดยังมีน้อย เวลาจะไปละหมาดวันอีด (วันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลาม) ก็ต้องเดินทางไปถึงศูนย์ใหญ่ที่แอลเอ จึงตกลงใจกันว่าจะต้องสร้างมัสยิดให้ได้”
แต่การจะมีมัสยิดได้ต้องใช้เงินทุนทั้งสำหรับซื้อที่ดินและก่อสร้าง อิหม่ามโพยมจึงรับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงกลับไประดมทุนที่เมืองไทย เดินสายปราศรัยขอการสนับสนุนตามมัสยิดต่างๆ และได้รับความช่วยเหลือจากอิหม่ามชื่อดังหลายท่าน เช่น อิหม่ามยาซีน อิหม่ามชาฟีอี นภากร เป็นต้น
“เราก็เผยแพร่ข่าวสารว่าจะสร้างมัสยิดไทยแห่งแรกในอเมริกา คนก็รู้มากขึ้น ก็จัดระดมทุนทั้งที่ประเทศไทยและที่อเมริกา ชุมชนไทยก็มาร่วมงาน ตอนนั้นมุสลิมไทยที่อเมริกามีมาประมาณ 200 คน มาจากต่างรัฐก็มี เราไม่ได้หาชุมชนเพื่อสร้างมัสยิด แต่เราสร้างมัสยิดเพื่อให้ชุมชนมา”
ในที่สุด “มัสยิดไทย อัล-ฟาติฮะห์” ก็สำเร็จเสร็จสิ้น และทำหน้าที่เป็น “บ้านของพระเจ้า” ตามคติความเชื่อของอิสลามมานานปี ส่วนการประกาศตัวว่าเป็น “มัสยิดไทย” ก็เพื่อความภาคภูมิใจในความเป็นไทย หาใช่การขีดกรอบว่าเป็นมัสยิดของคนไทยเพียงชาติเดียวแต่อย่างใดไม่
“การที่เราแสดงอัตลักษณ์ว่าเป็นมัสยิดไทยไม่ได้หมายความว่าต้อนรับแต่มุสลิมไทยเท่านั้น เพราะมัสยิดแห่งนี้มีพี่น้องมุสลิมจากทุกชาติทุกภาษามาละหมาดและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถือเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราอย่างมาก เพราะปกติแล้วชาวไทยมุสลิมในต่างแดนต้องไปละหมาดที่มัสยิดของมุสลิมชาติอื่น และเท่าที่ทราบไม่มีมัสยิดของมุสลิมไทยเลยแม้แต่แห่งเดียวไม่ว่าจะในอเมริกาหรือประเทศไหนๆ ในโลก”
ความหมายที่มากกว่ามัสยิด...
อาคารสีอิฐแม้จะดูเล็กจากภายนอก แต่เมื่อผ่านเข้าไปด้านในกลับพบว่ามีหลายห้อง แน่นอนว่าห้องใหญ่ที่สุดคือห้องละหมาด มีบัลลังก์สำหรับอ่านคุตบะห์ (คำสอนของศาสดา) และห้องขนาดย่อมสำหรับสุภาพสตรี นอกจากนั้นยังมีห้องพักสำหรับผู้เดินทาง และหมู่คณะที่เดินทางมาจากประเทศไทย
แต่ที่ดูแล้วแปลกกว่ามัสยิดทั่วไปก็คือ ห้องด้านขวามือมองจากทางเข้าด้านหน้า เป็นห้องที่ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีภาพและหนังสือเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่างๆ รวมถึงสมุดลงนามถวายพระพรในวโรกาสมหามงคล
“ผมต้องการอนุรักษ์ความเป็นไทย อยากให้โลกรู้จักประเทศไทยและรู้จักในหลวงของเรา” อิหม่ามโพยมให้เหตุผล
มัสยิดแห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะสำหรับปฏิบัติศาสนกิจ แต่ยังช่วยเหลือดูแลชุมชนคนไทยทั้งในสหรัฐและคนไทยจากประเทศไทย ครั้งหนึ่งเคยมีทีมฟุตบอลไทยมาพัก ขณะที่อีกครั้งหนึ่งก็ออกหน้าช่วยคนไทยผู้ตกทุกข์ได้ยาก
“เราเป็นมัสยิดที่จดทะเบียนถูกต้อง หลายปีมาแล้วเคยมีการบุกทลายโรงงานเถื่อนที่ใช้แรงงานผิดกฎหมายในลักษณะแรงงานทาส ซึ่งในกลุ่มแรงงานที่ได้รับความช่วยเหลือมีคนไทยอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ปรากฏว่าทางสถานกงสุลติดต่อมา เพราะช่วยประกันตัวให้ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีที่อยู่รองรับ จึงขอให้เราช่วย เพราะสมาคมต่างๆ ในสหรัฐต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้องเท่านั้นถึงจะประกันตัวผู้ต้องหาได้”
“ตอนนั้นจำได้ว่ามีคนไทยรอรับความช่วยเหลืออยู่ถึง 16 คน เราก็ไปประกันให้ทั้งๆ ที่ทุกคนไม่ใช่มุสลิม แล้วก็ให้พักอยู่ในมัสยิด ดูแลเรื่องอาหารการกิน ต่อสู้ทางกฎหมาย จนกระทั่งคดีจบ”
ป่าเถื่อนในแดนศิวิไลซ์
อายุอานามของ “มัสยิดไทย อัล-ฟาติฮะห์” ต้องบอกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวบนแผ่นดินอเมริกามาพอสมควร โดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์ 911 หรือการก่อวินาศกรรมครั้งมโหฬารที่สหรัฐตกเป็นเป้าหมาย ทั้งอาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และอาคารเพนตากอน (สำนักงานใหญ่กระทรวงกลาโหมสหรัฐ) เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) หรือเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้อเมริกันชนส่วนใหญ่มองมุสลิมทุกผู้ทุกนามเป็น “ผู้ร้าย” และ “ศัตรู”
“เราถูกรุกรานเยอะ ถูกกดดัน ถูกมือมืดใช้ปืนลูกซองยิง ถูกขว้างของเข้ามา ถึงขั้นบุกเข้ามาทุบกระจกมัสยิดก็ยังมี บางทีก็มีคนมาจอดรถขวางคนที่จะเข้า-ออกเพื่อทำศาสนกิจ ที่เบาหน่อยก็ตะโกนด่า เรียกเราว่าโอซามา บิน ลาเดน”
“ครั้งหนึ่งมีพวกคริสต์คลั่งศาสนาเกณฑ์คนมาแจกใบปลิวด้านหน้ามัสยิดเราเลย บอกว่าพระเยซูช่วยให้รอดจากไฟนรกได้ พูดตรงๆ ก็ถือว่ามาหยาม มาสร้างความไม่พอใจ หวังจะให้เราตอบโต้ แต่เราไม่เคยตอบโต้ เรารู้ดีว่าที่ฝั่งตรงข้ามมีคนถือกล้องรอถ่ายรูปเราอยู่ ถ้าเราตอบโต้ก็เข้าทางเขา ฉะนั้นเราไม่สนใจและไม่ตอบโต้ เวลาผ่านไปแม้เหตุการณ์ร้ายๆ จะน้อยลงเยอะ แต่ก็ยังมีอยู่บ้างประปราย”
อิหม่ามโพยมเล่าความจริงบางด้านจากประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “แดนศิวิไลซ์”
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์ก็เปลี่ยน เป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งในอีกเกือบสิบปีถัดมาจะมีข่าว โอซามา บิน ลาเดน ถูกหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐปลิดชีพที่ปากีสถาน
และในท่ามกลางกระแสความดีอกดีใจของคนอเมริกัน การเสียชีวิตของ บิน ลาเดน ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาของพี่น้องมุสลิมที่มัสยิดแห่งนี้เช่นกัน
“ที่พูดกันมากก็คือตายจริงหรือไม่ ทำไมถึงไม่มีภาพถ่ายยืนยันชัดเจน คนที่เชื่อว่าตายแล้วแน่ๆ ก็ให้เหตุผลว่ารัฐบาลสหรัฐอาจจะกลัวว่าเป็นการสร้างความเคียดแค้น ในไม่ช้าเมื่อกระแสความร้อนแรงลดลง ภาพก็จะค่อยๆ ทะยอยออกมา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งยังไม่เชื่อว่า บิน ลาเดน ตายจริง คิดว่าอาจจะถูกจับตัวไปสอบสวนและเก็บตัวไว้มากกว่า”
อิหม่ามโพยมถ่ายทอดทัศนะอันหลายหลากซึ่งถึงวันนี้ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้...
ปัญหาชาติคือ “ขาดรัก”
จากก่อการร้ายสากลมาถึงปัญหาก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเองบ้าง แม้อิหม่ามโพยมจะออกตัวว่าไม่ใช่มุสลิมสายเลือดมลายูจากดินแดนปลายสุดด้ามขวาน แต่เขาก็ทำกิจกรรมร่วมกับพี่น้องและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ไม่น้อย
โดยเฉพาะการพาเด็กฮาฟิซ (เด็กที่เรียนท่องจำอัลกุรอาน) จากชายแดนใต้ปีละ 2 คนไปเปิดโลกทัศน์ที่มัสยิดไทย อัล-ฟาติฮะห์ สหรัฐอเมริกา ทำให้อิหม่ามโพยมมีมุมมองต่อปัญหาภาคใต้อย่างแหลมคม
“ผมว่าภาคใต้ของเรามีปัญหาหลักๆ อยู่ 4 ข้อ คือ 1.ความด้อยพัฒนา ทำให้ประชาชนขาดแคลนรายได้ในการยังชีพ คนต้องมีอาชีพ จะได้มีรายได้ และไม่หมกมุ่น ไม่ถูกล้างสมอง เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีทำให้กระทบหลายอย่าง เช่น เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ถูกนำพาไปที่อื่น เป็นต้น”
“2.เป็นผลจากข้อหนึ่ง คือปัญหาด้านการศึกษา 3.ยังมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเรื่องบริการสาธารณะของรัฐที่ให้กับมุสลิม บางรายยังถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่ และ 4.เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ มีคนฝังใจเยอะ รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้พวกก่อการร้ายหรือมีเจตนาไม่ดีนำไปเป็นเงื่อนไขเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง”
“ส่วนเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ผมไม่เห็นด้วย จะเอาอะไรกัน เดี๋ยวก็ฆ่ากันเองอีก ฉะนั้นให้แก้ 4 ข้อที่บอกไปน่าจะดีกว่า ถ้าคนให้เกียรติซึ่งกันและกันก็จะไม่มีปัญหา เมื่อก่อนวัดกับหลังคามัสยิดเกยกันยังอยู่กันมาได้ ฉะนั้นความต่างทางศาสนาไม่ใช่สาเหตุ”
อิหม่ามโพยม มองว่า รากเหง้าของปัญหาภาคใต้สะท้อนปัญหาใหญ่ของประเทศไทยด้วย นั่นคือภาวะของการ “ขาดความรัก” ทั้งรักซึ่งกันและกัน และรักบ้านเมือง
“ผู้บริหารประเทศไม่ได้รักประเทศอย่างแท้จริง ทรัพยากรธรรมชาติบ้านเรามีเยอะมาก ขนาดโกงไปแล้ว ขายไปบ้างแล้วก็ยังไม่หมด แต่ประเทศเรากลับไม่เจริญเสียทีก็เพราะเราขาดความรัก ทั้งๆ ที่ศักยภาพของประเทศเราเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนได้ พวกที่สร้างความยุ่งเหยิงให้บ้านเมืองถือว่าไม่มีความรักต่อประเทศ ทำให้บ้านเมืองอลหม่าน เช่นเดียวกับทางใต้ ไปฆ่าคนบริสุทธิ์ ถือว่าไม่มีความรักเหมือนกัน ถึงได้รวมตัวกันย่ำยีประเทศจนถอยหลังลงคลองขนาดนี้”
แม้ตัวจากไปให้ชื่อ “ไทย” ยังคง
“มัสยิดไทย อัล-ฟาติฮะห์” ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงมาเนิ่นนานท่ามกลางชุมชนมุสลิมที่ใหญ่โตขึ้น กระทั่งปัจจุบันที่ทางเริ่มจะคับแคบ หลายๆ ครั้งมีคนมาละหมาดเป็นร้อยจนล้นออกไปด้านนอก ทำให้อิหม่ามโพยมตั้งใจระดมทุนสร้างมัสยิดแห่งใหม่ ซึ่งอาจเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา
“วันหนึ่งผมอาจจะต้องจากไป แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้คือป้ายด้านหน้ามัสยิดที่บอกว่าเป็นมัสยิดของคนไทย”
การระดมทุนสร้างมัสยิดแห่งใหม่ในฐานะที่เป็น “มัสยิดไทย” โดยไม่ได้ไปเร่ขอเงินใคร เป็นเรื่องยากไม่ต่างจากการรักษามัสยิดแห่งนี้เอาไว้ให้ดำรงอยู่
“หลายคนที่เคยมาที่นี่ เขาถามว่ามัสยิดนี้อยู่ได้อย่างไร ผมบอกได้เลยว่ามัสยิดของเราอยู่ได้เพราะไม่มีค่าใช้จ่าย ผมทำเองหมดตั้งแต่ล้างส้วมจนถึงซ่อมหลังคา การสร้างมัสยิดแห่งใหม่ก็เหมือนกัน เราไม่ขอใคร แต่รับบริจาค เพราะอยากสร้างด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง”
“ผมมีอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 3 คูหา อยู่ที่ถนนพัฒนาการ ผมตัดสินใจขายตึกนี้เพื่อนำรายได้มาเป็นเงินก้นถุงส่วนหนึ่งในการสร้างมัสยิด เราไม่ต้องไปแบมือขอ คุณซื้อตึกนี้ก็ได้บุญและได้ตึกไปด้วย”
อิหม่ามโพยม บอกว่า มัสยิดแห่งใหม่ต้องใช้เงินทุนในการก่อสร้างถึง 22 ล้านบาท เพราะตัวอาคารจะประกอบไปด้วยโรงเรียน สถานที่ละหมาด และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ ครบครัน แม้จะยากแต่เขาก็จะพยายามต่อไป เพราะการมี “มัสยิดไทย” ในต่างแดน เป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากมายเกินกว่าที่ผู้มีอำนาจในประเทศไทยจะคาดคิดถึง
“การที่เราเปิดให้มุสลิมจากทุกชาติมาร่วมละหมาดในมัสยิดไทย ทำให้เราคนไทยกลายเป็นเจ้าบ้าน เท่ากับเราได้ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปในตัวด้วย ที่ผ่านมาผมเคยจัดทัวร์พามุสลิมชาติต่างๆ ไปเที่ยวประเทศไทย มีคนให้ความสนใจกันมาก”
“จริงๆ รัฐบาลน่าจะคิดจัดทัวร์มุสลิมจากสหรัฐไปเที่ยวประเทศไทยบ้าง อาจจะเปิดทัวร์อิสลามหานักท่องเที่ยวไป เพราะคนมุสลิมที่ไปเที่ยวเมืองไทยเขาคงไม่อยากเข้าวัด ทัวร์ของเราที่มีอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็มีแต่เข้าวัด ทำบุญ เสี่ยงเซียมซี แต่ถ้าเป็นทัวร์มุสลิมเราต้องไปไหนบ้าง อาจจะลงใต้ หรือไปมัสยิดต้นสน (มัสยิดเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ) พาไปดูความยิ่งใหญ่ของอิสลามในประเทศไทย ผมว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้มากทีเดียว”
“ในแคลิฟอร์เนียยังมีสถาบันเกี่ยวกับศาสนาอิสลามถึงเกือบ 200 แห่ง มุสลิมจึงเป็นตลาดใหญ่ที่รัฐบาลไทยน่าคิดหาช่องทางนำรายได้เข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว หรือส่งผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมาจำหน่าย”
ตลอดกว่า 2 ทศวรรษที่ดิ้นรนก่อสร้างและดูแลมัสยิดมา ทั้งๆ ที่หากเป็นสินค้าก็ต้องบอกว่าพะยี่ห้อ “ไทยแลนด์” แม้อิหม่ามโพยมจะไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการของไทยเลย แต่กระนั้นเขาก็คาดหวังว่าสักวันหนึ่งรัฐบาลไทยจะมีความตระหนักและใช้ประโยชน์จาก “มัสยิดอัล-ฟาติฮะห์” ให้สมกับเป็นมัสยิดไทยแห่งแรกและแห่งเดียวในต่างแดน
“ผมอยากให้รัฐบาลไทยตระหนักว่านี่เป็นมัสยิดของเขานะ อยากให้จุฬาราชมนตรีมองเห็นความสำคัญ อาจจะส่งอิหม่ามจากประเทศไทยเดินทางมาที่นี่ หรือมาทำหน้าที่ที่นี่บ้าง เหมือนมาดูงาน จะได้แบ่งเบาภาระผม และเป็นสายใยเชื่อมถึงกัน เมื่อผมตายไปแล้วจะได้มีอิหม่ามดีๆ มาทำหน้าที่ประจำมัสยิดที่ยูเอสเอ”
เป็นคำฝากสุดท้ายของอิหม่ามจากแดนไกล ณ มัสยิดไทยในอเมริกา...
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "จุดประกาย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 30 มิ.ย.2554 ในชื่อ "มัสยิดไทย" ในป่าพญาอินทรี