ผ่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เทียบคุมม็อบเมืองกรุง-ชายแดนใต้
หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ "สำนักข่าวอิศรา" ประมวลเนื้อหาขอบเขตอำนาจกฎหมายพิเศษทั้งที่ถูกประกาศใช้ในกรุงเทพฯ ขณะนี้ เปรียบเทียบกับกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่ประกาศใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานนับ 10 ปี
ภายหลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการเฉพาะอำเภอบางพลี และจังหวัดปทุมธานี เฉพาะอำเภอลาดหลุมแก้ว เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสคัดค้านจากคนในสังคมจำนวนมาก กลุ่ม องค์กรต่างๆ ทยอยออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างแพร่หลาย
ในสถานการณ์ที่รัฐมีช่องทางการใช้อำนาจซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ "สำนักข่าวอิศรา" จึงถือโอกาสนี้ประมวลเนื้อหาขอบเขตอำนาจกฎหมายพิเศษทั้งที่ถูกประกาศใช้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในขณะนี้ และเปรียบเทียบกับกฎหมายพิเศษรูปแบบต่างๆ ที่ประกาศใช้ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้การตื่นตัวของหลายองค์กรที่ออกมาคัดค้าน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล นั้น ในความเป็นจริงแล้ว จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษมานานนับ 10 ปี โดยมิได้มีเพียง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากยังมีกฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งกฎหมายพิเศษทั้ง 3 แบบที่ใช้ซ้ำซ้อนกันนี้ มอบอำนาจมหาศาลให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างมาก
กล่าวสำรับ รายละเอียด พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ล่าสุด วันที่ 23 ม.ค.2557 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ว่าด้วย “ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548” ที่ลงนามโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และให้มีผลทันที มีสาระสำคัญตอนหนึ่ง ระบุถึงข้อกำหนด 6 ข้อ ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย
1.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใด อันเป็นการยุยุงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นการชุมนุมตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
2.ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
3.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
4.ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าใจ หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรือห้ามเข้าในไปพื้นที่ใดๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
5.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
6.ในการดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกิดสมควรแก่เหตุก็ได้
ขณะเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่ “ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี” มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า ตามที่ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ครม.ได้มติโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีกระทรวงตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 22 ฉบับ ที่น่าสนใจได้แก่ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฯลฯ เป็นต้น
ด้านกฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ย้อนไปนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นำมาสู่การประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547
จนกระทั่งวันที่ 19 กรกฎาคม 2548 จึงได้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก และแทนที่ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ทว่า ในวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร ก็ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอีกครั้ง ในขณะที่ พรก.ฉุกเฉิน ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทุก ๆ 3 เดือนตลอดมาจนกระทั้งปัจจุบันรวมเป็นเวลานับ 10 ปีแล้วที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
โดย กฎหมายดังกล่าว มีขอบเขตอำนาจแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
1.พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
กฎอัยการศึกเป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายทหารเหนือฝ่ายพลเรือนในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็น ผู้บังคับใช้กฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจในการ ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และกักตัวบุคคล ได้โดยทันทีเพียงแต่ มีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก หรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร โดยกฎอัยการศึกให้อำนาจดังต่อไปนี้
การปิดล้อม
• สามารถสนธิกำลัง 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ พลเรือน เข้าปิดล้อม เพื่อทำการตรวจค้นและจับกุมตัวบุคคลได้
• สามารถปิดล้อมได้ทุกที่
• สามารถปิดล้อมได้ทุกเวลา
• สามารถยึด ทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และขับไล่บุคคลออกจากสถานที่นั้นได้
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทำรายงานการปิดล้อม
การตรวจค้น
ตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล
• ตรวจค้นได้ทั้งตัวบุคคล และสิ่งของ และสถานที่ใด ๆ ก็ได้
• ตรวจค้นเคหะสถานและที่รโหฐาน
• ตรวจค้นได้ทุกเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
• สามารถยึดสิ่งของที่ต้องห้ามหรือต้องยึดได้
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำรายงานการตรวจค้น
การจับกุมบุคคล
• จับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายศาลและแม้ไม่ใช้การกระทำผิดซึ่งหน้า
• สามารถเข้าไปจับกุมได้แม้ในที่รโหฐานและโดยไม่ต้องมีหมายค้น
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งเหตุแห่งการจับหรือแจ้งข้อกล่าวหา
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกจับไว้วางใจให้ทราบถึงการจับกุมหรือการปล่อยตัว
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบันทึกการจับกุม
การกักตัวบุคคล
• กักตัวบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ทั้งนี้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้
• กักตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน
• กักตัวบุคคลไว้ได้แม้ไม่มีข้อกล่าวหาใด ๆ และโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ต้องแจ้งเหตุแห่งการต้องกักตัวแต่อย่างใด
• ควบคุมตัวบุคคลที่ถูกกักตัวนั้นไว้ที่ใดก็ได้
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกกักตัวไว้วางใจถึงสถานที่ที่ใช้ควบคุมบุคคลที่ถูกกักตัวนั้นไว้
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ญาติเยี่ยม
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำบันทึกการควบคุมตัว
นอกจากนี้กฎอัยการศึกยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่จากการถูกเรียกร้องค่าเสียหายจากประชาชนหรือบริษัทใด ๆ ไม่ให้สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ได้ อีกทั้งยังให้อำนาจแก่ผู้ที่มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกในการประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ซึ่งรวมถึงความผิดต่อความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยถึงแม้จะเป็นการพิจารณาคดีพลเรือนธรรมดาที่มิใช่เจ้าหน้าที่ทหารก็ตาม อย่างไรก็ตามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมิได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวนี้และศาลพลเรือนยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่เป็นคดีที่บุคคลในสังกัดราชการทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร
2.พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้เป็นพื้นที่ซึ่งถูกบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน อันเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่ฝ่ายบริหารในการใช้มาตรการพิเศษต่าง ๆ ที่อาจส่งผลเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในกรณีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดตกอยู่ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรือมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ และการใช้อำนาจการบริหารราชการตามกฎหมายปกตินั้นไม่เพียงพอที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและคลีคลายสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้
โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ พนักงานเจ้าหน้ามีอำนาจที่จะใช้มาตรการพิเศษเกี่ยวกับการตรวจค้น การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ดังต่อไปนี้
การจับกุม
• จับกุมได้โดยต้องมีหมายจับตาม พรก.ฉุกเฉิน ที่ศาลออกให้
• กรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถพบผู้พิพากษาได้ สามารถร้องขอให้ศาลหมายจับได้โดยทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสารสนเทศประเภทอื่น เพื่อให้ศาลออกหมายจับและส่งทางโทรสารได้
• สามารถเข้าไปจับกุมในที่รโหฐานได้โดยอาศัยอำนาจค้นตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่การจับกุมจะต้องมีหมายจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
• การเข้าจับกุมจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ การจับกุมนั้นเพียงเพื่อให้ได้ตัวผู้ถูกจับไปดำเนินการไม่ใช่การลงโทษ โดยจะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำรุนแรงใด ๆโดยคำนึงถึงสถานการณ์ความยากง่ายและความร่วมมือของผู้ถูกจับในกรณีนั้น ๆ
• พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาลที่ออกหมายจับ และจัดทำสำเนารายงานไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ญาติสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงหมายจับ การแจ้งเหตุแห่งการจับ หรือแจ้งสิทธิ
• ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกจับไว้วางใจให้ทราบถึงการจับกุมหรือการปล่อยตัว
การควบคุมตัว
• ควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกินเจ็ดวัน แต่สามารถขอขยายระยะเวลาได้ทุก 7 วัน โดยต้องขออนุญาตจากศาล แต่รวมระยะเวลาการควบคุมตัวแล้วต้องไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
• การขอขยายระยะเวลาควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องนำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลด้วย
• ผู้ถูกควบคุม สามี ภริยา ญาติ หรือบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุม มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอคัดค้านการควบคุมตัวหรือเพื่อขอให้ศาลทำการไต่สวนความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว ซึ่งหากศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องควบคุมตัวต่อไปหรือการควบคุมตัวนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวทันที ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 ซึ่งนำมาบังคับใช้โดยอนุโลมกับการขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวบุคคลตาม พรก.ฉุกเฉิน
• สถานที่ควบคุมตัวต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทันฑสถาน หรือเรือนจำ
• สถานที่ควบคุมตัวเป็นไปตามที่กำหนดตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน. ภาค 4) คือ
-ศูนย์วิวัฒน์สันติ ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
-ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา(ทั้งนี้ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ญาติเยี่ยม ขณะที่ตามระเบียบ กอรมน. ภาค 4 กำหนดให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ตั้งแต่วันแรกของการควบคุมตัว)
การตรวจค้น
• ตรวจค้นบุคคล สถานที่ เคหะสถาน รวมถึงที่รโหฐานได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
• ตรวจค้นได้ทั้งในเวลากลางวันและในเวลากลางคืน
การเรียกบุคคลมารายงานตัว กล่าวคือ นอกจากอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลแล้ว พรก.ฉุกเฉิน มาตรา 11 (2) ยังให้อำนาจเจ้าพนักงานออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว/ให้ถ้อยคำ/ส่งมอบเอกสาร/หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสามารถออกคำสั่งเป็นหนังสือหรือโดยวาจาก็ได้และมิต้องขอหมายจากศาล
ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 12 วรรคท้าย กำหนดให้การร้องขออนุญาตต่อศาลเพื่อจับกุมหรือขยายระยะเวลาการควบคุมตัวบุคคลตาม พรก.ฉุกเฉิน นั้น ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกหมาย
อาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลมและระเบียบของ กอรมน.ภาค 4 ยังระบุให้การจับกุมและควบคุมตัวตาม พรก.ฉุกเฉิน นั้น เป็นไปเพื่อการดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจและอบรมให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อให้เลิกกระทำหรือสนับสนุนการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดเหตุร้ายแรง และเมื่อเชื่อว่าผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวยินยอมเลิกกระทำการเช่นว่านั้นแล้ว ก็ให้รีบปล่อยตัว
ทำนองเดียวกับกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดของเจ้าพนักงานให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย หากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น และยังมีบทบัญญัติยกเว้นเขตอำนาจศาลปปกครองในการทบทวนตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการใช้อำนาจและมาตรการพิเศษต่าง ๆ ตาม พรก.ฉุกเฉินนี้ด้วย
3.พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
นอกจากกฎหมายพิเศษที่กล่าวมาแล้ว ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552 รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคงในพื้นที่สี่อำเภอจังหวัดสงขลา คือ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี และอำเภอจะนะ ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนกระทั้งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ที่ได้มีการประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก เหลือเพียง พรบ.ความมั่นคง อันเป็นกฎหมายพิเศษในกลุ่มกฎหมายความมั่นคงฉบับเดียวที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตามได้มีประเมิณว่าจะมีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคง ในพื้นที่สี่อำเภอจังหวัดสงขลา และจะมีการประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง เพิ่มในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต ทั้งนี้ไม่เคยมีการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่สี่อำเภอจังหวัดสงขลามาก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ พรบ.ความมั่นคง จะมิได้ให้อำนาจพิเศษเกี่ยวกับการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวบุคลไว้ดังเช่นในกฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉิน แต่ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับอำนาจพิเศษตาม พรบ.ความมั่นคงคือ การให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาเข้ารับการอบรมแทนการฟ้องคดีในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หากผู้ถูกกล่าวกระทำไปเพราะหลงผิด กลับใจเข้ามอบตัวและการเปิดโอกาสให้กลับตัวนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคง ซึ่งหากศาลเห็นสมควรและผู้ถูกกล่าวหา “ยินยอม” ก็สามารถสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดแทนการถูกฟ้องร้องคดีได้
เหล่านี้ คือกฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมานับ 10 ปี ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้