‘ดร.กัมปนาท’ วอนรัฐหนุนวิจัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดันไทยเป็นศูนย์กลางเอเชีย
วิจัยชี้ 50 ปี พัฒนาพันธุ์ข้าวโพดไทย ‘สุวรรณ 1’ เกิดมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากปี 2509 ระบุพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากนโยบายแทรกแซงตลาดยางพารา ‘นักวิชาการคลังสมอง’ จี้รัฐหนุนผลิตเขตชลประทานเหมาะสมแทนข้าว ‘มอนซานโต้’ เชื่อไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์เอเชียได้
วันที่ 22 มกราคม 2557 สำนักงานประสานงานชุดโครงการ ‘งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย’ สถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนา ‘ 5 ทศวรรษ ของการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยและการก้าวต่อไป เพื่อรองรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน’ ณ ห้องประชุม 1 สกว. กรุงเทพฯ
ดร.กัมปนาท วิจิตรศรีกมล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงการประเมินผลประโยชน์จากงานวิจัยว่า การวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด ‘สุวรรณ 1’ ก่อให้เกิดผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ปี 2509 สูงถึง 4,652 ล้านบาท และปี 2556 สูงถึง 46,082 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ผลกระทบการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกพืชแข่งขัน (ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง) ที่มีผลต่อการตอบสนองของอุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายส่งเสริมการผลิตและแทรกแซงตลาดยางพารา ส่งผลให้มีพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกินของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก
หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบไทยมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากพืชแข่งขัน การนำข้าวโพดเพื่อผลิตเอทานอลเป็นพลังงานทดแทน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไทยต้องพึ่งพาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ก่อนเปิดเสรีการค้าอาเซียน (ASEAN Free Trade Area:AFTA) การค้าของไทยจะนำเข้าจากสหรัฐฯ และอาร์เจนตินา แต่หลังจากเปิดแล้วไทยจะหันมานำเข้าจากประเทศในอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศ จึงทำให้ไทยมีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดที่สำคัญด้วย ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ดร.กัมปนาท ยังระบุถึงการค้าเมล็ดพันธุ์ด้วยว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์อันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย-แปซิฟิก แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มการส่งออกที่ลดลงตลอด เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น
“การค้าอาหารสัตว์ ไทยถือเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้การส่งออกมีปริมาณสูงขึ้นทุกปี ซึ่งตลาดส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม” หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าว และว่าเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community:AEC) ในปี 2558 ยิ่งจะทำให้การลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการลงทุนลดลง แต่ขณะเดียวกันการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลง เพราะไทยย้ายฐานการผลิตไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น
ดร.กัมปนาท จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐเข้ามาส่งเสริมการวิจัยในระดับพื้นฐานและต่อยอดการวิจัยโดยภาคเอกชน ทั้งนี้ จำต้องส่งเสริมการวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์เกษตรเป็นอันดับแรก เพื่อให้ไทยยกระดับเป็น ‘ศูนย์กลางการวิจัยและการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แห่งเอเชีย’ ที่สำคัญ ควรกำหนดเขตพื้นที่ผลิต (โซนนิ่ง) เพื่อให้เกิดความเหมาะสมทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ของพืชแต่ละชนิด และเป็นความมั่นคงทางอาหาร
“รัฐควรกำหนดนโยบายเพื่อรองรับกับกรณีที่ประเทศคู่แข่งและคู่ค้าหันมาส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมอย่างกว้างขวาง รวมถึงปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้พัฒนาพันธุ์” หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าว และเสนอต่อว่าส่งเสริมให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต จัดระบบโลจิสติกส์ ส่งเสริมการลงทุนในประเทศอาเซียนให้มากขึ้น ตลอดจนถึงรัฐควรส่งเสริมความเข้มแข็งอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดพันธุ์ อาหารสัตว์ และปศุสัตว์ ให้อยู่ในภาพรวมเชิงระบบ
ด้านรศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ดีตัวหนึ่ง หากมีการนำการวิจัยเข้ามามีส่วนในการปรับปรุงพันธุ์ ขณะเดียวกันเห็นได้ชัด ไทยมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลดลง ดังนั้นเสนอให้ส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ชลประทานและเหมาะสมทดแทนการปลูกข้าว ซึ่งกำลังเป็นสินค้าดาวร่วงตอนนี้ เนื่องจากกำลังประสบปัญหามากมาย แล้วนำงานวิจัยเข้าไปพัฒนา โดยส่วนตัวมองว่ารัฐยังไม่มีนโยบายที่จะหาพืชชนิดนี้มาทดแทนข้าวในบางพื้นที่ที่ทำได้ ทั้งที่ใช้ระยะเวลาปลูก 90-120 วัน ก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรแล้ว
ขณะที่ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ ผอ.ฝ่ายรัฐกิจ บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวถึงการมุ่งหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แห่งเอเชีย ว่าปัจจุบันเอกชนต้องการให้ไทยเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตด้านเมล็ดพันธุ์ นั่นหมายถึง ไม่ว่าใครต้องการเมล็ดพันธุ์ชนิดใดสามารถจะมาหาได้ในไทย ซึ่งเชื่อว่าไทยสามารถไปถึงจุดนั้นได้ โดยลาว กัมพูชา และเมียนม่าร์ พร้อมจะให้พื้นที่เพาะปลูก แต่ไทยจะต้องเป็นผู้ให้เมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต เครื่องจักรกลทางการเกษตร และการฝึกอบรม ซึ่งคาดว่าจะเป็นทิศทางใหม่ในอุตสาหกรรมของไทย
“งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นตัวต่อยอด โดยไทยต้องยกระดับใหม่เอาพื้นที่มีอยู่ไปผลิตเมล็ดพันธุ์แล้วส่งออกไปเพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจะส่งกลับมาในไทย แต่ทั้งนี้ ไม่ควรหลงทางไปกับคำว่า ‘ศูนย์กลางการผลิต’ เพราะอาจจะทำให้มัวคิดแต่เรื่องจะผลิต โดยลืมวิธีจะค้าขายให้ได้” ผู้แทน บ.มอนซานโต้ กล่าว .