หวั่นขาดเเคลนน้ำหลังทำนาปรังเขตชลฯ ลุ่มเจ้าพระยา เกินเเผน 180%
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ล่าสุด 20 ม.ค. 57) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 13,614 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 6,918 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,942 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,142 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,524 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,674 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 483 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 440 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 665 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 662 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆข้างต้น เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2556/2557 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 700 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2556/2557 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(20 ม.ค. 57) มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,654 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนฯ อีกประมาณ 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของแผนฯ
ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ 16 ม.ค. 57) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 7.66 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 150 ของแผนทั้งหมด(แผนกำหนดไว้ 5.09 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 7.41 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 156 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 4.74 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.25 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.35 ล้านไร่)
อนึ่ง จากการติดตามสภาพการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินแผนที่ได้กำหนดไว้ไปกว่าร้อยละ 180 แล้ว ซึ่งหากพื้นที่ทำนาปรังยังคงเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ย่อมจะเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต เนื่องจากต้องนำน้ำที่สำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้ามาใช้ จึงขอย้ำให้เกษตรกรให้ความร่วมมือในการงดทำนาปรังอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้อย่างไม่ขาดแคลน
หมายเหตุ – ฤดูการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี
ภาพประกอบ:เว็บไซต์easybranches.co.th