คชสป.ออกแถลงการณ์ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
วันที่ ๒๑ มกราคม นายจินดา บุญจันทร์ และนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.) ๒๙ เครือข่าย/กลุ่ม/องค์กร แถลงการณ์เรื่องข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ชั้น ๑ พอช.
ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน อยู่ในปัจจุบัน จนหลายฝ่ายมีความห่วงใยว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ จึงได้พยายามหาทางออกร่วมกันโดย ใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง โดยให้มีการปฏิรูปประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ที่ทุกฝ่ายควรใช้กระแสการตื่นตัวทางการเมืองครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศโดยรวม
เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะในระดับรากฐานของชุมชน ที่มีบทเรียนประสบการณ์การพัฒนา และการปฏิรูปมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๓๐ ปี จึงได้จัดทำข้อเสนอเพื่อร่วมปฏิรูปประเทศ โดยยึดหลักให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
๑. ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองการปกครอง/แก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีอำนาจอธิปไตย โดยเพิ่ม”สภาพลเมือง” เป็นอำนาจที่ ๔ ถ่วงดุลย์กับ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการพร้อมกับแก้ไขสาระสำคัญต่างๆ คือ
- อำนาจนิติบัญญัติ ให้สส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค และเลือกจากกลุ่มอาชีพ รวมทั้งให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง
- อำนาจบริหาร ให้ยุบราชการส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยมีพรบ.จังหวัดปกครองตนเอง ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และให้โอนอำนาจจัดการในด้านต่างๆ ไปยังจังหวัด เช่น การศึกษา การจัดการทรัพยากร การจัดสรรรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ๗๐รวมทั้งมีหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติและแผนพัฒนาของตนเองโดยส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาจังหวัด
ปรับปรุงการบริหารราชการส่วนกลางให้คงเหลือเพียงงาน ๔ ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านต่างประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม และด้านการเงินการคลังของประเทศ
- อำนาจตุลาการ เปลี่ยนวิธีพิจารณาความจากกล่าวหาเป็นไต่สวน มีคณะลูกขุนและทนายท้องถิ่น มีพรบ. กองทุนยุติธรรม ตลอดจนแก้กฎหมายให้คดีทุจริตคอรัปชั่นไม่มีอายุความและมีบทลงโทษที่หนักกว่าเดิม
- สภาพลเมือง ซึ่งมีทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับชาติ โดยมีองค์ประกอบสมาชิกจากสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งจากตัวแทนองค์กรที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ส่วนที่สองมาจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (รายละเอียดตามแผนภาพประกอบ)โดยให้สภาพลเมืองมีหน้าที่วางแผนพัฒนาและถ่วงดุลย์อำนาจ บริหาร
๒. การปฏิรูปด้านที่ดิน
๑)การแก้ไขปัญหาเดิม ให้ดำเนินการดังนี้ คือ
• หยุดการจับกุม/ฟ้องร้อง/ขับไล่/ตัดฟัน/หยุดคดี
• ทำแนวเขตสิทธิ์เหนือที่ดินที่ประชาชนอาศัยทำกินอยู่ก่อนแล้วให้ชัดเจน
• ให้ประชาชนได้รับสิทธิ์ในที่ดินตาม พรบ.สิทธิชุมชนฯ
๒)การกระจายการถือครองที่ดิน ให้ดำเนินการดังนี้
• ออก พรบ. ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) พรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า (๒) พรบ.ธนาคารที่ดิน (๓) พรบ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร
• กระจายการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า ๒ไร่
๓.การจัดการทรัพยากรอื่นๆ ให้การจัดการทรัพยากรเป็นอำนาจของท้องถิ่นจังหวัด โดยให้ท้องถิ่นจังหวัดทบทวน/การสัมปทาน/การจัดผลิต (น้ำมัน/แร่/หิน/ดิน/ทราย ฯลฯ)และการดูแลรักษา เพื่อประโยชน์ของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ
๔.เรื่องยุติความรุนแรง มีข้อเสนอดังนี้
๑)เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงทุกรูปแบบทันที
๒)ให้รัฐบาลทำหน้าที่เป็นรัฐบาลของประชาชนทั้งประเทศ ใช้อำนาจหน้าที่และทรัพยากรทุกอย่างที่มี เพื่อคุ้มครองและมีมาตรการอย่างเข้มงวด ในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนทุกฝ่าย และภาคส่วนอย่างเท่าเทียม
๓)เรียกร้องทุกฝ่ายในสังคมและคู่ขัดแย้ง ให้มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งร่วมกันโดยเร็ว ก่อนนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ
๔)ในส่วนเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคม พร้อมเข้าร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทย
๕.ในขณะเดียวกัน เครือข่ายฯ จะเดินหน้าปฏิรูปทันทีโดยอาศัยบทเรียนและประสบการณ์การทำงานมากว่า ๓๐ ปี ที่ผ่านมาโดยจะดำเนินการขับเคลื่อนทันทีร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในทุกระดับพื้นที่
เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.)
๒๑ มกราคม ๒๕๕๗
--------------------------------------------------------
เครือข่ายองค์กรชุมชน และประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป คือเครือข่ายภาคประชาชน ๒๙ กลุ่ม ที่ประกอบด้วย ๑) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ๒) เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง ๓) เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ๔) คณะประสานงานองค์กรชุมชน (คปอ.) ๕) มูลนิธิชุมชนไท ๖) เครือข่ายพลเมือง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ๗) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ๘) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ๙) เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ๑๐) เครือข่ายกะเหรี่ยงประเทศไทย ๑๑) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ๑๒) เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ๑๓) เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านแพ้ว ๑๔) ผู้แทนภาคประชาสังคมระดับภาค ๑๑ ภาค ๑๕) เจ้าหน้าที่ พอช. ๑๖) เครือข่ายการจัดการลุ่มน้ำ ๑๗) เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก ๑๘) เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ๑๙) เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย (คนไทยพลัดถิ่น) ๒๐) เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ๒๑) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบเหมืองทองพิจิตร ๒๒) เครือข่ายชุมชนอุบล ๒๓) เครือข่ายชุมชนพังงา ๒๔) เครือข่ายอ่าวตัว ก. ๒๕) เครือข่ายสมัชชาพลเมือง กทม. ๒๖) เครือข่ายมวลมหาประชาคุย และ ๒๗) เครือข่ายสภาเกษตรกร ๒๘) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ๒๙) เครือข่ายอีสานเพื่อการปฏิรูป