ไขปริศนาเหตุไฉน “รบ.ยิ่งลักษณ์” ก้าวพลาดด้านการข่าว
"...ข่าวที่รัฐบาลใช้อยู่ตอนนี้คือข่าวของสันติบาลและมหาดไทย ซึ่งถือเป็นข่าวเชิงยุทธวิถี เป็นข่าวประเมินกันวันต่อวัน ไม่สามารถวางยุทธศาสตร์และวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้าได้ ส่วนที่ไม่ได้ใช้คือข่าวของกองทัพกับ สขช. เป็นข่าวเชิงยุทธศาสตร์ สามารถกำหนดทิศทางได้เกือบทั้งหมด..."
การชุมนุมของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) นับวันเสียงปืน-เสียงระเบิด ดังขึ้นไม่ขาดสาย
แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าฝั่งไหนเป็นฝ่ายยิง เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างว่า “ฝั่งตรงข้าม” เป็นคนลงมือ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในชั่วโมงของ “รัฐบาล” ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม คือการประเมินด้านการ “ข่าว” ทั้งข่าวลึก-ข่าวลับ-ข่าวจริง-ข่าวลวง
ทว่าผลงานด้านการ “ข่าว” กลับถูกมองเป็น “จุดอ่อน” เพราะการประเมินการชุมนุมของ “กปปส.” ผิดเกือบทุกครั้ง ทั้งทิศทางการชุมนุม-ตัวเลขผู้ชุมนุม-กระแสการชุมนุม
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของปัญหา “การข่าว” ที่ “รัฐบาล” แก้ไม่ตก เพื่อสะท้อนภาพความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริง
หากย้อนไปตั้งแต่ที่ “พรรคเพื่อไทย” เสนอแปรญัตติแก้ไขเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ให้เป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ถูกขนานนามว่าฉบับ "เหมาเข่ง-สุดซอย"
ตัวเลขของแรงต้านที่ “หน่วยงานความมั่นคง” ที่ประเมิน “การข่าว” เท่าที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เลือกใช้ นำโดยบริการของศิษย์เก่าเตรียมทหารรุ่น 14 ทั้ง “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” ปลัดกระทรวงกลาโหม “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) “พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย อเนกเวียง” ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และ "พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว" ผบ.ตร. ประเมินไว้ที่ 10,000 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สามารถรับมือได้
ผลที่ออกมากลับตรงกันข้าม ทุกภาคส่วนของสังคมไทยออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จน “รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย” ต้องถอยสุดซอย ตีตก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปในที่สุด
แต่ไม่สามารถหยุดยังการชุมนุมของ “กปปส.” ที่นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส. ลงได้ เพราะการชุมนุมพัฒนาการไปสู่การชูธง “ปฏิรูปประเทศ”
“สุเทพ” เรียกชุมนุมใหญ่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 “พล.ท.ภราดร” ยังประเมินว่ามีผู้ชุมนุมหลักหมื่น แต่มีผู้ชุมนุมจริงหลายแสนคน ชุมนุมใหญ่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 “พล.ท.ภราดร” ประเมินว่ามีผู้ชุมนุมหลักแสนคน แต่มีผู้ชุมนุมจริงที่หลายฝ่ายประเมินกันอยู่ที่หลักล้าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประเมินตัวเลขผู้ชุมนุม-ทิศทางการชุมนุม ผิดพลาดอย่างมาก ส่งผลต่อ “รัฐบาล” ให้ตัดสินใจเดินหมากการเมืองพลาดตามไปด้วย
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง กล่าวว่า การประเมินตัวเลขผู้ชุมนุมน้อย ส่งผลทำให้รัฐบาลตัดสินใจครั้งสำคัญผิดพลาดมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการตัดสินใจยุบสภาในช่วงเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ทั้งที่ “สุเทพ” ประกาศเป็นวันชุมนุมใหญ่
“การตัดสินใจยุบสภาของนายกฯ ควรมีก่อนการจัดชุมนุมใหญ่ เพราะจะช่วยลดจำนวนคนลง ถ้าคนมาน้อยแกนนำม๊อบอาจจะตัดสินใจยอมถอยได้ เพราะการตัดสินใจของแกนนำม๊อบขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชุมนุม ไม่มีปัจจัยอื่นมาส่งเสริม นายกฯ ตัดสินใจช้าไปมาก เมื่อคนออกมาเยอะ คุณสุเทพจึงชิงยื่นเงื่อนไขเพิ่มทันที”
ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้ “รัฐบาล” ประเมิน “กปปส.” พลาดมาตลอด หนีไม่พ้นความไม่เป็น “เอกภาพ” ของ “หน่วยงานความมั่นคง” ภายใต้การกับกำดูแลของ “รัฐบาล” เอง
หน่วยงานด้านการข่าวที่ “รัฐบาล” ใช้คือข้อมูลจาก “สมช.-มหาดไทย-สันติบาล” ซึ่งข้อมูลจาก “สมช.” นั้น “พล.ท.ภราดร” เลือกใช้เพียงแค่บางส่วน เพราะระแวงว่า “ลูกน้องบางคน” เป็นสายของ “ถวิล เปลี่ยนศรี” อดีตเลขาธิการ สมช. จึงไม่เลือกใช้งาน
ส่วนหน่วยงานด้านการข่าวที่ “รัฐบาล” ไม่เลือกใช้งานคือ”ข่าวกองทัพ” และ “สำนักข่าวกรองแห่งชาติ” (สขช.) ทั้งที่ ถือเป็นหน่วยงานด้านการข่าว เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของประเทศ
“ข่าวกองทัพ” เข้าใจได้ว่า “กองทัพ” อยู่ในสภาพที่ต้องระวังตัว รักษาความเป็นกลางให้มากที่สุด หากถูก “รัฐบาล” ใช้เต็มตัว จึงอาจจะอยู่ในสภาวะลำบากใจ
ส่วนข่าว “สขช.” รัฐบาลไม่เลือกใช้เพราะไม่มั่นใจในตัวของ “สุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ” ผอ.สขช. ที่ถูกติดตราว่าอยู่คนละขั้วกับ “รัฐบาล” แต่ที่ไม่สามารถปลด “สุวพันธ์” ออกจากตำแหน่งได้
โดยข่าวทางเปิดบอกว่า เหตุที่ ผอ.สขช.คนปัจจุบันยังเก้าอี้เหนียว เพราะ “สุวพันธ์” เริ่มต่อสาย “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รองนายกรัฐมนตรี ได้ ปรับวิธีการทำงานกันได้
แต่ข่าวทางลับเล่ากันว่า เป็นเพราะ “สุวพันธ์” มีพลังพิเศษคอยเกื้อหนุนอยู่ ทั้งที่ “รัฐบาล” มีตัวเต็งผอ.สขช.คนใหม่ชื่อ “พล.ท.สุรวัช บุตรวงศ์” รอง ผอ.ศูนย์ประสานงานข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เตรียมทหารรุ่น 14 อยู่ในใจแล้ว แต่ไม่สามารถแซะ “สุวพันธ์” ออกไปได้
“รัฐบาล” จึงเลือกที่จะไม่เรียก “สุวพันธ์” มาให้ข้อมูลด้านการข่าวเลย
แหล่งข่าว ระบุว่า ข่าวที่รัฐบาลใช้อยู่ตอนนี้คือข่าวของสันติบาลและมหาดไทย ซึ่งถือเป็นข่าวเชิงยุทธวิถี เป็นข่าวประเมินกันวันต่อวัน ไม่สามารถวางยุทธศาสตร์และวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้าได้
“ส่วนข่าวของกองทัพกับสขช. เป็นข่าวเชิงยุทธศาสตร์ สามารถกำหนดทิศทางได้เกือบทั้งหมด อาจจะมีผิดบ้าง แต่เปอร์เซ็นต์ผิดน้อยกว่าข่าวสันติบาลและมหาดไทยอยู่มาก ข่าวที่ใช้อยู่หากเทียบแล้วรัฐบาลใช้ศักยภาพจากหน่วยข่าวแค่ไม่มาณ 30 เปอร์เซ็นต์” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า แต่ที่น่าเป็นห่วงคือข้อมูลที่ พล.อ.นิพัทธ์ พล.ท.ภราดร และ พล.ต.อ.อดุลย์ ชี้สรุปสถานการณ์ให้นายกฯ และ ครม.รับฟัง บางครั้งเป็นข้อมูลที่จงใจให้ผิด เพื่อเอาใจนายกฯ เอาใจ ครม. พูดข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง ทั้งที่รู้อยู่ว่าข้อมูลจริงเป็นอย่างไร
“มีความพยายามจากบางหน่วยงานที่จะรายงานข้อมูลจริงให้รัฐบาล แต่โดนกลุ่มคนใกล้ชิดสกัดไว้ก่อน เพราะกลัวว่าจะเสียหน้า และบางครั้งรัฐบาลพยายามหนีความจริง ไม่ชอบข้อมูลจริงที่เป็นลบกับรัฐบาล การนำเสนอข้อมูลจริงจึงถูกกีดกั้น” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งหมดคือข้อผิดพลาดด้านการ “ข่าว” ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เพลี่ยงพล้ำมาถึงทุกวันนี้