10 ปีไฟใต้...ผบช.ศชต.บอกต้นตอปัญหาคือความไม่เข้าใจ บึ้มนอก3จังหวัดแค่รับจ๊อบ!
ข้อดีของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ข้อหนึ่งที่ทำให้หลายคนมองว่าเดินถูกทาง แม้แต่ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ก็คือ การที่ภาครัฐเริ่มส่งคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเข้าใจพื้นที่ลงไปทำงานมากขึ้น
โดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหาร ล้วนเป็นผู้ที่เคยผ่านงานหรือเชี่ยวชาญพื้นที่ชายแดนใต้มาทั้งสิ้น
มุมมองนี้สะท้อนชัดประการหนึ่งจากการแต่งตั้ง พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ขึ้นเป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) เมื่อครั้งการปรับย้ายวาระประจำปีเดือนตุลาฯที่ผ่านมา
เพราะ พล.ต.ท.ยงยุทธ คือลูกหม้อคนหนึ่งของ ศชต. เคยเป็นผู้การนราธิวาส (ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส) รองผบช.ศชต. และขึ้นเป็นผู้บัญชาการในที่สุด
ฝีไม้ลายมือในการทำงานของ พล.ต.ท.ยงยุทธ ก็ไม่ใช่ขี้ไก่ เขาเป็นชาวลพบุรีโดยกำเนิด จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานเมื่อปี 2519 รับราชการครั้งแรกที่ สน.พระราชวัง กรุงเทพฯ เคยอาสาไปปฏิบัติหน้าที่ในถิ่นทุรกันดารอย่าง สภ.กิ่งอำเภอดอนตาล อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร และได้ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างกล้าหาญ ต่อต้านกลุ่มมิจฉาชีพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มอิทธิพลที่ปลูกและค้ากัญชาจนถูกลอบยิง
ต่อมาย้ายไปรับราชการที่ จ.ชลบุรี ได้เข้าไปสางคดีที่มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลุ่มอิทธิพลระเบิดหินบนเกาะสีชัง และออกโฉนดที่ดินกว่า 2,000 ไร่โดยมิชอบ จนสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาล กระทั่งได้รับรางวัล "คนไทยตัวอย่าง ประจำปี 2537" ของมูลนิธิธารน้ำใจ
ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา พล.ต.ท.ยงยุทธ ปฏิบัติราชการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งก้าวขึ้นเป็น ผบช.ศชต. เบอร์ 1 ของกองทัพ "สีกากี" ในพื้นที่ปลายสุดด้ามขวาน
"3 เดือนแรกในตำแหน่ง ผบช.ศชต. (ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556) ผมก็ได้พยายามหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ความจริงผมก็ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2547 คิดว่าหน่วยงานรัฐทุกหน่วยก็ร่วมกันแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และ กอรมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับนโยบายมาถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่"
ในมุมมองของ พล.ต.ท.ยงยุทธ เขาเห็นว่านโยบายในภาพรวมที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ แต่จะให้เห็นผลต้องใช้เวลา
"เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ความไม่สงบลดลง แต่ยังเกิดเหตุอยู่ ยังไม่จบ เพราะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิดของผู้ก่อเหตุอาจได้รับการปลูกฝังไว้ในทางที่ไม่ถูกต้อง"
พล.ต.ท.ยงยุทธ อธิบายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาว่า ปัญหาความไม่เข้าใจคือปัจจัยหลักที่ยังทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดเหตุรุนแรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างประชาชนเองก็ดี หรือความเข้าใจผิดที่มีต่อเจ้าหน้าที่ รวมทั้งตัวผู้ก่อเหตุเอง
"ทางแก้ปัญหาคือเราต้องพยายามทำงานด้านเสริมสร้างความเข้าใจ ทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และปัญหาในภาพรวม คิดว่าถ้าคนเข้าใจกัน ก็จะยุติเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ในปีนี้เราจะพยายาม เน้นเรื่องการทำความเข้าใจ แม้กระทั้งผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เราสามารถทำความเข้าใจได้ ที่เรียกตัวมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) หรือที่ถูกจับกุมได้ เราก็พยายามใช้แนวทางทำให้เขากลับมาอยู่เป็นปกติสุขในสังคม"
ย้อนกลับมาเรื่องสถิติเหตุรุนแรง พล.ต.ท.ยงยุทธ บอกว่า หากพิจารณาตามตัวเลข จะพบว่าจำนวนเหตุรุนแรงลดลงมาโดยลำดับ ความสูญเสียลดลง แต่ยังไม่จบ ยังมีเหตุเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหาร ตำรวจที่ยังเป้าหมายในการก่อเหตุโดยใช้วิธีการลอบวางระเบิดมากที่สุด
"บางครั้งเจ้าหน้าที่เราเกิดความสูญเสียพร้อมกัน ก็เลยทำให้ดูเหมือนตัวเลขจะมาก แต่ความจริงเหตุการณ์ลดลง และจากสถิติเรื่องความมั่นคงเกิดน้อยมาก จากจำนวนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน มีหมื่นกว่าครั้ง แต่เป็นเหตุการณ์ความมั่นคงแค่ 8 พันเศษๆ ถือว่าเหตุรุนแรงลดลงมาก ผมเชื่อสถานการณ์ขณะนี้ ประชาชนที่ได้รับการปลูกฝังความคิดความเชื่อมีอีกไม่มาก"
ในฐานะตำรวจที่ต้องยืนอยู่ตรงกันข้ามกับขบวนการธุรกิจผิดกฎหมาย ผบช.ศชต.มองว่า กลุ่มขบวนการเหล่านั้น ทั้งน้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน และยาเสพติด เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เหตุรุนแรงในพื้นที่ยังเกิดขึ้นอยู่
"หลายครั้งเป็นเรื่องความขัดแย้ง สูญเสียผลกระโยชน์ ยาเสพติดก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เช่น เหตุการณ์ที่เกิดนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชัดเจนว่าเป้าหมายไม่เหมือนสามจังหวัด ไม่ใช่เรื่องของการขยายพื้นที่ปฏิบัติการ แต่เป็นเรื่องของการรับจ๊อบกัน (ได้รับการว่าจ้าง) โดยอาศัยมือผู้ก่อเหตุจากในพื้นที่ไปก่อเหตุที่อื่น อย่างที่ อ.สะเดา จ.สงขลา (เหตุระเบิด 3 จุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค.2556) เรารู้อยู่แล้วว่ามีการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน ของหนีภาษี แล้วก็มีการปราบปราม"
"ส่วนของเรื่องยาเสพติดในพื้นที่ก็มีเป็นปกติ มีการแพร่ระบาดเหมือนจังหวัดอื่นๆ เราก็ดำเนินการทั้งบำบัดรักษา อบรม และปราบปราม มีการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทหาร ตำรวจ เราต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้านปราบปรามเราก็จับกุมผู้ค้าได้เป็นระยะๆ ตลอดมา แต่ก็ยังมีคนทำผิดอยู่ เรื่องนี้อยู่ที่ว่าถ้าเยาวชนหรือคนไม่ไปเสพ คนขายก็ขายไม่ได้ ก็ต้องไปดูที่ต้นตอปัญหา ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลลูกหลานของเรา ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน"
เมื่อถามถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินการเกือบ 1 ปีกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ปัจจุบันหยุดชะงักไปนั้น พล.ต.ท.ยงยุทธ บอกว่า ตัวเขาสนับสนุนให้มีการพูดคุยเจรจา
"การเจรจาหรือการพูดคุยเป็นเรื่องของการที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจกัน ชาวบ้านในพื้นที่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาตลอด และเข้าใจด้วย เพราะชาวบ้านล้วนต้องการความสงบสุข ถือเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหวังมาตลอด เพราะเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรง ทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างยากลำบาก ไปไหนมาไหนก็อันตราย การเจรจาอาจเป็นหนทางที่จะทำให้ความเข้าใจเกิดขึ้น พอคนเข้าใจกันก็ไม้ต้องไปก่อเหตุ"
"ผมเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายมีความเข้าใจและร่วมมือกัน ก็คงยุติปัญหาในพื้นที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสันติสุขก็จะเกิดกับประชาชนได้จริงๆ"