"ปลดหนี้ มีเงินเก็บ" เจาะเส้นทางทำกินกลางม็อบ กปปส.
รายได้จากวันแรก ตั้งแต่ผู้ชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ( กปปส. ) ไปตั้งหลักปักฐานกันบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 กระทั่งล่าสุดดาวกระจายเปิด 7 เวที เพื่อปิดกรุงเทพฯ "มายด์" สาวน้อยแม่ลูกสองวัย 19 ปี ที่อาศัยอยู่ย่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผันตัวเองมาเป็นแม่ค้าขายของที่ระลึก กินนอนอยู่กับผู้ชุมนุม กปปส.ตลอดระยะเวลากว่า 70 วันที่ผ่านมา
วันนี้เธอและครอบครัวมีเงินเก็บเฉียดแสนบาท จนสามารถซื้อรถยนต์มือสอง ที่เป็นรถคันแรกในชีวิต ด้วยเงินสดในราคา 80,000 บาทได้อย่างสบายๆ
มายด์เล่าว่า สามีมีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เธอก็เป็นแค่แม่บ้านอยู่บ้านเลี้ยงลูกสองคน ช่วงแรกๆที่ขายของก็เริ่มจากขายน้ำดื่ม เมื่อเห็นว่า ได้กำไรน้อย เธอจึงเปลี่ยนใจหันมาขายเป็นของที่ระลึก รวมถึงอุปกรณ์คู่กายที่ผู้ชุมนุมทุกคนต้องมีนั่นก็คือนกหวีดแทน
สำหรับเทคนิคการขายก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร "มายด์" แนะวิธีการเลือกซื้อของมาวางขาย คือ ต้องมีความแปลก และหลากหลาย ด้วยระยะเวลาของการชุมนุมยืดเยื้อทำให้มีพ่อค้าแม่ขายแห่มาขายของแย่งลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ฉะนั้นเมื่อมีการช่วงชิงพื้นที่ขายของ การคัดสรรของมาขายก็ต้องดูแปลกตาจากร้านอื่นด้วยเช่นกัน
อย่างนกหวีดเธอบอกว่า ก็ต้องเลือกแบบใหม่ๆ มาขายตลอด ส่วนของที่ระลึก กิ๊ฟชอป ไม่ว่าจะเป็นเข็มกลัด แหวน ต่างหูจะเน้นลายธงชาติเป็นหลัก ส่วนสนนราคาขายนั้นจะเริ่มต้นที่ 20 ไปจนถึง 60 บาท
มายด์ เล่าถึงการหันมาค้าขายของที่ระลึกในเวทีการชุมนุมต่างๆ นี้ทำให้เธอจากเดิมที่มีรายได้ทางเดียวจากสามี เวลานี้เธอสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวเพิ่มอีกหนึ่งแรง
"ตอนนี้สามีที่เคยขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็หยุดขับแล้วมาช่วยจัดร้านขายของให้กับผู้มาชุมนุมเป็นหลัก เพราะว่ารายได้ค่อนข้างดี วันปกติรายได้ต่ำกว่าหลักพัน แต่เมื่อแกนนำประกาศชุมนุมใหญ่ทีไร รายได้ก็จะก็เพิ่มขึ้นทุกที
ทุกครั้งที่มีการนัดชุมนุมใหญ่ของกปปส.เวทีที่อนุเสาวีร์ประชาธิปไตยจะเงียบมาก เพราะฉะนั้นหากมีการเคลื่อนผู้ชุมนุมไปอยู่ที่ไหน เราก็จะไปตั้งหลักที่นั่น คือมีกปปส.ก็มีเราไปด้วย หอบทั้งเต๊นท์มากางนอน เอาลูกสองคนมาเลี้ยงด้วย กินนอนกันที่เวทีตลอดสองเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา" มายด์เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
นอกจากสินค้าที่รับมาขายแล้ว การสร้างความแตกต่างในการทำของที่ระลึกขายก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่สามารถสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำในช่วงชัตดาวน์ใจกลางกรุงเทพฯ
สาววัย 27 ปี ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อออกมาร่วมชุมนุมครั้งแรกในชีวิต "ฝน" ทำเข็มกลัดของที่ระลึกมาขายบริเวณถนนหน้าสยามดิสคัฟเวอร์รี่ เล่าให้ฟังว่า หลังเรียนจบแล้ว ยังไม่ได้คิดที่จะสมัครงานที่ไหน มีเอากระเป๋ามาขายบ้าง แต่พอมีชุมนุมที่เริ่มมีการนัดกลุ่มประชาชนชุมนุมใหญ่ตามจุดต่างๆ เธอก็เริ่มเข้ามาร่วมโดยมีทางบ้านให้การสนับสนุน
และแทนที่จะมาชุมนุมอย่างเดียว "ฝน" เห็นว่า การหารายได้ในขณะที่ออกมาเคลื่อนไหวก็น่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเธอได้ทางหนึ่ง จึงตัดสินใจทำของที่ระลึกด้วยตัวเองมาขาย เพราะลงทุนน้อย
หลังจากที่มีการปิดถนนในหลายๆ จุดเธอไปมาหมดแล้วเกือบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ ห้าแยกลาดพร้าว อโศก หรือ แยกราชประสงค์ สุดท้ายพบว่า แถวสยามถือว่า คนเยอะสุดแล้ว
“ความจริงตอนแรกอยากจะเอากระเป๋ามาขาย แต่ว่าเราขายแบบเคลื่อนที่ ต้องย้ายที่ไปมาก็ไม่สะดวก เข็มกลัดสามารถมานั่งทำที่นี่ได้เลย ลงทุนน้อย เคลื่อนย้ายคนเดียวสะดวก ที่สำคัญคือเราไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ บางวันมีรายได้สูงสุดถึง 20,000 บาท ซึ่งเมื่อหักต้นทุนแล้ว ได้กำไรเกินครึ่ง” ฝนโชว์เงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง พร้อมยืนยันว่า การชุมนุมครั้งนี้ หากความคิดเห็นไม่ได้มาทางเดียวกัน เธอก็ไม่คิดที่จะออกมาขาย
พ่อค้าแม่ค้าที่มาร่วมกันปิดถนนเพื่อค้าขายในย่านสยามนั้นไม่ได้มีแค่เพียงพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหญ่ หรือนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบเท่านั้น น้องๆวัยใสระดับมัธยมปลาย อย่าง "ขวัญ" สาวน้อยวัย 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสารสารทวิทยา (สายไหม) ก็พาเพื่อนของเธออีกสองคน มาหารายได้ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
“พวกเราเริ่มกิจกรรมขายแทททูตั้งแต่เริ่มมีชัตดาวน์วันแรกในวันที่ 13 มกราคม ถึงวันนี้ก็ขายมาได้ 3 วันแล้ว วันแรกๆไปขายที่ชิดลม แต่ว่าขายไม่ค่อยดี เลยย้ายมาที่สยาม ที่นี่คนค่อนข้างเยอะ สำหรับแบบของแทททูพวกเราจะออกแบบเองทั้งหมด และเราขายพร้อมติดให้ฟรีลายละ 20บาท ส่วนเวลาเปิดร้านก็ตั้งแต่ 11.00-18.00 น.”
ขวัญ เคยขายของอยู่ในอินสตาแกรม วันหนึ่งๆ มีรายได้เกือบ 5,000 บาท การมาขายของในที่ชุมนุม แม้มีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันคือ เธอและเพื่อนนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้กับ กปปส. แม้ต้องเหนื่อย เพราะยืนเรียกลูกค้ากันทั้งวัน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความสนุกที่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้
เมื่อถามว่าโรงเรียนอยู่แถวสายไหม ประกาศปิดการเรียนการสอนด้วยหรือ ขวัญยิ้ม ก่อนจะบอกว่า โรงเรียนของพวกเธอไม่ได้หยุดการเรียนการสอน เพียงแต่เธอและเพื่อนๆ มีแนวคิดที่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุม และอยากจะเห็นการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง จึงหากิจกรรมการค้าและออกมาร่วมในครั้งนี้
ก่อนจะย้ำว่า แม้จะมีการชุมนุมอีกกี่ครั้งกี่หน หากพวกเธอไม่ได้มีแนวความเห็นกับผู้ชุมนุม ก็จะไม่ออกมาร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
“ถึงเราจะอยากมีรายได้จากการค้าขาย แต่ถ้าความคิดคนละฝั่ง ก็คงไม่อยากออกมา" เธอตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำ อมยิ้มก่อนจะบอกว่า พ่อแม่ของเธอเปิดดูบลูสกายทั้งวัน
เช่นเดียวกับพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นๆ ที่ขายของที่มีสัญลักษณ์ธงชาติเกาะติดเคลื่อนพลตามไปขายทุกที่ บางคนจากต้องแบกหนี้มาหลายปี วันนี้สามารถปลดหนี้ก้อนโตได้เลยทีเดียว ...