ชะตากรรม "ครูอัตราจ้าง" ชายแดนใต้ ข่าวร้าย "วันครู" กลางวิกฤติการเมือง
วิกฤตการณ์การเมืองและการชุมนุมใหญ่ "ปิดกรุงเทพฯ" หรือ "ชัตดาวน์ แบงค็อก" ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือนและสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง รวมทั้งความหวาดผวาต่อการเปลี่ยนแปลงนอกวิถีทางประชาธิปไตย ทำให้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก
เมื่อวันอังคารที่ 14 ม.ค. คนร้ายก่อเหตุยิง นายศุภกฤษ แซ่ลุ่ง ครูโรงเรียนบ้านนิบง อ.กาบัง จ.ยะลา เสียชีวิต ถือเป็นเหตุร้ายที่เกิดกับครูก่อนถึง "วันครู" เพียง 2 วัน และแม้ ครูศุภกฤษ จะเป็นครูรายแรกที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับสถานการณ์ไฟใต้ในปี 2557 แต่เขาเป็นครูและบุคลากรการศึกษารายที่ 170 แล้วที่ต้องจบชีวิตเพราะความรุนแรง
นี่คือความสูญเสียที่เกือบจะไม่มีผู้รับผิดชอบของฝ่ายเมืองให้ความสนใจ ทั้งๆ ที่ครูในพื้นที่ทราบชะตากรรมของพวกตนเองดี...
บุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวไว้เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ระหว่างร่วมงานกับผู้สูญเสียกรณีต่างๆ ว่า ถึงวันนี้ครูไม่มีขวัญกำลังใจเหลืออยู่เลย เพราะความปลอดภัยไม่มี สิ่งที่เคยขอ เคยเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยจาก 2,500 บาทต่อเดือน เป็น 3,500 บาทต่อเดือน และการเพิ่มเงินเยียวยากรณีเสียชีวิตเป็นรายละ 4 ล้านบาท ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง
ถัดจากที่ครูบุญสมพูดเพียง 5 วัน ก็มีครูถูกยิงเสียชีวิตซ้ำเติมสถานการณ์จริงๆ...
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่กระทบกับครูชายแดนใต้ไม่ได้มีแค่เรื่องความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องครูขาดแคลน ขอย้ายออกจำนวนมาก แต่แทบไม่มีใครย้ายเข้า หรือหากจะมีย้ายเข้า ก็ไม่มีอัตราบรรจุเป็น "ข้าราชการ" หรือ "พนักงานราชการ" หลายโรงเรียนต้องใช้บริการ "ครูอัตราจ้าง" โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่หาครูผู้สอนยาก เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
ครูกลุ่มนี้ในทางราชการแทบไม่มีสถานะเป็นครู แต่มีสถานะเป็นเพียง "ผู้รับจ้างสอน" ในอัตราเงินเดือนค่อนข้างต่ำ และต้องต่อสัญญากันปีต่อปี ไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพและอนาคต ไม่มีสวัสดิการใดๆ นอกจากประกันสังคม หากพลั้งพลาดถูกยิง ถูกระเบิด ก็ไม่มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นพิเศษในฐานะ "ข้าราชการ"
ปัจจุบัน "ครูอัตราจ้าง" มีจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ชายแดนใต้ เกือบทั้งหมดเป็นการจ้างตามโครงการ SP2 หรือ โครงการเร่งรัดการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้อย่างบูรณาการเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (เงินกู้) เรียกสั้นๆ ว่า "ครู SP2" มี 2 โครงการหลัก คือ โครงการยกระดับคุณภาพครู และ โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา วิทย์ คณิต
รูปแบบการจ้างมีทั้งที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้จ้าง ใช้งบประมาณของเขต กับที่โรงเรียนจ้างเอง ใช้งบของโรงเรียน โดยในกลุ่มแรกถ้าทำงานครบ 3 ปี จะมีสิทธิ์สอบบรรจุเป็น "ครูผู้ช่วย" ใน สพท.นั้นได้ ส่วนกลุ่มที่ 2 ไม่มีสิทธิ์สอบบรรจุ แต่ทั้งสองกลุ่มหากยังไม่ได้ขยับสถานะ จะได้รับเฉพาะเงินเดือนอย่างเดียว ไม่มีสวัสดิการ และไม่มีการขึ้นเงินเดือน
นี่คือชะตากรรมของครูอัตราจ้าง ยิ่งสถานการณ์การเมืองไม่มีความแน่นอน อนาคตของพวกเขายิ่งแขวนบนเส้นด้าย เพราะหากเปลี่ยนรัฐบาล อาจไม่สานต่อนโยบายนี้ก็เป็นได้ มิพักต้องพูดถึงโอกาสหรือช่องทางในการขยับสถานะสู่ "ครูผู้ช่วย" หรือ "พนักงานราชการ"
นิวัฒน์ แมนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า วันครูปีนี้ ถ้าขอได้ก็อยากขอความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับครูทุกคนในพื้นที่ โดยเฉพาะครูอัตราจ้างตามโครงการว่าจ้าง และครู SP2
"ครูอัตราจ้างต้องกังวลทุกครั้งเมื่อการเมืองมีปัญหา เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ครูอัตราจ้างอาจตกงานได้ หรือโอกาสดีหน่อยเขาก็อาจต้องเปลี่ยนโรงเรียน และถึงตอนนั้นผลกระทบก็ต้องตกที่เด็ก เพราะไม่มีครู การเรียนการสอนขาดความต่อเนื่อง ทางโรงเรียนก็ต้องหาครูใหม่ เมื่อ สพท.ไม่มีงบจ้าง โรงเรียนก็ต้องจ้างเอง อาจจ้างครูคนเดิมหรือหาคนใหม่ก็ตามแต่โอกาสที่จะหางบได้ ต้องเข้าใจว่าโรงเรียนเล็กๆ จะไปเอางบจากที่ไหน แต่ก็ต้องทำเพราะโรงเรียนปล่อยไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเด็กจะไม่มีครู โดยเฉพาะครูวิทยาศาสตร์ กับคณิตศาสตร์ ใช่ว่าจะหาได้ง่าย ก็ต้องหางบกันเอาเองเท่าที่พอจะหาได้"
"นอกจากนั้นในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งยังไม่จบภาคการศึกษา ปัญหาเกิดมานานแล้ว เพราะเมื่อสิ้นปีงบประมาณของทุกๆ ปี การจัดจ้างครูก็จะสิ้นสุดลง แต่การเรียนการสอนยังต้องเดินหน้าต่อไป โครงการนี้จะมีต่ออีกหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ ครูจะสอนต่อไปก็กังวลว่าจะไม่มีงบจ้างเขา จะหยุดสอนก็กลัวว่าถ้ามีการจ้างต่ออาจจะเสียโอกาส พอเลือกมาสอนก็จะสอนอย่างไม่มีสมาธิ ผลกระทบก็จะเกิดที่เด็กอีก ปัญหาเป็นวัฏจักรแบบนี้ตลอด เพราะความมั่นคงของครูไม่มี"
นิวัฒน์ บอกว่า ถ้าหากจะให้การศึกษาในพื้นที่ไม่มีปัญหา ก็ต้องสร้างความมั่นคงให้กับครู ถ้ารัฐทำได้เชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กๆ จะดีกว่านี้ เพราะเด็กๆ ที่นี่เรียนหนักอยู่แล้ว เรียนทั้งสายสามัญที่โรงเรียน และเรียนศาสนาที่ตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาให้กับเด็กเล็กในชุมชนหรือมัสยิด) ในช่วงเย็นของทุกวันและเสาร์อาทิตย์เต็มวันด้วย
"เด็กในพื้นที่จะไม่ค่อยมีเวลาเรียนพิเศษในบางวิชาที่อ่อน และครูเองก็ไม่สามารถนัดเด็กมานอกเวลานอกจากคาบเรียนได้ เพราะเด็กมีเวลาเรียนแน่นแล้ว แต่เด็กกลับต้องมาเจอปัญหาครูอัตราจ้างที่อาจไม่สามารถสอนได้อย่างต่อเนื่องในบางวิชาอีก นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กในพื้นที่ค่อนข้างต่ำ" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกโพธิ์ กล่าว
น.ส.กุลวดี คงสมบูรณ์ ครูอัตราจ้างจากโครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา วิทย์ คณิต บอกว่า ทุกปีช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ ความรู้สึกของครูจะแย่ตลอด เพราะไม่สามารถรับประกันได้ว่าทางโรงเรียนหรือเขต (สพท.) จะจ้างต่อหรือไม่ แต่หน้าที่ในตอนนั้นทำให้ไม่อาจหยุดสอนได้
"ตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ เลยมา 3 เดือนแล้ว แต่เราหยุดสอนตามปีงบประมาณไม่ได้เพราะยังไม่สิ้นปีการศึกษา ยิ่งการเมืองกำลังวุ่นวายแบบนี้ ความต่อเนื่องของโครงการจะมีหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะมีการจ้างต่อ แต่เราก็หยุดไม่ได้ ต้องสอนต่อไป เพื่อให้เด็กปิดเทอมก่อน ตอนนี้คิดอย่างเดียวว่าเราจะมีอนาคตเป็นครูต่อไปหรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่เด็กๆ ต้องได้เรียนต่อไปจนกว่าจะปิดเทอม ไม่อยากให้ปัญหาของครูไปตกอยู่ที่เด็ก รู้สึกสงสารเด็กๆ ที่อาจต้องเปลี่ยนครู และทำให้การเรียนขาดตอน"
ขณะที่ ครูจุไรรัตน สุขปุนพันธ์ อดีตครูสอนภาษาไทยซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้ว สรุปสั้นๆ ง่ายๆ จากประสบการณ์ตลอดชีวิตการรับราชการครูว่า ถ้าครูมีความมั่นคงในชีวิต ครูอาจทำหน้าที่ครูได้ดีกว่านี้ เด็กๆ ในพื้นที่อาจเขียนชื่อตัวเองได้ อาจท่อง ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก จบ จึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการมอบความมั่นคงของครูทั้งเรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการเป็นของขวัญวันครูด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายข้อความแสดงความเสียใจเวลาที่ครูตกเป็นเป้าสังหาร ติดอยู่หน้าโรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่ช่วงต้นปี 2556 ที่มีการไล่ยิงครูหลายเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน