"สยามอินดิก้า"ตัวละครเอกระบายข้าว"จีทูจี"แจ้งรายได้ล่าสุดโกยหมื่นล้าน!
"สยามอินดิก้า"ตัวละครเอกระบายข้าว"จีทูจี"แจ้งรายได้ล่าสุดปี 55 โกยหมื่นล้าน! พุ่งทะยานจากปี 54 ที่มีแค่ 4.4 พันล. แถมเพิ่มทุนจดทะเบียนกลางปี 56 กว่าพันล้าน
ไม่ว่าผลการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะมีการสรุปผลออกมาอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ จะออกมาเป็นเช่นไร จะมีนักการเมือง ข้าราชการ และบริษัทเอกชนรายใดบ้าง ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนจะมีการเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อกล่าวหา และนำไปสู่ขั้นตอนการชี้มูลความผิดอย่างเป็นทางการต่อไป
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้ คือ ตัวเลขรายได้จากการดำเนินการธุรกิจในปี 2555 ของ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด หนึ่งในตัวละครสำคัญ การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ที่ได้รับมาจากโครงการรับจำนำข้าว ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ที่ถูกตรวจสอบพบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลจำนวนมาก ซึ่งบริษัทฯ แจ้งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
ระบุตัวเลขสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท!!
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลงบดุล บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับทราบ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา มีการระบุว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินค้า เป็นจำนวน 10,458,063,762.65 บาท มีรายได้อื่นอีกจำนวน 7,851,033.41 บาท
รวมรายได้ทั้งหมด 10,534,940,779.35 บาท (การระบายข้าวจีทูจีเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2555)
ส่วนรายจ่ายนั้น บริษัทฯ แจ้งว่ามีต้นทุนสินค้าที่ขาย 9,773,309,058.53 บาท มีค่าใช้จ่ายในการขาย 430,569,269.55 บาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหาร 107,310,643.64 บาท รวมรายจ่ายทั้งหมด 10,311,188,971.72 บาท ทำให้ตัวเลขกำไรสุทธิ อยู่ที่ 76,607,716.43 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 บริษัท สยามอินดิก้า ได้แจ้งเพิ่มทุนจดทะเบียนใหม่ เป็นจำนวนเงิน 1,008,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมที่มีอยู่ 856,000,000 บาท
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลผลการประกอบการทางธุรกิจ บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด พบว่า งบดุลปีล่าสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ระบุว่า มีรายได้จากการขายและบริการสุทธิ 4,408,552,336.04 บาท ลดลงจากรายได้ปี 2553 จำนวน 4,694,320,393.74 บาท และ รายได้ปี 2553 จำนวน 5,495,111,405.57
ขณะที่การดำเนินกิจการในช่วงปี 2554 บริษัทฯ มีต้นทุน 4,316,957,105.09 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 148,273,737.46 บาท ตัวเลขขาดทุนและดอกเบี้ยต่างๆทำให้ มีตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ -150,347,471.90 บาท
ทั้งนี้ สำหรับปัญหาความไม่ชอบมาพากล ในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ถูกเปิดประเด็นขึ้นมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงปลายปี 2555
หลังมีการตรวจสอบพบพิรุธในการขายข้าวจำนวน 7.32 ล้านตัน ให้กับบริษัทต่างประเทศในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี โดยบริษัทจากจีนชื่อ “GSSG IMP AND EXPORT CORP” อยู่ที่เมืองกวางเจา เข้ามาทำสัญญาค้าข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ 5 ล้านตัน
แต่ปรากฎว่าผู้ที่มีอำนาจของบริษัท คือ "นายรัฐนิธ โสติกุล" และมอบอำนาจให้นายนิมล รักดี ชาว อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เป็นผู้ดำเนินการแทน
จากการตรวจสอบพบว่านายรัฐนิธ มีชื่อเล่นว่า “ปาล์ม” อายุ 32 ปี เพิ่งผ่านการเรียนหลักสูตรวุฒิบัตรผู้ช่วยและผู้ปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภารุ่นที่ 6 รวมทั้งเป็นนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า และเป็นผู้ช่วยส.ส.ในลำดับที่ 3 ของนางรพิพรรณ พงษ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (ภรรยานายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง)
เมื่อตรวจสอบบัญชีธนาคารของนายรัฐนิธ พบว่า มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงแค่ 64.63 บาท ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับผู้มีอำนาจติดต่อซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทย
ส่วนนายนิมล รักดี ปรากฏข้อมูลว่า มีชื่อในวงการว่า "เสี่ยโจว" เป็นมือขวา“เสี่ยเปี๋ยง” หรือนายอภิชาติ จันทร์สกุลพรเจ้าของบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งผูกขาดการซื้อข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ นายนิมล เคยถูกป.ป.ช.ชี้มูลการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในนามบริษัทเพรสซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งการอ้างว่า ขายข้าวแบบจีทูจี ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการประมูลให้ได้ราคาพิเศษ ไม่มีการระบายข้าวจริง เป็นการตั้งบริษัทผีมารับข้าว เพื่อนำข้าวไปเร่ขายให้กับโรงสี อาจจะได้ส่วนต่างสูง ตันละ 3,000 บาท บางล๊อตสูงถึง 5,000 บาท
นายแพทย์วรงค์ ระบุว่า "ในการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ มีคนส่งข้อมูลเป็นบัญชีข้าวของรัฐบาลมาให้ดู เป็นบัญชีออมทรัพย์ของกรมการค้าต่างประเทศ เลข 385009504-5 ซึ่งข้อมูลช่วงวันที่ 28 กันยายน- 15 ตุลาคม ที่รัฐบาลคุยโวว่า จะมีการขายข้าวแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ พบว่ามีการถอนเงินจากธนาคารใหญ่ในหลายลักษณะ ทั้ง แคชเชียร์เช็ค การถอนเงิน หรือการโอนเงินจากธนาคารใหญ่"
“หากเป็นการค้าแบบจีทูจี จะต้องมีการเปิดแอล/ซี แต่ครั้งนี้กลับไม่พบว่ามีการเปิดแอล/ซี แสดงว่าไม่มีการค้าข้าวให้ต่างประเทศจริง แต่กลับมีเงินหมุนเวียนจากธนาคารใหญ่ เช่น มีการโอนเงิน รวม 72 รายการ จากธนาคารใหญ่ 4 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกร และธนาคารไทยพาณิชย์ รวมเป็นมูลค่า 4,960 ล้านบาท และมีการถอนเงินออกจากบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท”
เมื่อไม่มีการค้าข้าวแบบจีทูจีจริง แต่รัฐบาลกลับเปิดโอกาสให้บริษัทสยามอินดิก้า เอาข้าวของรัฐบาลไปเร่ขายให้กับโรงสี ในลักษณะของไปเงินมา มีการพบแคชเชียร์เชค ออกในนามของ นายสมคิด เรือนสุภา ที่ซื้อแคชเชียร์เชค จำนวนกว่า 500 ล้านบาท
และเมื่อตรวจสอบที่อยู่ของนายสมคิด ตามที่แจ้งที่อยู่เลขที่ 191 ซอยดำเนินกลาง เขตพระนคร พบว่า ไม่มีสภาพเป็นบ้านของพ่อค้าข้าวรายใหญ่ และจากการสอบถามประชาชนบ้านใกล้เคียงทราบว่า นายสมคิด ได้ย้ายไปอยู่บ้านของภรรยา ที่เขตบางแค
ตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงบ้านไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมคลอง เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า สมคิด เป็นคนของบริษัทสยามอินดิก้า
เพราะนายสมคิด ได้รับมอบอำนาจจากเสี่ยเปี่ยง ไปจดทะเบียนตั้งบริษัทสยามอินดิก้า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547
เมื่อตามไปตรวจสอบข้อมูลต่อ พบข้อมูลบัญชีธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 001-0-03796-9 โดยบัญชีดังกล่าวมีผู้มีอำนาจลงนาม จำนวน 5 คน อาทิ นิมล เรืองวัน กฤษณา
นอกจากนั้นยังมีชื่อของนางเรืองวัน เปิดบัญชีไว้กว่า 100 บัญชีและมีการตั้งกองทุนชื่อว่า KTAM เพื่อไว้ซุกเงิน ลักษณะที่ตรวจพบว่า เมื่อมีการโอนเงินมาช่วงเช้า แล้วช่วงบ่ายก็มีการถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมดในรูปแบบของเงินสด ตามที่ผมได้ข้อมูล คือ บัญชีนิมล พบว่ามีการโอนจากธนาคารกสิกร ไป ธนาคารกรุงไทย หลายรายการ ได้แก่ เมื่อวันที่ 27 กันยายน จำนวน 260 ล้านบาท วันที่ 28 กันยายน จำนวน 99 ล้านบาท วันที่ 3 ตุลาคม จำนวน 485 ล้านบาท วันที่ 5 ตุลาคม โอน 306 ล้านบาท และวันที่ 9 ตุลาคม โอน 405 ล้านบาท โดยการโอนเงินลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายการฟอกเงินและมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน
ขณะที่ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2556 ที่ผ่านมา มีการระบุถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริัษัท สยามอินดิก้า จำกัด ว่าเข้ามามีบทบาทเข้ามารับผิดชอบในการซื้อขายโครงการจำนำข้าว และอาจจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณีที่ทั้งสองคนปล่อยปะละเลยเรื่องนี้ โดยแยกสำนวนออกจากคดีทุจริตการจำนำข้าว เพราะเป็นข้อเท็จจริงคนละกรณีกัน
อ่านประกอบ:
เปิดไส้“สยามอินดิก้า” แบกหนี้ 3.3 พันล. - ก่อนเล่นกับ “ไฟ” (อีกครั้ง) ระบายข้าว จีทูจี
เปิดสัมพันธ์ลึก “สยามอินดิก้า-เพรซิเดนท์ ฯ ” เมีย นพ. หุ้นใหญ่ ก่อนคว้าข้าวรัฐฯ 3 แสนตัน
รวมมิตร "หลักฐาน"เชิงประจักษ์ "มัด"ระบายข้าวรับจำนำรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"