เลือกตั้งชายแดนใต้ในหมอกควัน "แยกดินแดน"
ช่วงนี้มีหลายคนถามผมว่า วันเลือกตั้ง 3 กรกฎาฯ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ ผมก็ตอบไปแบบกำปั้นทุบดินว่า จะไปรู้ได้อย่างไร (ล่ะครับ) ผมไม่ใช่แนวร่วมก่อความไม่สงบเสียหน่อย
แต่จะว่าไปหากย้อนดูวันเลือกตั้งทั่วไปนับตั้งแต่หลังปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ซึ่งมีการเลือกตั้งใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง คือวันที่ 6 ก.พ.2548 วันที่ 2 เม.ย.2549 (ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นโมฆะ) และวันที่ 23 ธ.ค.2550 จะพบว่าการเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้ง ในวันเลือกตั้งมักไม่ค่อยมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
พอย้อนสถิติให้ดูแบบนี้ ก็จะมีคนถามต่อด้วยความสงสัยว่า อ้าว! แล้วพวกขบวนการก่อความไม่สงบที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ทำไมถึงยอมสงบศึกชั่วคราวช่วงเลือกตั้งหรือในวันเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ในความเข้าใจของคนทั่วไป คนกลุ่มนี้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนน่าจะต้องมุ่งล้มการเลือกตั้ง หรือไม่ก็ต้องสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน ไม่ยอมรับ เพราะการเลือกตั้งถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการสถาปนาอำนาจการบริหารการปกครองของรัฐไทย
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เหตุรุนแรงกลับเกิดน้อยกว่าเวลาที่นายกรัฐมนตรีเดินทางลงไปปฏิบัติราชการในพื้นที่เสียอีก!!
ผมฟังคำถามและข้อสังเกตเหล่านี้แล้วก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากังขาอยู่เหมือนกัน ข้อสงสัยนี้พอจะมีคำอธิบายได้ 3 ทฤษฎี...
หนึ่ง อาจเป็นเพราะวันเลือกตั้งมีการระดมสรรพกำลังของตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และกองกำลังประชาชนมาช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นจำนวนมาก ตำรวจจำนวนหนึ่งก็ต้องไปประจำอยู่ทุกๆ หน่วยเลือกตั้ง ประกอบกับในวันเลือกตั้งโดยปกติย่อมมีประชาชนเดินทางออกนอกบ้านเพื่อไปหย่อนบัตรลงคะแนน จึงทำให้ตามถนนหนทางขวักไขว่ ไม่ว่างเปลี่ยวเปิดโอกาสให้กลุ่มคนร้ายก่อเหตุได้ง่ายเหมือนวันปกติ
สอง น่าจะเป็นเพราะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่แยกกันไม่ขาดกับกลุ่มการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ (เพราะนักการเมืองท้องถิ่นก็เป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองระดับชาติอีกที) จะเรียกว่ามีความเชื่อมโยงกันในทางใดทางหนึ่งก็ได้ เช่น อาจจะรู้ๆ กันอยู่ว่าใครเป็นแกนนำเคลื่อนไหวในพื้นที่บ้าง เมื่อรู้ก็เลยขอกันว่าอย่าเพิ่งทำอะไรช่วงนี้นะ เดี๋ยวกระทบกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง...อย่างนี้ก็น่าจะเป็นได้
ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายได้กับกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายที่เกี่ยวพันกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบตามที่หน่วยงานด้านความมั่นคงออกมาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ด้วย เพราะบรรดากลุ่มก๊วนอิทธิพลเถื่อนก็มักจะมีเส้นสายเชื่อมไปถึงกลุ่มการเมืองทั้งในและนอกพื้นที่เช่นเดียวกัน ช่วงใกล้ๆ วันเลือกตั้งจึงอาจมีการ "สั่ง" หรือ "ขอ" หรือ “ส่งสัญญาณ” กันว่าอย่าเพิ่งก่อเหตุ เดี๋ยวประชาชนไม่กล้าออกไปใช้สิทธิ์ แต่ถ้าเป็นการก่อเหตุประเภทดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม...แบบนี้ทำได้เต็มที่!
สาม หากขบวนการก่อความไม่สงบไม่มีข้อต่อเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองเลยจริงๆ สวนทางกับทฤษฎีที่สอง ก็น่าเชื่อว่าต้องมีการ "เจรจาทางลับ" หรือ "เจรจานอกรูปแบบ" เกิดขึ้นในพื้นที่ ระหว่างแกนนำขบวนการบางคน บางกลุ่ม กับกลุ่มการเมืองบางคน บางกลุ่ม เมื่อถึงช่วงใกล้ๆ เลือกตั้ง ทางฝั่งขบวนการจึงหยุดเคลื่อนไหวเพื่อรอดูผลก่อนว่าพรรคไหนจะชนะ นายกฯใหม่เป็นใคร ซึ่งย่อมส่งผลถึงประเด็นเจรจาที่ได้ "ต่อรอง" กันเอาไว้ก่อนหน้านี้
ทฤษฎีที่ "สอง" กับ "สาม" นับว่าน่าสนใจ เพราะหากเป็นจริงก็เท่ากับว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ยืนอยู่บน "ฐาน" เดี่ยวๆ ของกลุ่มขบวนการที่ต้องการปฏิวัติโค่นล้มรัฐไทยเพื่อแยกดินแดนประกาศเอกราชตั้งรัฐใหม่ด้วยการใช้วิธีรุนแรงหรือ "สงคราม" เท่านั้น แต่ยังอาจยืนอยู่บนฐานการเมือง การเจรจาทางลับ (ที่น่าจะมีอยู่ตลอดเวลา) รวมถึงฐานผลประโยชน์ผิดกฎหมาย และบางส่วนอาจเป็นผลประโยชน์จากงบประมาณของรัฐเองด้วย
ในบางมิติ บางเหตุการณ์ของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บอกตรงๆ ในความรู้สึกของผมยังคิดว่าเป็น "ปาหี่" เสียด้วยซ้ำ
เป็นปาหี่เพื่อผลประโยชน์บนความสูญเสียของคนบริสุทธิ์ โดยมีวาทกรรม "แยกดินแดน" เป็นตัวปั้นแต่งเติมสีให้ดูน่าสะพรึงกลัว!