แอมเนสตี้ เรียกร้อง รบ.ไทยระวังการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม
แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยระมัดระวังการใช้กำลังกับผู้ชุมนุมประท้วงและคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะระหว่างการประท้วงปิดกรุงเทพ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 เรียกร้องรัฐบาลไทยต้องเคารพและให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ชุมนุมในการชุมนุมอย่างสงบ และความปลอดภัยของสาธารณะ รวมถึงเคาพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และคุ้มครองการปฏิบัติของสื่อมวลชนไม่ให้ถูกคุกคาม อีกทั้งยังเรียกร้องไปยังแกนนำผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเตือนผู้ชุมนุมไม่ให้กระทำการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
จากการที่ผู้ชุมนุมได้ประกาศแผนการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เพื่อปิดสถานที่ราชการจนกว่ารัฐบาลรักษาการจะยอมลงจากตำแหน่ง ทางการได้เตรียมกำลังทหารและตำรวจประมาณ 15,000 นายไว้ที่เมืองหลวง
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวสถานการณ์ในไทยมีความตึงเครียด อ่อนไหว และยากต่อการคาดเดา มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บหากไม่มีการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด
"กำลังของเจ้าหน้าที่ควรปฏิบัติงานเพื่อประกันการใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ พวกเขาควรใช้มาตรการที่ไม่รุนแรงในเบื้องต้น ก่อนจะใช้กำลัง และต้องมีการใช้อย่างระมัดระวังตลอดเวลา ทางการยังต้องคุ้มครองให้มีการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นอย่างสงบ รวมทั้งการคุ้มครองสื่อมวลชนไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม"
การชุมนุมประท้วงเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในไทย ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับรองร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่อื้อฉาวในเดือนพฤศจิกายน 2556 แต่ต่อมามีการถอนร่างดังกล่าวออกไป ฝ่ายต่อต้านได้ประกาศคว่ำบาตรการจัดเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ภายหลังการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มีรายงานข่าวผู้เสียชีวิตอย่างน้อยแปดคน และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคนในระหว่างการชุมนุมประท้วงที่เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยในเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม มีรายงานข่าวผู้ได้รับบาดเจ็บสี่คนจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลที่ปทุมธานี ตอนเหนือของกรุงเทพฯ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเต็มที่ รอบด้านและเป็นอิสระต่อเหตุการณ์ที่นำไปสู่การบาดเจ็บและการเสียชีวิตเหล่านี้ หากมีพยานหลักฐานมากเพียงพอและรับฟังได้ ต้องมีการสั่งฟ้องดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาทุกคน
"ทางการจำเป็นต้องประกันให้มีการเยียวยาต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเหล่านี้ และต้องมีความรับผิดต่อการละเมิดใด ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุให้มีการสูญเสียชีวิตหรือทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง" อาร์ราดอนกล่าว