“5 ระบบหลัก” สู่จุดเปลี่ยนการพัฒนาปฐมวัย คุณภาพที่สร้างได้
“ถ้าเด็กเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพ ย่อมส่งผลถึงศักยภาพและความสามารถในการพัฒนาประเทศและอนาคตของชาติในที่สุด ดังนั้นแนวทางการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เข้มแข็ง โดยใช้กระบวนการพัฒนาสู่ความเลิศทั้ง 5 ระบบ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัยและ ศพด. ได้”
ถึงเวลายกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) แบบก้าวกระโดดด้วย “5 ระบบหลัก” กระบวนการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ เพื่อให้ผู้บริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญจำเป็นที่ ศพด.ต้องได้รับการพัฒนาใน 5 ระบบ คือ 1. ระบบบริหารจัดการ 2. ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม 3. ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4. ระบบการดูแลสุขภาพ และ 5. ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
จุดเริ่มต้นของการทำงาน เกิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาที่ไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ จึงเกิดการรวมพลังความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินงานภายใต้ชื่อ COACT : Capacity Of A Community Treasures ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
ผศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผู้จัดการโครงการ เล่าถึงความเป็นมาจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยมีพัฒนาการที่ล่าช้าหลายด้าน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของคนในชาติและศักยภาพการแข่งขันของประเทศในอนาคตเป็นอย่างมาก จากการสรุปบทเรียนการทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล หน่วยงานต่างๆ และคนในชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาเป็นฐานความรู้เชิงวิชาการในการสนับสนุนให้การออกแบบการทำงานในพื้นที่ประสบความสำเร็จและครอบคลุม
ดร.จุฑามาศ บอกอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่เด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าหลายด้าน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก การประสานงานกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในการส่งต่อข้อมูลสำคัญของเด็กจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นยังแยกส่วนกัน เช่น พัฒนาการเด็ก จากการคัดกรอง ประเมิน ฟื้นฟู และส่งเสริม เพื่อสามารถออกแบบการดูแลและพัฒนาเด็กรายบุคคลที่เหมาะสมตามวัย เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูนับเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาและดูแลอย่างเร่งด่วนด้วย
“ถ้าเด็กเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพ ย่อมส่งผลถึงศักยภาพและความสามารถในการพัฒนาประเทศและอนาคตของชาติในที่สุด ดังนั้นแนวทางการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เข้มแข็ง โดยใช้กระบวนการพัฒนาสู่ความเลิศทั้ง 5 ระบบ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัยและ ศพด. ได้”
ผู้จัดการโครงการ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลจากการดำเนินงานมากว่า 1 ปี กับ ศพด. 19 แห่งทั่วประเทศ เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนถึง 5 ระบบ ส่วนด้านการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์เรียนรู้นั้นยังต้องพัฒนาลึกถึงรายละเอียด โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกันระหว่างพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก การจัดการเรียนรู้ และบริบทของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ได้แก่ ทต.นาแก้ว จ.ลำปาง ที่มีความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการ
โดยนางทองทิพย์ ปัญญาจันทร์ ปลัดเทศบาลตำบลนาแก้ว จ.ลำปาง เผยว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของ ศพด.ทต.นาแก้ว ด้วยการสนับสนุนของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรครูพี่เลี้ยงเด็กที่พร้อมพัฒนาภายใต้เงื่อนไข คือ 1. ต้องทำตามหน้าที่ของครูพี่เลี้ยง 2. ต้องเสียสละเวลาทำงานนอกเวลาราชการ อาจกล่าวได้ว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นตัวอย่างหนึ่งของการลงทุนที่หวังผลความคุ้มค่าในระยะยาว เป็นผลที่เกิดกับอนาคตของเด็กที่จะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ ศพด.ทต.นาแก้ว สร้างจุดแข็งด้วยการทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อรวม 7 ศพด. เป็นหนึ่ง ปัจจุบันมีเด็กในความดูแลกว่า 150 คน ครู 14 คน ทำให้เกิดความพร้อมในการบริหารจัดการ เพื่อเป้าหมายเดียวกันที่จะสร้างให้เด็กของเรามีคุณภาพ พร้อมส่งต่อสู่ระดับประถมศึกษา
“เรามีทีมวิชาการติดตามเด็กที่เราส่งต่อไปว่า เด็กเป็นอย่างไร หากพบจุดอ่อนก็มาปรับปรุงแก้ไข เรามีการประชุมการทำงานทุกสัปดาห์ และสิ่งสำคัญต้องให้ใจในการทำงานกับครูพี่เลี้ยงเด็ก ด้วยหน้าที่หลักของเราก็พร้อมที่จะทำเพื่อการพัฒนาเด็ก ไม่ต้องพูดคำว่าเหนื่อย มีผู้ใหญ่ในระดับอำเภอถามว่าทำไม ศพด.ทต.นาแก้วมีความโดดเด่นด้านการศึกษา โดยเฉพาะองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มีมากกว่าพื้นที่ใกล้เคียงนั้น เนื่องมาจากการนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้เครือข่ายในพื้นที่ ทำให้ได้เครือข่ายการทำงานเพิ่ม”
นางทองทิพ บอกด้วยว่า จะเร่งพัฒนาศพด.ทต.นาแก้ว เพื่อเป็นหน่วยให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเริ่มจากเราต้องทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเราพร้อมทั้ง 5 ระบบให้ได้
สำหรับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้น พันจ่าโทประทิน นาคมี ปลัด อบต.ดงใหญ่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม อธิบายว่า ศพด.ดงใหญ่ เห็นผลของการทำงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจากเดิมที่เจอปัญหาด้านสถานที่ที่คับแคบ เนื่องจาก ศูนย์ฯ เคยตั้งอยู่ในวัด แต่ถือเป็นความโชคดีที่ นายก อบต.ดงใหญ่ เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงได้นำงบประมาณจาก อบต. มาปรับปรุง ก่อสร้างอาคารและสนามเด็กเล่น ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของร้านค้าชุมชน โดยมีการจัดบริเวณรั้วรอบขอบชิดเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดกับเด็ก และผู้ปกครองได้นำลูกหลานเข้ามาเรียนที่ ศพด. จากเดิม 40 คน ปัจจุบันเกือบเต็มจำนวนเด็กที่มีอยู่ในตำบลคือ 80 คน นอกจากนี้ อบต. มีการจัดรถรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ปกครองและเด็กด้วย
ปลัดอบต.ดงใหญ่ บอกอีกว่า ในส่วนอาคารได้มีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ สนามเด็กเล่นมีการดูแล ซ่อมแซม ปรับปรุงตลอดเวลา สิ่งแวดล้อมภายในอาคารได้ทำให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้องครัว อ่างล้างมือ ห้องน้ำ ห้องส้วม มีการจัดเป็นสัดส่วน วัสดุอุปกรณ์ได้มาตรฐานเหมาะสมกับวัยและถูกสุขลักษณะ มีการจัดสถานที่ที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ และเอื้อต่อการมีสุขอนามัยที่ดี ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นายก อบต.ดงใหญ่ ไฟเขียวทุกด้าน เนื่องจากมองเห็นความสำคัญและต้องการให้เด็กในบ้านของเรามีพัฒนาการที่ดีเหมาะสมกับวัย
ในเรื่องของระบบการดูแลสุขภาพเด็ก นายอนันท์ ทองแก้ว รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา จ.สงขลา เล่าว่า ศพด.ชุมชนบ่อนวัวเก่า มีการจัดการดูแลสุขภาพเด็กอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อให้เด็กของเรามีสุขภาพดี และทางศูนย์ฯ ก็ ได้มีการจัดทำระบบป้องกันโรคติดต่อ รวมทั้งระบบการส่งต่อและติดตามเด็กอีกด้วย ซึ่งผลจากการดำเนินงานพบว่า เด็กรู้จักล้างมือป้องกันเชื้อโรค สุขภาพอนามัยดีขึ้น ผู้ปกครองก็ภูมิใจขอบคุณโครงการที่ยกให้เป็นศูนย์ตัวอย่าง ให้งบประมาณ มีการปฐมนิเทศจากอาจารย์ เพื่อมาดูแลแนะนำเรื่องสุขภาพ สุขอนามัย เรื่องความปลอดภัยของเด็ก
นายอนันท์ บอกว่า จากการเข้ามาบริหารงานดูแลศูนย์พัฒนาเล็กเล็ก ก็เห็นการพัฒนาเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ซึ่งมีการจัดสถานที่ดูแลเรื่องโรคติดต่อ เรื่องล้างมือ ทำให้การพัฒนาดีขึ้นเป็นที่ยอมรับ ส่วนเรื่องการดูแลอุปกรณ์เด็กเล่นก็ให้ครูตรวจสอบหากหมดอายุก็เปลี่ยน มีเชื้อราก็เปลี่ยน ให้เด็กล้างมือก่อนกินข้าว เป็นหวัดก็ให้ผู้ปกครองพากลับบ้านและแนะนำให้ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของเด็ก เรื่องการสนับสนุน ส่งเสริมเพื่อเด็กสุขภาพดี มีความแตกต่างจากเดิมมาก เห็นได้ชัดเจนในเรื่องความสะอาด ห้องเรียน ห้องครัวแยกเป็นสัดส่วน ได้ประโยชน์กับเด็กมากเกิดการพัฒนาเพราะมีคนมาประเมินและให้คำแนะนำ
ด้านนายอธิษฐ์ วิสุทธิ รองนายกเทศมนตรีตำบลพลับพลา จ.จันทบุรี กล่าวว่า ศพด.วัดพลับพลา มีเด็กถึง 400 คน ครูพี่เลี้ยง 23 คน ได้รับการถ่ายโอนมาในปี 2546 เห็นว่าการเข้าร่วมกับโครงการฯ เป็นการมาถูกทาง เพราะเกิดการพัฒนา ศพด. ที่เป็นระบบ รูปธรรม ครูมีความตื่นตัวมากขึ้น ในฐานะผู้บริหารก็ช่วยกระตุ้น สนับสนุน และร่วมพัฒนาไปด้วยกัน และที่เด่นชัดมากขึ้นคือ ด้านการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน เกิดคณะทำงานที่เป็นรูปธรรม และมีความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาให้ครอบคลุม ทั้ง 5 ระบบ ซึ่งปัญหาของการทำงานช่วงแรก มี่ครูมองว่าเป็นการเพิ่มงาน เป็นภาระ แต่เมื่อได้มามีส่วนร่วม ได้รับการอบรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครูก็เริ่มเปิดใจ และทำให้ครูพี่เลี้ยงเห็นถึงความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองด้วย ยุทธศาสตร์สำคัญสู่ความความสำเร็จคือการดึงชุมชน ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมคือหัวใจสำคัญที่จะทำงานเพื่อเด็กใน ศพด.
“ตอนนี้เราไม่ใช่ที่ฝากเด็ก เพราะเราพยายามดึงชุมชน ผู้ปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน เข้ามาร่วมอย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น มีสมาคมผู้ปกครอง ทุกครั้งที่มีกิจกรรมก็เชิญผู้ปกครองเข้ามาร่วม บอกให้ทราบถึงแผนงาน การเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ ในรูปแบบต่าง ๆ ว่า เราได้พัฒนาลูกของท่านไปอย่างไร เราไม่ใช่แค่แหล่งเล่าเรียน และไม่ใช่ที่รับฝากเด็กแต่เราเป็นที่เรียนรู้”
นายอธิษฐ์ เล่าด้วยว่า ครูพี่เลี้ยงของเราเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ครูรับจ้างเลี้ยงเด็ก เพราะความมุ่งมั่นของทุกคนที่จะทำ ศพด. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และที่สำคัญการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นใน ศพด. จะต้องถูกสานต่อ ส่งต่อไปถึงผู้ปกครองให้มีบทบาทมากขึ้น เราจึงเน้นผู้ปกครองด้วย เราไม่ได้สอนเฉพาะเด็กแต่ให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้ปกครอง ส่วนเด็กเป็นผู้เรียนรู้ บางครั้งเด็กเรียนรู้ที่ดีใน ร.ร.แล้ว แต่เมื่อกลับบ้านไปผู้ปกครองสอนอีกแบบ ดังนั้นจำเป็นมากที่ ต้องสอนผู้ปกครองด้วย
“การดึงชุมชน ผู้ปกครองเข้ามาร่วมจึงเป็นหัวใจสำคัญ การสอนให้เด็กรู้จักให้เหตุผลกับพ่อ แม่มากขึ้น เด็กไม่ได้เถียงแต่เขามีเหตุผลในแบบของเขา ไม่ได้ก้าวร้าว สำคัญผู้ปกครองต้องสานต่อเพื่อพัฒนาการที่ดีและต่อเนื่องของเด็ก ผมคาดหวังเพียงแค่โอกาสที่เข้ามาพัฒนา ศพด. ให้โตวันโตคืน เป็นหนึ่งในการจัดการศึกษาที่เป็นตัวแบบที่ดี เรามีพลังที่พร้อมจะพัฒนาทำทุกสิ่งเพื่อทุกคน ไม่ได้เอากลับบ้าน และสิ่งที่จะพัฒนาต่อเนื่องขึ้นไปคือการเรียนรู้ของเด็กที่เหมาะสมกับบริบท”
ปฐมวัย คุณภาพที่สร้างได้ และต้องเร่งสร้าง เพราะเปรียบเสมือนคทาไม้แรก เพื่อการส่งต่อก้าวต่อๆ ไป สู่เป้าหมายความสำเร็จ ของขวัญล้ำค่าเพื่อเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ