10 ปีปล้นปืน 10 ปีไฟใต้...ตามไปดูชุมชนรอบค่ายปิเหล็ง
ผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนล็อตใหญ่ 413 กระบอก เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หรือที่ทหารและชาวบ้านเรียนกันติดปากว่า "ค่ายปิเหล็ง" นั้น ยังคงเป็นปริศนา
หลายเรื่องกลายเป็นความลับมืดดำมานานหลายปี โดยเฉพาะจำนวนอาวุธปืนที่ถูกปล้นไป มีเพียงข่าวว่าปล้นไปจำนวนมาก กว่าร้อยกระบอกบ้าง หลายร้อยกระบอกบ้าง กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ "ศูนย์ข่าวอิศรา" นำสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มาตีแผ่ว่าอาวุธปืนหายไปทั้งสิ้นถึง 413 กระบอก!
แต่นั่นก็เลยกลายเป็นข้อสงสัยต่อไปว่า ปืนทั้งหมดนั้นหายไปเพราะถูกปล้น หรือหายไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะข่าวคราวหน่วยทหารหลายหน่วยในประเทศนี้ถูกลักลอบนำอาวุธในค่ายไปขายใน "ตลาดมืด" โดยฝีมือของกำลังพล "นอกแถว" ก็เคยปรากฏอยู่บ่อยครั้ง
หลายคนตั้งข้อสังเกตหากอาวุธปืนถูกปล้นไปถึง 413 กระบอกในคราวเดียวจริง และมีทหารที่รักษาการอยู่ในค่ายต้องสังเวยชีวิตถึง 4 นาย การปล้นต้องใช้กำลังคนเท่าไหร่ ใช้ยานพาหนะอะไรมาขนอาวุธปืนไป ขนแล้วเอาไปซ่อนไว้ที่ไหน กลายเป็นมหกรรมปล้นปืนครั้งมโหฬารที่น่าแปลกใจไม่น้อยว่าเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวไม่ได้ระแคะระคายมาก่อนเลยหรือ
ยิ่งไปกว่านั้น ระยะเวลาที่ผ่านมานานถึง 10 ปี ฝ่ายความมั่นคงกลับตามปืนคืนมาได้เพียง 92 กระบอก หรือไม่ถึง 1 ใน 4 ที่อ้างว่าถูกปล้นไป ทำให้คนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์คิดไปได้หลายทาง
ขณะที่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งว่าด้วยการสอบสวนว่าค่ายทหารถูกปล้นได้อย่างไร และใครต้องรับผิดชอบ ก็ดูจะกลายเป็น "ความลับทางราชการ" ที่ปลิวหายไปกับสายลม มีเพียงข่าวกระเซ็นกระสายว่าผู้พันที่รับผิดชอบค่ายในวันปล้นปืน ปัจจุบันก็ยังอยู่ในราชการด้วยซ้ำ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามใหม่...
ส่วนเรื่องที่แทบไม่มีใครสนใจเลยยิ่งกว่า ก็คือชุมชนชาวบ้านรอบๆ ค่ายเขาอยู่กันอย่างไร วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เพราะผู้คนทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย จดจำได้ว่า "ค่ายปิเหล็ง" ซึ่งเรียกตามชื่อหมู่บ้าน "ปิเหล็งใต้" อันเป็นสถานที่ตั้งของค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 นั้น เป็นสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ และเป็นสัญลักษณ์ของเหตุรุนแรงอันเป็นจุดเริ่มต้นของ "ศักราชใหม่ไฟใต้" ที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
ปล้นปืนทำปิเหล็งดุ
"รู้สึกแย่ตอนที่เวลาไปไหนมาไหนแล้วคนนอกพื้นที่มักมองว่าที่ปิเหล็งดุ เป็นพื้นที่น่ากลัว แต่จะมีใครรู้บ้างว่าคนปิเหล็งอยู่ด้วยกันได้ สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ คนปิเหล็งเป็นมิตรกับทุกคน"
เป็นเสียงของ อำนวย หน่อโท๊ะ วัย 39 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิงแห่งตาโง๊ะ หมู่ 2 ต.มะรือโบออก หนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ ค่ายปิเหล็ง
นางเล่าประสบการณ์การถูกมองในแง่ลบอย่างออกรส...
"ฉันเคยไปโรงพยาบาลในเมืองนราธิวาส แรกๆ เขาจะพูดดี แต่พอรู้ว่าเรามาจากปิเหล็ง ความรู้สึกที่ดีๆ ตอนแรกเริ่มหายไป แล้วก็บอกว่าปิเหล็งน่ากลัว อย่างคนข้างนอกพื้นที่ก็เหมือนกัน เวลาพูดถึงเจาะไอร้อง ทุกคนมักมองมาที่ปิเหล็ง เพราะต้นเหตุที่ไฟใต้ปะทุเกิดจากที่นี่ ทั้งที่เหตุการณ์ในพื้นที่นี้เกิดขึ้นแค่ครั้งนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกเลย แต่คนยังมองว่าที่นี่น่ากลัว ก็รู้สึกเครียดทุกครั้งเวลาต้องออกไปข้างนอกและได้ยินคนพูดถึงหมู่บ้านของเราในมุมนี้" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิง กล่าว
จากการย้อนตรวจสอบสถิติเหตุรุนแรงที่ปิเหล็ง พบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่นับเหตุการณ์ปล้นปืน เคยเกิดสถานการณ์ที่เข้าข่ายความไม่สงบเพียง 2 ครั้ง และทั้ง 2 ครั้งก็เป็นลักษณะก่อกวน แม้หนึ่งในนั้นจะเป็นเหตุระเบิด แต่ก็ไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย ขณะที่มีคนจากปิเหล็งเคยไปโดนสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บจากนอกพื้นที่ในลักษณะถูกลูกหลง
เรียกว่าถ้าวัดปรอทความรุนแรงที่ปิเหล็ง อัตราความร้อนแรงของสถานการณ์ดูจะต่ำกว่าหลายๆ พื้นที่ที่ทางราชการเตรียมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสียอีก
วิถีที่เปลี่ยนไป
ตำบลมะรือโบออก ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน เป็นชุมชนผสมระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม แม้จะไม่ถึงกับครึ่งต่อครึ่ง แต่ก็ทำให้แลเห็นความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในตำบลได้อย่างชัดเจน และเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของพื้นที่ที่ถูกเลือกสำหรับตั้งค่ายทหาร
อิบรอเฮม มามุ ผู้ใหญ่บ้านตาโง๊ะวัย 49 ปี บอกว่า บ้านตาโง๊ะตั้งอยู่ด้านหลังของค่ายปิเหล็ง อยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 2 ของ ต.มะรือโบออก ส่วนด้านหน้าและด้านข้างของค่าย ด้านซ้ายติดกับบ้านปิเหล็งใต้ หมู่ 7 ขณะที่ด้านขวาคือบ้านกูแบปูยู หมู่ 8
"ที่ตาโง๊ะมีประชากร 880 คน มีพี่น้องไทยพุทธ 76 คน ชาวบ้านตาโง๊ะมีอาชีพหลัก 90 เปอร์เซ็นต์คือทำสวนยางพารา และมีอาชีพเสริม ค้าขาย และทำสวนผลไม้"
เมื่อถามถึงเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 10 ปีก่อน ผู้ใหญ่ฯอิบรอเฮม บอกว่า ทุกคนจำได้ดี เพราะเป็นความรู้สึกที่ทุกคนงงมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น กว่าจะหายงงก็ผ่านมา 10 ปีแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม
"หลังเกิดเหตุการณ์ตอนแรกๆ ชาวบ้านตกใจกลัวกันมาก ต้องเปลี่ยนเวลาออกไปกรีดยาง ไปกันตอนสว่างแล้ว ทำให้ได้น้ำยางน้อย แต่ตอนนี้เที่ยงคืนหรือสี่ทุ่มชาวบ้านก็ออกไปกรีดยางกันตามปกติ ทุกอย่างกลับเข้าสู่วงจรเดิม"
จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านตาโง๊ะ เหตุการณ์ปล้นปืนได้ทำให้หน่วยงานภาครัฐหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับพื้นที่ปิเหล็งและ ต.มะรือโบออก โครงการพัฒนาต่างๆ เช่น โครงการพนม. (โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับหมู่บ้าน) มุ่งตรงสู่พื้นที่นี้ในลักษณะ "พื้นที่นำร่องพิเศษ" ทำให้เม็ดเงินงบประมาณไหลลงสู่พื้นที่ไม่น้อย ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
"ผมเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐให้โอกาสกับคนในพื้นที่มากขึ้น สามารถกู้เงินได้มากขึ้น ทำให้คนบ้านตาโง๊ะได้เข้าถึงสิทธิ์และโอกาส สามารถพัฒนาพื้นที่จากเงินที่กู้มา ส่วนใหญ่เอาไปทำสวนยาง ส่วนที่ดินที่เคยเป็นป่าพรุกว่า 600 ไร่ ชาวบ้านก็ช่วยกันพัฒนาให้เป็นสวนยางส่วนกลาง นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐยังเอาแพะ วัว ไก่ เป็ด ปลามาให้ จนตอนนี้สามารถยกระดับครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทุกบ้าน"
"ทุกวันนี้ในหมู่บ้านของเรา จากที่เคยมีรถยนต์แค่ 10 คัน ปัจจุบันมีมากกว่าร้อยคัน บางบ้านมีถึง 2 คัน ส่วนรถจักรยานยนต์ไม่ต้องพูดถึง พ่อแม่สามารถซื้อให้ลูกได้ทุกคน"
สัมพันธ์ยังคงเดิม
ความสมัครสมานของผู้คนต่างศาสนาที่อาศัยอยู่ร่วมกันที่ปิเหล็ง แม้จะเกิดเหตุการณ์อันน่าสะพรึงเมื่อ 10 ปีก่อน สะท้อนผ่านการมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิงไทยพุทธอย่าง "อำนวย"
นางบอกว่า มีหน้าที่ดูแลพี่น้องไทยพุทธทั้ง 76 คนในหมู่บ้านอย่างใกล้ชิด ทุกคนไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวหรือระแวงคนในพื้นที่เลย เพราะทุกครัวเรือนอยู่ร่วมกันจนเข้าใจกัน อดีตเคยอยู่อย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม
"ทุกวันนี้ก็อยู่แบบนั้น เหตุการณ์ปล้นปืนไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของเราเปลี่ยนไป จากที่เคยไปมาหาสู่กันก็ยังไปอยู่ วันไหนทางเรามีงานบุญ พอคนอิสลามรู้เขาก็จะเอาข้าวสาร เอาของมาช่วยเรา พอถึงช่วงที่พี่น้องอิสลามทำบุญ เราก็จะไปร่วม เอาของไปช่วย ตื่นเช้าก็ยังไปกินข้าวที่ร้านคนอิสลาม ยังไปนั่งพูดคุยกัน ช่วงไหนฉลองที่บ้านอิสลามเราจะร่วมดื่มน้ำชากัน ช่วงไหนฉลองที่บ้านพวกเรา พี่น้องอิสลามก็จะมาร่วมนั่งวงเหล้า แต่กินโค้ก พวกเราก็ดื่มเหล้าไป"
"สำหรับเรื่องการเดินทาง แม้เราจะห่างกันบ้างช่วงที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เพราะเส้นทางเป็นป่าและเปลี่ยว แต่เราก็ไม่ได้ระแวงพี่น้องมุสลิมเลย เหตุการณ์ปล้นปืนที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เราหวาดระแวงกัน เพราะเรารู้ดีว่าไม่ใช่การกระทำของคนปิเหล็ง"
อำนวย สะท้อนความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ตลอด 10 ปีแบบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เศรษฐกิจดีขึ้น ชาวบ้านได้รับโอกาสมากกว่าในอดีต แม้ปีนี้ราคายางจะตกต่ำถึงกิโลกรัมละ 30 กว่าบาทก็ตาม แต่โดยรวมแล้ว 10 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน ชาวบ้านที่นี่ได้รับโอกาสมากขึ้นจริงๆ
กองพัน (ไม่) พัฒนา
สิ่งที่คาใจชาวบ้านอย่างมากดูจะกลายเป็นพื้นที่รอบๆ ค่ายทหารซึ่งยังคงเป็นป่ารกที่ไร้การพัฒนา...
"รอบๆ ค่ายไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย จากที่เคยเป็นป่ารกอย่างไร เดี๋ยวนี้ผ่านมาถึง 10 ปีแล้วก็ยังรกเหมือนเดิม ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการปรับภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิง กล่าวแบบตรงไปตรงมา
"ถ้าค่ายปิเหล็งปรับภูมิทัศน์ พวกเราชาวบ้านก็จะพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะเส้นทางรอบๆ ค่ายเป็นเส้นทางสายหลัก ชาวบ้านทุกคนต้องผ่านกันทั้งนั้น ถ้ามีการปรับบ้างน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ หรือเขาตั้งใจจะให้รกแบบนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน"
จากการขับรถสำรวจเส้นทางรอบๆ ค่าย พบว่าถนนสายหลักบางช่วงยังเป็นลูกรัง แม้จะราดยางแต่ก็เป็นหลุมเป็นบ่อตลอดสาย สองข้างทางเป็นป่า บางช่วงที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นบ้างก็เพราะเป็นที่ตั้งบ้านหรือสวนยางพาราของชาวบ้าน
บริเวณสหกรณ์การเกษตรนิคมปิเหล็ง พบบ้านหลายหลังปลูกติดๆ กัน แต่ทุกหลังถูกทิ้งร้าง เต็มไปด้วยเถาวัลย์และหญ้าขึ้นปกคลุม สอบถามชาวบ้านดูว่าเป็นบ้านของคนที่ย้ายหนีความรุนแรงหรือไม่ แต่ก็ไม่ใช่ เพราะชาวบ้านบอกว่าเป็นบ้านของคนที่เคยได้รับที่ดินของนิคมสร้างตนเอง เป็นคนนอกพื้นที่ ต่อมาได้พาครอบครัวกลับบ้านเกิด จึงต้องทิ้งบ้านไว้อย่างรกร้าง
ส่วนบริเวณหน้าค่ายปิเหล็ง เป็นจุดที่เป็นระเบียบเรียบร้อยที่สุด มีบ้านเรือนชาวบ้านหลายหลัง บางบ้านเปิดขายกาแฟ บางบ้านเปิดเป็นร้านตัดผม แต่เมื่อเลี้ยวรถไปด้านข้างของค่าย ก็พบเป็นป่ารกสองข้างทางยาวไปถึงด้านหลังค่าย แม้กระทั่งหอสังเกตการณ์ก็ยังมีหญ้าขึ้นเต็มไปหมด
สอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ ค่ายก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมทางค่ายถึงปล่อยให้หญ้าขึ้นรก หรือจะเป็นความตั้งใจ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ทำให้ทุกคนรู้สึกกลัวเมื่อต้องใช้เส้นทางผ่านย่านนี้
"เคยถามทหารข้างในค่าย เขาบอกว่าเป็นหน้าที่ของ อบต." ชาวบ้านคนหนึ่งบอก
ขณะที่ชาวบ้านอีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 30 ปี เล่าว่า ที่เห็นเป็นป่าแบบนั้นถือว่าพัฒนาขึ้นกว่าก่อนจะมีเหตุการณ์ปล้นปืนแล้ว
"ที่เห็นอยู่นี้ถือว่าดีที่สุดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อย่างน้อยก็มีการสร้างกำแพงขึ้น จากเมื่อก่อนเป็นแค่รั้วลวดหนาม และมีป่ารกเต็มไปหมด ก็ไม่รู้ว่าเป็นยุทธ์ศาสตร์ของทหารหรือเปล่า หรือเขาไม่มีงบพัฒนา เพราะถ้าพื้นที่รอบๆ ค่ายไม่มีป่ารกๆ เวลาผ่านไปก็จะรู้สึกอุ่นใจ ไม่น่ากลัว เพราะถนนสายข้างค่ายเป็นถนนสายหลักของชาวบ้าน"
ชาวบ้านรายนี้ยังกล่าวทิ้งท้ายแบบยิ้มๆ ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนขึ้นอีกรอบจะไม่รู้สึกแปลกใจเลย เพราะคนร้ายสามารถหลบอยู่ในป่าได้ และน่าจะแอบเข้าไปในค่ายได้เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ป้ายบอกทางเข้าพื้นที่ปิเหล็ง
2 อำนวย หน่อโท๊ะ
3 อิบรอเฮม มามุ
4-5 บ้านปิเหล็งใต้และสภาพถนนหนทาง
6-7 หน้าค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 และหอสังเกตการณ์ในป่ารกชัฏ