"ปฏิรูปประเทศไทย" สำคัญอันดับ 1 ต้องปฏิรูปการศึกษาก่อน
นักวิชาการแถวหน้าเห็นด้วย “ปฏิรูปประเทศไทย” สำคัญอันดับ 1 ต้องปฏิรูปการศึกษาก่อน :หัวใจสำคัญ “ปฏิรูปการสอนของครู เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก”
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 24 ในหัวข้อ “ยกระดับคุณภาพครู...เพิ่มการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน” ณ ห้องแกรนด์ฮออล์ 2 โรงแรมรามาการ์เด้นท์ โดยนำกรณีศึกษาจาก 3 จังหวัด คือ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดกำแพงเพชร ที่ สสค.ให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัด ที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนที่มีจังหวัดหรือท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ โดยคำนึงถึงการวางระบบหรือริเริ่มมาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำการจัดการศึกษาพิเศษหรือการทดลองดูแลรายกรณีในสถานศึกษาหรือชุมชน โดยดึงครูเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ เนื่องจากครูเป็นคานงัดที่สำคัญของการยกระดับการศึกษา
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานการเสวนา กล่าวตอนหนึ่ง ว่า เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่องค์กร สถาบัน หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์ตรงกัน คือต้องการปฏิรูปประเทศไทย แต่การปฏิรูปประเทศไทยเรื่องใหญ่ที่ต้องทำก่อนนั่นคือการปฏิรูปการศึกษา โดยการปฏิรูปการสอนไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้เกิดทุกพื้นที่ในชีวิต มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้ แต่ว่าที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ศักยภาพในการเรียนรู้ เพราะไปมุ่งที่การสอนหรือการบอกความรู้ไม่ใช่การสอนให้ผู้เรียนรู้จักการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น หากมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดีจะถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษย์ โดยเปลี่ยนฐานการเรียนรู้จากการใช้วิชาเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนเป็น เอาชีวิตจริงเป็นตัวตั้งตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ทำให้เห็นว่าการศึกษาสามารถแก้ไขได้ทุกอย่างแม้กระทั้งความยากจน ด้วยการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ มีอาชีพ มีศิลปะ มีกีฬา ปฏิบัติจริงเป็นฐาน
อย่างไรก็ตามการจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ในเวลาที่รวดเร็วนั้น นพ.ประเวศ กล่าวว่า ต้องใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งทุกจังหวัดมีสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้อยู่แล้ว จึงควรไปจัดทำแผนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลของพื้นที่ ใครทำอะไรดีที่ไหนก็เข้าไปช่วยส่งเสริมต่อยอดให้เข้มแข็ง ให้เป็นจังหวัดแห่งการปฏิรูปการเรียนรู้ก็เชื่อว่าคุณภาพการศึกษาของเราจะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยทั่วโลกยอมรับตรงกันว่า ถ้าจะยกระดับคุณภาพการศึกษา ต้องพัฒนาครูเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่หลักสูตร ต้องระวังว่าหลักสูตรคือสิ่งที่อยู่ในกระดาษ อาจจะไปไม่ถึงห้องเรียน และครูที่ดีในยุคนี้คงไม่เหมือนครูที่ดีในสมัยก่อนแล้ว เพราะคนละยุคกัน อีกทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆในโลกเปลี่ยนไป โดยครูที่ดีในยุคนี้ต้องเป็นครูที่ไม่ทำหน้าที่สอนแบบถ่ายทอดความรู้แต่ต้องทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองเหมือนเป็นโค้ชที่คอยให้คำแนะนำแก่นักกีฬา เน้นตั้งคำถาม ตอบคำถาม ชวนคิดไตร่ตรองสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง โดยครูจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กและต้องกล้าที่จะตอบเด็กว่าไม่รู้
"ครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องแต่ต้องรู้จักแนะนำแหล่งค้นหาความรู้ให้แก่ผู้เรียน และที่สำคัญการเรียนในยุคนี้ก็ไม่ใช่แค่ได้ความรู้แต่ต้องสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้ด้วย ทั้งการทำมาหากินและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่"ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว และว่า ที่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้นเพราะผู้ใหญ่ในวงการศึกษาส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า การศึกษาที่ดีต้องเป็นรูปแบบที่ตัวเองเคยได้เรียนมาในอดีต จึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน ทั้งที่โลกปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปไกลมากแล้ว
ขณะที่ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี กล่าวว่า การที่จะปฏิรูปการศึกษา ต้องปฏิรูปการเรียนรู้ แต่ขอเสนอเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จะต้องปฏิรูปคือการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง เนื่องจากทุกวันนี้ ไม่รู้ว่าตนเองคือใคร เกิดมาเพื่ออะไร อยู่บนโลกใบนี้ทำไม ดังนั้นการเรียนรู้แบบนี้ครูต้องเป็นต้นแบบ เพราะครูมีความสำคัญเป็นแม่พิมพ์ของชาติ โดยครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก
"โรงเรียนสัตยาไสตนได้ให้เด็กฝึกสมาธิเพื่อให้เด็กเก่งและฉลาดด้วยตัวเอง โรงเรียนไม่เคยเน้นวิชาการ ใช้การฝึกสมาธิเด็กไม่ต้องพยายามเป็นคนเก่งแค่เข้าใจวิธีการ ขั้นตอนของการเรียนรู้ รู้จักพิจารณาตัวเอง เข้าใจตัวเอง เด็กก็จะเก่งได้เอง"
ส่วนศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส.กล่าวว่า ว่า การปฏิรูปการเรียนรู้จะทำไม่ได้ ถ้าไม่ทำให้ตรงกับความหมาย จึงต้องคิดกลับทางออกจากกรอบคิด ติด ยึดที่ทำไว้เดิม และต้องเข้าใจว่า การพัฒนาครูไม่ใช่การไปแก้ปัญหาครู หนี้ครู ความสุข ทุกข์ของครู ซึ่งไม่ใช้ต้องให้เด็กและครูเรียนรู้ไปพร้อมกัน ซึ่งการแก้ปัญหาของเด็กทำให้ครูมีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา เราไม่ได้ปฏิรูปการสอน แต่เราปฏิรูปการเรียนรู้ และหลงว่าการปฏิรูปหลักสูตรคือการแก้เนื้อหาของหลักสูตรโดยส่วนกลางซึ่งไม่ใช้
"ขอยืนยันการแก้หลักสูตรเป็นแนวดิ่งทำให้การปฏิรูปหลักสูตรช้า ยากและสื่อสารลำบาก ฉะนั้น จำเป็นจะต้องจับสาระการเรียนรู้ที่เด็กอยากรู้ แต่ไม่ได้เรียน ที่ผ่านมาเรามักจะปฏิรูปมาตรฐานคุณภาพการศึกษาโดยดูที่คะแนนสอบ แต่ไม่เคยดูที่ชีวิตของเด็ก ทำให้ไม่ได้เห็นคุณภาพชีวิตอีกหลายด้าน ซึ่งส่วนกลางจะดูไม่ตลอด จำเป็นต้องให้จังหวัดดูคุณภาพชีวิตเด็กของพื้นที่ตนเองเป็นอย่างไร เนื่องเพราะความรู้ที่แท้จริงอยู่ที่สติ ปัญญา ความคิดและความสามารถ"
สุดท้าย ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน กล่าวด้วยว่า ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการปฏิรูปการศึกษาคือความสำเร็จของการแก้ปัญหาการศึกษาที่ต้องกระจายอำนาจการศึกษาลงไปที่จังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งไม่ใช่กระจายพลังอำนาจ แต่เป็นการกระจายอิสระในการบริหารจัดการ ( (Autonomy) ฉะนั้นอยากเสนอให้ 10 จังหวัด คือ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยภูมิ น่าน เพชรบุรี ภูเก็ต ยะลา ลำพูน สุรินทร์ และอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยท้องถิ่นและจังหวัดเป็นเจ้าภาพ สร้างกระบวนการสืบสมบัติทางปัญญาในแต่ละจังหวัดรุ่นต่อๆ ไป มิฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาแบบ Autonomy จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีใครสืบทอด